posttoday

เดินเรือน้ำโขง-เส้นเขตแดน ข้อกังวลด้านความมั่นคง

22 กรกฎาคม 2560

ในฐานะแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน 6 ประเทศแม่น้ำโขงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ลงมาสู่ท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย มูลค่าการค้าทั้งส่งออกและนำเข้าร่วมปีละ 1 หมื่นล้านบาท

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

ในฐานะแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีนตอนใต้ลงมาสู่ท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ของไทย มูลค่าการค้าทั้งส่งออกและนำเข้าร่วมปีละ 1 หมื่นล้านบาท

หลังเหตุสะเทือนขวัญปล้นฆ่าเรือสินค้าจีนบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเมื่อปี 2554 จีนก็ร่วมมือกับเมียนมา ไทย และลาว จัดเรือลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยแม่น้ำโขง ล่าสุดปลายปี 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รัฐบาลจีนเสนอแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง เพื่อให้การขนส่งจาก อ.เชียงแสน ไปต่อได้จนถึงเมืองหลวงพระบางในประเทศลาว โดยเบื้องต้นจีนส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจร่องน้ำลึกและเกาะแก่งหินต่างๆ ขณะที่ภาคประชาสังคมในพื้นที่ริมน้ำโขง จ.เชียงราย ต่างคัดค้านเนื่องจากหากมีการระเบิดเกาะแก่งภายหลังการสำรวจก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงอย่างยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม

ระหว่างโอกาสของการพัฒนาเส้นทางการค้าและระบบนิเวศที่จะกระทบต่อชีวิตผู้คนริมฝั่งโขง รวมถึงผลกระทบด้านความมั่นคงในฐานที่แม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ที่การตัดสินใจในเชิงนโยบายจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดินสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมาธิการ และ พล.อ.อู้ด เบื้องบน ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ได้เดินทางลงพื้นที่ชายแดน จ.เชียงราย เพื่อรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย

ตัวแทนหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขต (นรข.) เชียงราย ได้ให้ข้อมูลเรื่องเขตแดนอย่างน่าสนใจว่า โครงการระเบิดเกาะแก่งออกจะทำให้ร่องน้ำลึกและทิศทางน้ำเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปักปันเขตแดน และฝ่ายลาวพยายามที่จะถมดินเพื่อเชื่อมต่อกับดอนต่างๆ กลางแม่น้ำโขง จะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศ

“ปัญหาด้านความมั่นคง ปัจจุบันนี้เรือลาดตระเวนจีนมาหยุดอยู่ที่สามเหลี่ยมทองคำ จะไม่เข้ามาเขตแดนไทย-ลาว ส่วนเรือสินค้าจีนมาหยุดที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน หากมีการปรับปรุงร่องน้ำ เรือของจีนจะไปถึงหลวงพระบางในลาว อาจจะเป็นข้ออ้างให้เรือลาดตระเวนจีนเข้ามาในพื้นที่ไปถึงหลวงพระบาง ซึ่งหลายหน่วยงานได้สนใจติดตามเรื่องราวดังกล่าว เช่น คณะกรรมาธิการเขตแดนไทย-ลาว กองทัพเรือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ” ตัวแทน นรข.เชียงราย กล่าว

ด้าน ธนิสร กระดุฎพร ประธานหอการค้าอำเภอเชียงของ กล่าวว่า หลังการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ทำให้เมืองชั้นในได้รับผลกระทบอย่างหนัก นักท่องเที่ยวหายไป 80% อีกทั้งการจัดเก็บภาษีของลาวมีการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่ได้แจ้งผู้ประกอบการล่วงหน้า หากฝ่ายลาวไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน อนาคตเมืองเชียงของอาจจะซบเซา เพราะการค้าขายกับลาวมีหลายช่องทาง เช่น จ.หนองคาย นครพนม ผู้ประกอบการอาจจะเปลี่ยนเส้นทางการค้าเหมือนเมืองชายแดนต่างแข่งขันกันเอง    

“เราค้าขายทางเรือและทางบกกับฝั่งลาวมากว่า 50-60 ปี ถ้าเรือจีนวิ่งผ่านไปได้ คงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การพัฒนาถนน R3A ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ ถ้าพัฒนาอย่างเต็มที่แล้วสามารถรองรับการค้าขายได้มากในอนาคต และระบบรางจะมาอีก ถ้าเราสร้างระบบรางถึงเชียงของ จีนคงทำระบบรางมาถึงห้วยทรายแน่นอน เพราะขณะนี้จีนสร้างทางด่วนถึงเมืองบ่อหานชายแดนจีน-ลาวแล้ว” ธนิสร กล่าว

ขณะที่มุมมองของภาคประชาสังคม นิวัตน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ ตั้งคำถามถึงสิ่งที่คนท้องถิ่นและประเทศไทยจะได้รับจากการที่จีนเดินเรือสินค้าขนาด 500 ตัน เพราะปัจจุบันการค้าผ่านแดนทั้งท่าเรือเชียงแสนและสะพานมิตรภาพเชียงของ ก็ได้ประโยชน์ปีละกว่าหมื่นล้านบาทอยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นประโยชน์จากโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง แต่หากมีการระเบิดแก่ง และให้จีนเดินเรือผ่านได้ อาจจะเกิดปัญหาความมั่นคงและเขตแดนตามมาได้

ด้าน พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับถือว่าเป็นประโยชน์ในการนำไปพิจารณา และมีความเป็นห่วงเนื่องจากเมืองเชียงของเหมือนพื้นที่เมืองเล็กที่ล้อมรอบด้วยกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญและต้องมีการร่วมกันทำงานและพัฒนาต่อไป