posttoday

เตือนพื้นที่เสี่ยงลุ่มน้ำยม-น่านมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

18 กรกฎาคม 2560

กรมชลประทานแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย ลุ่มน้ำยม- น่าน มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีผลกระทบพื้นที่เศรษฐกิจ

กรมชลประทานแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัย ลุ่มน้ำยม- น่าน มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีผลกระทบพื้นที่เศรษฐกิจ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าได้สั่งการโครงการชลประทานทั่วประเทศ ในพื้นที่เสียงภัยน้ำท่วม ให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำต่างๆ ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์  โดยล่าสุดผลกระทบพายุโซนร้อน ตาลัส เกิดฝนตกหนักพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยม สูงขึ้น ที่ อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 880 ลูกบาศก์เมตร(ลบม.)ต่อวินาที   ทั้งนี้ยังไม่ล้นตลิ่ง จากที่รับได้ปริมาณสูงสุด 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ปริมาณน้ำดังกล่าวจะถึงตัวจังหวัดแพร่  ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ 19 ก.ค. และจะระบายผ่านประตูระบาย(ปตร.)น้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ในช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค.

รองอธิบดีกรมชลฯกล่าวว่า จะบริหาร  ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเมืองสุโขทัย โดยก่อนหน้า กรมได้เตรียมพร้อมโดยการลดระดับน้ำที่ปตร.สะพานจันทร์ไว้ล่วงหน้า รองรับน้ำที่จะมาถึงแล้วจะผันน้ำส่วนหนึ่งออกไปทางคลองยม-น่าน 100 ลบ.ม.ต่อวินาที อีกส่วนจะหน่วงไว้บริเวณเหนือประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ ในอัตรา 200 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นจะผันน้ำเข้าคลองสาขา  อีกประมาณ 100 ลบม.ต่อวินาที ทำให้เหลือน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่ตัวเมืองสุโขทัยประมาณ 450 - 500 ลบม.ต่อวินาที ซึ่งจะไม่ล้นตลิ่งส่วนที่จ.น่าน ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน ที่สถานี N.1 เขตเทศบาลเมืองน่าน มีน้ำไหลผ่าน 966 ลบ.ม.ต่อวินาที จากรับได้สูงสุด 1,265 ลบ.ม.ต่อวินาที  แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ส่งผลดีต่อเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีปริมาณน้ำเก็กกักเพิ่มมากขึ้น 

สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีC.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,287 ลบ.ม.ต่อวินาที จากปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 1,291 ลบม.ต่อวินาที เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 60 แนวโน้มลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง มีปริมาณลดลง ทำให้ปริมาณน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มทรง ซึ่งได้ทำการควบคุมปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พายุโซนร้อน “ตาลัส” กรมฝนหลวงฯ ได้สนับสนุนข้อมูลเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนในการเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและเตือนภัย เพื่อเป็นข้อมูลในการรับมือและวางแผนการจัดการน้ำ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ซึ่งข้อมูลจากเรดาร์จะตรวจวัดกลุ่มฝน และแสดงบริเวณพื้นที่มีฝนตก รวมทั้งทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนนั้นๆ ซึ่งจะช่วยในการเตือนภัยและเตรียมการป้องกันน้ำท่วม  ซึ่งประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถติดตามเพิ่มเติมได้  เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตรซึ่งจะมีการรายงานตลอดเวลา

ทั้งนี้ปัจจุบันมีสถานีเรดาร์ฝนหลวงตั้งอยู่ 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่  สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสนับสนุนข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงฯ ยังติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับพื้นที่การเกษตรที่ยังคงมีความต้องการน้ำฝน และเน้นเติมน้ำให้กับเขื่อนรวม 11 เขื่อน    ที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนลำตะคอง เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนสิริกิติ์