posttoday

ความลับของดวงดาวกับการโล้ชิงช้า

09 กรกฎาคม 2560

พิธีโล้ชิงช้าเป็นงานหลวงงานหนึ่งที่เต็มไปด้วยปริศนาลี้ลับที่สุด น่าตื่นเต้นที่สุด และน่าเสียดายที่สุด เพราะเลิกโล้กันไปแล้ว

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

พิธีโล้ชิงช้าเป็นงานหลวงงานหนึ่งที่เต็มไปด้วยปริศนาลี้ลับที่สุด น่าตื่นเต้นที่สุด และน่าเสียดายที่สุด เพราะเลิกโล้กันไปแล้ว

สืบเนื่องจากมิตรสหายนักแปลและนักมานุษยวิทยาท่านหนึ่ง เสนอบทความแปลเกี่ยวกับแนวคิดงานพระราชพิธีของไทย ว่าด้วยเรื่องโล้ชิงช้า เผอิญผมก็สงสัยอยู่พอดีว่าที่อินเดียเขาโล้กันหรือเปล่า ปรากฏว่าได้รู้มากกว่าที่อยากรู้

เรื่องแรก คือ พิธีนี้ไม่น่าจะเป็นการโล้เล่นกันสนุก หรือเพื่อบำเรอพระอิศวรคราวเสด็จมาโลกมนุษย์ในช่วงพิธีตรียัมปวาย แต่น่าจะมีนัยด้านดาราศาสตร์ ผู้ที่เสนอแนวคิดนี้คืออาจารย์ Willard G. Van De Bogart ท่านบอกว่า พิธีโล้ชิงช้าในไทยมีเค้ามาจากพิธีมหาพรตในคัมภีร์พระเวท เป็นพิธีบรมสมกัลป์ แต่คนอินเดียและคนไทยลืมความหมายของพิธีนี้ไปแล้ว

แต่จากการสืบค้นพบเค้าว่าพิธีโล้ชิงช้าที่กลิงคราษฎร์สะท้อนการโคจรระหว่างดาวรุทระ (alpha Orioni) กับดาวเคารี (beta - Orionis) ผ่านทางช้างเผือก (อากาศคงคา) ซึ่งคล้ายกับการเหวี่ยงไปมาของชิงช้า โดยมีดาวอนิรุธ (อนิรุธเป็นอีกชื่อของพระอิศวร) เป็นแกนกลาง ตรงกับตำนานที่ว่า พระอิศวรยืนพระบาทเดียวที่ตรงกลาง แล้วให้นาคมารั้งภูเขายื้อกันไปมา เพื่อทดลองว่าโลกจะมั่นคงดีหรือไม่ ถ้าพระอิศวรโคลงเคลงจนเหยียดพระบาทอีกข้างลงมาแสดงว่าไม่มั่น

ไมเคิล ไรท์ เคยตั้งข้อสังเกตว่า การโล้ชิงช้าอาจหมายถึงศิวนาฏราช หรือการร่ายรำของพระอิศวร อันสะท้อนการสร้างสรรค์ของจักรวาล แต่ Van De Bogart ไปไกลกว่านั้น โดยบอกว่า ท่วงท่าร่ายรำการวางมือของพระอิศวรตรงกับตำแหน่งของดวงดาว พูดง่ายๆ มันคือแผนที่ดวงดาวนั่นเอง

อะไรที่โคจรระหว่างดวงดาว?

อาจารย์ Van De Bogart คิดว่าน่าจะเป็นดาวหาง และที่ชาวนาลิวัน (หรือพราหมณ์โหตฤ) ขึ้นถีบกระดานแล้วโยกหน้าโยกหลังเหมือนนาค เพื่อสะท้อนการพุ่งของดาวหางนั่นเอง เพราะคนโบราณมักแทนสัญลักษณ์ดาวหางด้วยงูใหญ่ ไม่ก็พญานกมีขนฟูฟ่อง แล้วแต่ลักษณะของดาวนั้นๆ

โล้ชิงช้าในไทยมีการอ้างถึงพระอิศวรเหยียบโลกไว้พระบาทเดียว พฤติการณ์นี้เรียกว่า “ตรกะ” ปรากฏในคัมภีร์ติรุวาจคัม (ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของพราหมณ์อินเดียใต้ และพราหมณ์ในไทยยังใช้กันอยู่) ตรกะ แปลว่า ดาวตก สะท้อนการหยั่งพระบาทเหยียบโลกของพระอิศวร และการยืนขาเดียวของพระยาโล้ชิงช้าในสยาม และในอินเดีย

ดังนั้น การโล้ชิงช้าอาจจะเกี่ยวกับการอ้อนวอนพระเป็นเจ้าให้ยับยั้งเภทภัยจากดาวหางพุ่งชนโลกในแถบอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งเคยเกิดขึ้นประมาณ 3,100 ปีก่อนคริสตกาล หรือในช่วงที่ศาสนาพระเวทกำลังก่อตัวในชมพูทวีป จึงมีการประดิษฐ์พิธีโล้ชิงช้าขึ้น เพื่อบันทึกลักษณะดวงดาวที่เกิดเหตุการณ์นั้น และเตือนว่าโลกอาจผ่านเหตุการณ์ที่ว่านี้อีก เมื่อระบบสุริยะปะทะกับแถบดาวเคราะห์น้อย Taurid

นอกจากการโคจรของหมู่ดาว การโล้ชิงช้ายังอาจหมายถึงการอ้อนวอนพระสุริยะ เพราะพิธีตรียัมปวายมีขึ้นในช่วงเหมายันต์ (กลางวันสั้นที่สุดช่วงฤดูหนาว) สังเกตได้ว่าชาวนาลิวันจะเหวี่ยงชิงช้าไปทางทิศตะวันออก-ตะวันตก เลียนแบบการ “สวิง” ของดวงอาทิตย์ ดังเช่นที่พราหมณ์โหตฤในอินเดียจะเอ่ยคำว่า “เจ้าคือสุริยะ” ตอนที่ขึ้นถีบกระดาน

“ท่านกาญจี ปรมาจารย์” คุรุผู้ยิ่งใหญ่ของอินเดียยุคปัจจุบัน กล่าวว่า เดือนมารกฬิ (ธ.ค.-ม.ค.) ที่จัดงานตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นเดือนที่ระยะเวลา 1 วันบนสวรรค์กับ 1 วันของมนุษย์โลกมาบรรจบกันที่เวลาราตรีคาบย่ำรุ่งพอดี

ความหมายนี้ผมเดาว่าสะท้อนฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูดับกำลังจะจบสิ้นลง เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่แจ่มจรัสเหมือนฟ้าได้ตะวันใหม่

ดังในหนังสือพระราชพิธี 12 เดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยเอาไว้ว่า

“การพระราชพิธีตรียัมพวาย ซึ่งเปลี่ยนมาแต่เดือนอ้าย การพิธีนี้ซึ่งกำหนดทำในเดือนอ้าย คงจะเป็นเหตุด้วยนับเปลี่ยนปีเอาต้นฤดูหนาวเป็นปีใหม่ของพราหมณ์ตามเช่นแต่ก่อนเราเคยใช้มา แต่การที่เลื่อนเป็นเดือนห้านั้นจะไว้ชี้แจงต่อเมื่อว่าถึงสงกรานต์ การที่เลื่อนมาเป็นเดือนยี่นี้ก็ได้กล่าวแล้วในคำนำ บัดนี้จะขอกล่าวตัดความแต่เพียงตรียัมพวาย ตรีปวาย นี้เป็นพิธีปีใหม่ของพราหมณ์ ตรงกันกับพิธีมะหะหร่ำของพวกแขกเจ้าเซ็น นับเป็นทำบุญตรุษเปลี่ยนปีใหม่ จึงเป็นพิธีใหญ่ของพราหมณ์”

ไม่ว่าจะเกี่ยวกับดาวหางหรือดวงอาทิตย์ การโล้ชิงช้าน่าจะมีนัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับพิธีกรรมโบราณหลายๆ อย่างที่ถูกมองว่าคร่ำครึ และถูกยกเลิกไป ก็น่าจะมีนัยลึกซึ้ง แต่แก่นความนัยนั้นถูกลืมเลือนไปแล้ว จนเหลือแต่กระพี้

น่าคิดว่าพระราชพิธีโบราณน่าจะมีอะไรมากกว่าภาพสะท้อนของเทพปกรณัม เพราะปกรณัมเองก็น่าจะแต่งขึ้นมาเพื่อเก็บความนัยให้จดจำได้ง่าย โดยความนัยที่แท้จริงของพิธีการน่าจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ ที่พวกเขายกให้เป็นพระเจ้า

อนึ่ง เรื่องโล้ชิงช้ากับพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เป็นของดีที่คนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแค่ไทยเท่านั้น กาญจี ปรมาจารย์ ก็ยังสรรเสริญชาวสยามที่รักษาตรียัมพวาย ตรีปวาย เอาไว้

แต่ผมไม่เห็นด้วยที่ชาวอินเดียบางคนกล่าวว่า พิธีโล้ชิงช้าไทยรับมาจากเขมรโบราณ เพราะในพระราชพิธี 12 เดือนของกัมพูชาไม่มีโล้ชิงช้า และในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของฟานฟลีต เล่าว่า พราหมณ์เมืองรามราช (อินเดียใต้) นำพิธีนี้มาถวายพระเจ้ารามาธิบดีที่อยุธยา ดังไทยนี้มีเสาชิงช้าถึง 3 แห่ง คือ ที่ในพระนคร 1 ที่เมืองเพชร 1 และที่เมืองนคร 1 แต่ไม่มีสักแห่งในกัมพูชา