posttoday

จัดระเบียบ "มนุษย์ป้าย" สกัดกลวิธีอสังหาฯเลี่ยงภาษี

26 มิถุนายน 2560

กลยุทธ์มนุษย์ป้ายมายืนถืออยู่บนทางเท้านั้น คือปัญหาที่ก่อให้เกิดสิ่งรบกวนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

คนถือป้ายโฆษณาขายคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ หรือโครงการบ้านหรูใจกลางเมือง กำลังเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งนิยมนำมาใช้มากขึ้น เพราะการจ้างมนุษย์ให้มาถือป้ายด้วยค่าแรงขั้นต่ำ มีราคาถูกกว่าการเสียภาษีป้ายโฆษณาให้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งยังสามารถโยกย้ายเปลี่ยนสถานที่ได้ตามต้องการ ทว่า “มนุษย์ป้าย” สร้างความเดือดร้อนบดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก

วันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกทม. เปิดเผยว่า มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาป้ายโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือป้ายโฆษณาผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีรับจ้างถือป้ายโฆษณาตามทางเท้า หรืออีกชื่อคือ “ป้ายดุ๊กดิ๊ก” มีการลักลอบโฆษณาตามทางเท้า เสาไฟฟ้า เพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการจ้างแรงงานต่างด้าวมารับจ้างถือป้ายโฆษณาตามฟุตบาธ จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจ ประสานทุกสำนักงานเขต กวดขันขันพร้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น หากพบเห็นผู้รับจ้างถือ หรือกำลังติดป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตสามารถดำเนินการจับปรับตามได้ทันที  โทษปรับสูงสุด 2,000บาท 

ขณะเดียวกัน กทม. ได้ทำหนังสือถึงสมาคมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร เพื่อขอความร่วมมือสมาชิกไม่ให้ทำผิดกฎหมายและร่วมมือกันจัดระเบียบบ้านเมือง ซึ่งกทม.มีมาตรการลงโทษจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ ตักเตือน และปรับสูงสุด

วันชัย กล่าวอีกว่า ป้ายโฆษณาที่จะขออนุญาตติดตั้งต้องไม่อยู่ในบริเวณห้ามติดตั้งป้ายโฆษณา อาทิ บริเวณคร่อมถนนหรือทางสาธารณะ วงเวียน อนุสาวรีย์ สะพาน สะพานลอยคนเดินข้าม สะพานลอยรถข้าม รวมถึงส่วนประกอบของสะพานลอย รั้ว แผงเหล็กริมถนน  ป้ายจราจร สัญญาณไฟจราจร ต้นไม่ ฯลฯ

ทั้งนี้ข้อกำหนดป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ ป้ายที่ได้รับอนุญาต (ป้ายประชาสัมพันธ์ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักเทศกิจ หรือป้ายที่ได้รับสัมปทานและอนุญาตจากสำนักการจราจรและขนส่ง) ส่วนป้ายที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากพบป้ายที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535

จัดระเบียบ "มนุษย์ป้าย" สกัดกลวิธีอสังหาฯเลี่ยงภาษี

สำหรับป้ายที่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งในที่สาธารณะ ตามประกาศกทม. เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายในที่สาธารณะ ลงวันที่ 29 เม.ย. 2548 กำหนดให้ห้ามติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะ ยกเว้น กทม. จัดให้ป้ายบอกทางและป้ายบอกสถานที่ ป้ายงานพระราชพิธี ป้ายสำหรับงานจัดสร้าง/ซ่อม ถนน งานสาธารณูปโภคฯลฯ

กระนั้นการติดตั้งป้ายต้องเป็นไปตามที่กทม. กำหนดและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯกทม. เช่น ป้ายบอกทางและสถานที่สำหรับสถานที่ราชการหน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล สถานศึกษา วัด หรือศาสนสถานเท่านั้น และต้องมีขนาดและรูปภาพตามที่กำหนด

“ป้ายส่วนใหญ่เป็นโฆษณา ที่อยู่อาศัย บ้านจัดสรร ปัญหาที่พบมากคือ ผู้รับจ้างติดตั้งป้ายจะนำมาติดในเย็นวันศุกร์และเก็บออกในเย็นวันอาทิตย์ บางส่วนเจ้าหน้าที่เก็บวันนี้ วันรุ่งขึ้นก็ติดใหม่ และมีบางส่วนติดถาวร แต่ขณะนี้เริ่มใช้คนมาถือป้ายเพื่อเลี่ยงกฏหมายมากขึ้น” วันชัย กล่าว

ด้าน แอดมินเพจคนไทยไม่เอาหาบเร่แผงลอย ทวงคืนทางเท้า กล่าวว่า กลยุทธ์มนุษย์ป้ายมายืนถืออยู่บนทางเท้านั้น คือปัญหาที่ก่อให้เกิดสิ่งรบกวนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คน แม้วิธีนี้เหล่าธุรกิจอสังหาฯจะอ้างว่าไม่ได้ปักเสาลงบนพื้น แต่เมื่อป้ายของคุณอยู่บริเวณนั้น และมีขนาดใหญ่ ทำให้บดบังทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งยังเป็นวิธีเลี่ยงกฏหมาย เลี่ยงการเสียภาษีป้ายให้ถูกต้อง แสดงถึงช่องโหว่ของกฏหมายที่หน่วยงานรัฐควรเร่งแก้ไข

แอดมินขยายความอีกว่า ปัญหาใหญ่อยู่ที่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญ เพราะทุกวันนี้ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิบนทางเท้ายังไม่สามารถแก้ได้ เช่น บริเวณด้านหน้าห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว กลายเป็นแหล่งรวมทุกปัญหา ทั้ง ป้ายโฆษณา ร้านค้ากีดขวางทางเท้า รวมไปถึงปัญหาทิ้งขยะเศษอาหารไม่ถูกที่ จนทำให้มีหนูตัวใหญ่กว่าแมววิ่งมากัดเท้าของผู้มายืนรอรถโดยสาร สิ่งเหล่านี้บางคนมองเป็นเรื่องตลก แต่แท้จริงแล้วมันคือความไร้ระเบียบไม่อาจมองข้ามได้ ส่วนถนนสีลมทุกวันนี้ก็เริ่มกลับมาไร้ระเบียบเหมือนเดิม ดังนั้นการแก้ปัญหาหัวใจหลักจึงขึ้นอยู่กับบทบาทของเจ้าหน้าที่ หากละเลยหรือรู้เห็นเป็นใจ แม้จะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ไม่สามารถแก้ได้