posttoday

ผลจากพื้นที่ก่อสร้างเมืองกรุง ระวังภัยฝุ่นขนาดเล็กคร่าชีวิต

18 มิถุนายน 2560

เมืองใหญ่ประเทศไทยมีปริมาณมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในปริมาณที่สูง

โดย..เอกชัย จั่นทอง

ปัญหาฝุ่นละอองใครหลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่หารู้ไม่ว่ากิจวัตรประจำวันของเราทุกคนต่างต้องสัมผัสฝุ่นละอองทางอากาศจำนวนมาก สอดคล้องกับข้อมูลของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พบว่าเมืองใหญ่ประเทศไทยมีปริมาณมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ซึ่งถือว่าเป็นฝุ่นละอองที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในปริมาณที่สูง

กรีนพีซได้จัดลำดับเมืองที่มีปัญหามลพิษขนาดเล็ก โดยพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานตลอด
ทั้งปี 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษพีเอ็ม 2.5 ไมครอน ในพื้นที่จังหวัด 5 อันดับแรก คือ 1.เชียงใหม่ เขตพื้นที่ อ.เมือง 2.ขอนแก่น เขตพื้นที่ อ.เมือง 3.ลำปาง เขตพื้นที่ อ.แม่เมาะ 4.กรุงเทพฯ เขตพื้นที่ดินแดง และ 5.สมุทรสาคร เขต อ.เมือง

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า สิ่งที่กรมควบคุมมลพิษควรทำเป็นเรื่องเร่งด่วนขณะนี้คือ นำข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ไปคำนวณรวมกับการวัดคุณภาพอากาศเพื่อวัดค่ามลพิษที่ออกมา ซึ่งในประเทศไทยมีสถานีตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหลายแห่ง แต่ยังไม่ได้นำข้อมูลตรงนี้ไปรวมกับการวัดคุณภาพอากาศ  

“ประเทศไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้อาจเป็นเพราะมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 มีขนาดเล็กมากและทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย ในไทยเฉลี่ยพบมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 3 หมื่นราย/ปี ข้อมูลช่วงปี 2558 คนไทยเสียชีวิต 3.7 หมื่นราย ต้นเหตุจากมลพิษทางอากาศ ดังนั้นควรเป็นวาระแห่งชาติป้องกันการสูญเสียตรงนี้” จริยา ย้ำ

จริยา กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 สามารถเข้าไปได้ตามกระแสเลือด ที่สำคัญขนจมูกเราไม่สามารถดักกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ได้ แต่ถ้าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนสามารถดักกรองฝุ่นได้

“อย่างเม็ดเลือดแดงมีขนาด 5 ไมครอน แต่พีเอ็ม 2.5 มีขนาดเล็กครึ่งหนึ่งของเม็ดเลือดแดง ดังนั้นฝุ่นเหล่านี้จะกระจายไปทั่วร่างกายที่เม็ดเลือดแดงไป ทางองค์การอนามัยโลกจึงกำหนดให้พีเอ็ม 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง” จริยา ระบุ

สำหรับสาเหตุการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนมีหลายปัจจัย อาทิ การเผาไหม้หมอกควัน การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้โรงไฟฟ้าถ่านหิน  การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ระบบคมนาคมขนส่ง ฯลฯ ทั้งหมดคือปัจจัยทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ทำให้หลายประเทศยกเรื่องนี้เป็นวาระสำคัญ และปรับเปลี่ยนแผนพลังงาน แผนการจัดการผังเมือง ให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตประชาชน

เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การตรวจฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ในบางสถานีมีการดำเนินการตรวจวัดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่นำข้อมูลเข้าไปคำนวณค่าดัชนีคุณภาพทางอากาศ เนื่องจากเรายังไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ครบทุกสถานีตรวจวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีสถานีทั่วประเทศทั้งหมด 60 สถานี คาดว่าในระยะเวลาอีก 2-3 ปี จะติดตั้งให้ครบทั้งหมด โดยปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 20 สถานี

“เรื่องอันตรายนั้นอันตรายอยู่ เนื่องจากเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กคนก็สามารถสูดหายใจเข้าสู่ร่างกายได้ ทางกรมควบคุมมลพิษไม่ได้มีการปล่อยปละละเลย หากมีการร้องเรียนเราจะเข้าไปตรวจสอบทันที” เถลิงศักดิ์ กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียงฯ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ทางประเทศไทยได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันต่างๆ ผู้ประกอบผลิตรถยนต์แล้วในการผลิตและพัฒนาคุณภาพน้ำมันให้ไปสู่ระดับยูโร 5 หวังลดซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ หากพัฒนาสู่ระดับดังกล่าวแล้วจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทางโรงกลั่นขอใช้ระยะเวลา 3-5 ปี จะสามารถพัฒนาสู่คุณภาพน้ำมันระดับยูโร 5 ที่ช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงได้ ส่วนปัจจุบันคุณภาพน้ำมันอยู่ที่ระดับยูโร 4 และเข้มงวดตรวจดูคุณภาพน้ำมันเช่นกัน

เถลิงศักดิ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในเขตกรุงเทพฯ มีการก่อสร้างจำนวนมาก ทั้งโครงการรถไฟฟ้า สร้างคอนโดมิเนียม ฯลฯ ทำให้เกิดมลพิษทางฝุ่นละออง เชื่อว่าถ้าการก่อสร้างลดน้อยลงปัญหาทางฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพฯ จะลดลงอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับผู้ประกอบการก่อสร้างต่างๆ ต้องมีสแลนปิดบังฝุ่นละอองด้วย

พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน สามารถเข้าไปถึงบริเวณถุงลมภายในร่างกายจนทำให้เนื้อปอดเกิดความผิดปกติ นำไปสู่โรคมะเร็งตามมา

อย่างไรก็ตาม หน้ากากอนามัยสีเขียวที่ใช้กันปกติไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ได้ เพราะรูกรองหน้ากากอนามัยใหญ่ฝุ่นละอองยังสามารถหลุดรอดผ่านได้ ดังนั้นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ได้จริงซึ่งมีชั้นคาร์บอนสีดำกรองอีกระดับ