posttoday

สงขลาสู่เมืองมรดกโลก

17 มิถุนายน 2560

ภาคีคนรักเมืองสงขลาได้ประกาศตั้งเป้าหมายให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลกอย่างมุ่งมั่น เพราะ George Town (ปีนัง) และ Melaka

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

ภาคีคนรักเมืองสงขลาได้ประกาศตั้งเป้าหมายให้สงขลาเป็นเมืองมรดกโลกอย่างมุ่งมั่น เพราะ George Town (ปีนัง) และ Melaka ในมาเลเซียที่ข้ามชายแดนไปเพียงไม่กี่ชั่วโมง ยูเนสโกได้ประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกไป 11 ปี แล้ว

เมื่อสงขลาหันมาพิจารณาตัวเองก็เห็นว่าเขาเป็นเมืองที่มีอดีตในหลายห้วงเวลา สถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ที่ยังหายใจอยู่ ซึ่งไม่ได้ด้อยไปกว่าเมืองเหล่านั้นในมาเลเซีย จึงชวนกันลงเงินลงแรงทำงานเพื่อจะก้าวไปสู่จุดนั้น

สงขลาหรือเมืองบ่อยางเดิมเป็นเมืองพหุสังคมที่มีทั้งคนไทย มุสลิม และจีน มาอยู่ร่วมกัน คนจีนที่อพยพมาอยู่สงขลาช่วงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์เป็นพลวัตแรงงานที่สำคัญและทำให้เกิดตัวเมืองสงขลาชัดเจนขึ้น ต่อมาคนจีนก็ได้ทิ้งสถาปัตยกรรมจีน ในสงขลาตั้งแต่จวนข้าหลวงไปถึงห้องแถวไว้มากมาย

แต่เมื่อ ต.โคกเสม็ดชุน ได้กลายเป็นอ.หาดใหญ่และเป็นชุมทางของเส้นทางโลจิสติกส์ลงไปเชื่อมกับประเทศ Malaya หาดใหญ่ก็กลายเป็น Boom Town แล้วชิงความสำคัญจากตัว จ.สงขลาไป สงขลาค่อยๆ กลายเป็นเหมือนกับเมืองที่ถูกทิ้ง

ปัจจุบันด่านที่สะเดาที่เข้ามายังหาดใหญ่กลายเป็นด่านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละประมาณ 5 แสนล้านบาท และยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านด่านนี้เข้ามาในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน/ปี

ถึงวันสุดสัปดาห์หาดใหญ่จะแน่นไปด้วยคนมาเลเซียที่เข้ามาเที่ยว และโดยเฉพาะหน้าเทศกาลสงกรานต์ ทั้งด่านสะเดาและเมืองหาดใหญ่แน่นแทบแตกแต่ตัว จ.สงขลา กลับเงียบสงบ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป็น Boom Town เหมือนหาดใหญ่

โชคดีเหลือเกิน...ที่ความเงียบสงบสามารถเก็บสงขลาไว้เป็นเมืองเก่าไม่ให้ถูกรื้อแล้วกลายเป็นศูนย์การค้าเหมือนหาดใหญ่ สงขลาจึงยังมีอาคารและงานสถาปัตยกรรมอายุ 60-100 กว่าปีอยู่มากมาย  อาคารสูงที่สุดในตัวเทศบาลเมืองสงขลาในวันนี้มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่สูง 7 ชั้น ซึ่งเหมือนกับหอคอยกลางเมือง นอกนั้นเทศบาลได้ควบคุมความสูงของอาคารไว้หมด

ภาพจากโดรนทำให้เห็นบ้านเก่าย่านถนนนครนอก นครในและถนนนางงามหลายหลังมีหลังคาจีนที่มุงด้วยกระเบื้องแดงที่ทำจากเกาะยอนั้นงามนัก

เมืองสงขลามีความขลังในตัวเอง และตอนนี้คนสงขลากำลังค้นหาตัวเองหลังจากที่เพิกเฉยมานาน พระเจ้าแผ่นดินของเราเสียอีกที่ทรงรู้จักแม้กระทั่งถนนบางสายของสงขลา ...ในพระราชหัตถเลขาของ ร.5 ช่วงที่ทรงพำนักที่เมือง Sanremo (San Remo) เมืองชายแดนอิตาลีใกล้ฝรั่งเศสและโมนาโก ทรงเปรียบเทียบความหมายของคำว่า “Riviera” กับชื่อถนน “ปละท่า” เมืองสงขลา ฯลฯ

สงขลาไม่มีโรงแรมใหญ่ แต่เมื่อสงขลาปรับตัว ก็เริ่มมีคนมาเที่ยวและพักที่สงขลา ต่อไปคนมาเที่ยวสงขลาน่าจะคล้ายๆ คนไปเที่ยวน่าน หรืออัมพวาซึ่งจะต้องการที่พักประเภท Boutique Hotel

ขณะนี้ก็เห็นมี Boutique Hotel ชื่อ “บ้านในนคร” และ “สงขลาแต่แรก” ที่เปิดตัวขึ้นมาแล้ว ต่อไปอาจจะมีธุรกิจโฮมสเตย์ขึ้นที่สงขลา สมัยนี้ศิลปวัฒนธรรมนั้นมีราคา และราคาแพงเสียด้วย

หากการทำงานของภาคีคนรักเมืองสงขลาสำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือเมืองสงขลาจะเปลี่ยนบทบาทจากเมืองที่เคยหลับใหลกลายมาเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจในภูมิภาคอาเซียนขึ้นมาทันที

ขอย้ำว่า... “ในอาเชียน” ค่ะ

ตอนนี้สงขลากำลังเดินหน้าฟื้นเรื่องราวและพื้นที่ในอดีตมาชำระให้ถูกต้องและชัดเจน กรมศิลปากรกำลังขุดแนวกำแพงเมืองเก่าเขากำลังจะนำสายไฟฟ้าที่ถนนบางสายลงดิน จวนข้าหลวงเก่าสงขลาซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ขณะนี้เป็นอาคารเก่าทรงจีนขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์และสวยที่สุดในอาเซียน ทางภาคีฯ กำลังขอคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์ หน้าจวนฯ เพื่อเปิดโล่งให้ได้พื้นที่สีเขียวออกไปเชื่อมกับทะเลสาบ ซึ่งจะทำให้จวนฯ เก่า สง่างามโดดเด่นขึ้นไปอีก

แต่สงขลาต้องดูแลระบบจอดรถยนต์ในเมืองเพราะถนนในเมืองเก่านั้นแคบ ต้องทำอะไรสักอย่างที่แก้ปัญหานี้ แนะนำให้ศึกษาตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นค่ะ

คนสงขลาอยู่ในพหุสังคมที่เป็นรูปแบบของตัวเองอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทย คนมุสลิม คนจีนขาย สุเหร่าของมุสลิมในสงขลาเป็นสุเหร่าที่มีงานสถาปัตยกรรม เหมือนกับวิหารที่วัด(พุทธ)มัชฌิมาวาส เพราะ ร.5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นพร้อมกัน พระองค์ยังพระราชทานเงินให้ซื้อโคมระย้าติดภายใน และเสด็จเยี่ยมสุเหร่านี้ถึง 2 ครั้ง เมื่อ ร.6 เสด็จประพาสสงขลาก็ได้เสด็จไปเยี่ยมด้วย

ขณะนี้นักวิชาการทั้งจากที่สงขลาและจากกรุงเทพฯ มาร่วมมือกับภาคธุรกิจสงขลาเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อจะผลักดันให้สงขลาสู่เมืองมรดกโลก การทำให้ภูมิสถานสามารถบ่งบอกอัตลักษณ์เรียกคนให้มาเยือน จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศไทยโดยรวม ซึ่งจะส่งประโยชน์ให้กับภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องกับสงขลาเกิดขึ้นอีกมากมาย

(พบกันวันเสาร์หน้าค่ะ)