posttoday

เมืองสมุนไพร อภัยภูเบศร ศูนย์การเรียนรู้มุ่งสู่เวทีโลก

11 มิถุนายน 2560

จากสถานพยาบาลที่ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การแพทย์ สมุนไพร ร้านค้าเกษตรอินทรีย์ กับการตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรของโลก

 โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

"เขตเมืองเก่า เล่าประวัติศาสตร์ ธรรมชาติงดงาม บริบูรณ์ผลไม้ หลากหลายแหล่งท่องเที่ยว เชี่ยวชาญสมุนไพร" คือคำขวัญประจำ จ.ปราจีนบุรี ที่มีสถานที่สำคัญตั้งอยู่ คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถูกพัฒนาให้เป็นทั้งโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย สวนสมุนไพร นวดไทย สปา ร้านค้าเกษตรอินทรีย์ และร้านสมุนไพรโพธิ์เงิน ตั้งเป้าสานฝันให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสมุนไพรของโลก ท่ามกลางการแข่งขันจากนานาประเทศที่เริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรมากขึ้น

นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ระบบไทยแลนด์ 4.0 ทาง อย.จึงเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาไทยที่มีมาช้านาน ด้วยการนำสมุนไพรมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันได้เป็นอย่างดี จึงกำหนดให้ จ.ปราจีนบุรี เป็นเมืองต้นแบบสมุนไพร เพื่อพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้ยาแผนไทยหรือยาที่ผลิตจากสมุนไพร นำมาบรรจุรายการไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

รวมถึงขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันตามสถานพยาบาลของรัฐในอนาคต พร้อมทั้งส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ ผนวกเข้ากับผลงานวิจัย และนวัตกรรม จะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิของประเทศให้ก้าวไปตามที่หวังได้

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รอง ผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการมุ่งเน้นด้านสมุนไพรเกิดจากยุควิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ยาแผนปัจจุบันมีราคาแพง จึงเป็นที่มาของความพยายาม

ให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเอง กระจายรายได้สู่ชุมชน และพัฒนาศักยภาพการแข่งขันในระดับภูมิภาค โดยตั้งแต่ปี 2530-2555 ปริมาณการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ผู้คนหันมาใช้ยาสมุนไพรซึ่งมีคุณสมบัติรักษาโรคหลายชนิด ทว่าน่าเสียดายที่คนไทยกลับไม่รู้จักเสียเอง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลอภัยภูเบศร พยายามพัฒนาตัวยาโดยสร้างโรงงานสกัดสมุนไพร และผลิตออกเป็นบรรจุภัณฑ์ ได้มาตรฐานสากล ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและผลิตออกมาปลอดภัยได้คุณภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกับ อย.กำลังพัฒนาให้โรงพยาบาลกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรนานาชาติ คาดว่าปลายปี 2560 จะมีความคืบหน้ามากขึ้น

สำหรับกำลังการผลิตของโรงงานใช้กระบวนการ Good Manufacturing Practice (GMP) สามารถผลิตยาแคปซูลได้ 5.6 แสนแคปซูล/วัน ผลิตชาได้ 3,000 ซอง/วัน เครื่องดื่ม 5,000 ขวด/วัน ยาแก้ไอมะขามป้อม จำนวน 1.5 หมื่นขวด/วัน ครีมพญายอ 8,000 หลอด/วัน และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล 4,800 ชิ้น พร้อมกันนี้ยังใช้เครื่องสกัดสารที่ออกแบบเป็นพิเศษสกัดสมุนไพรได้ 100 กิโลกรัม/วัน ส่วนของเสียจะถูกนำไปบำบัดในเตาเผาด้วยระบบแอคติเวตเตด สลัดจ์ ถือเป็นขั้นตอนกำจัดถูกหลักวิชาการ

ภญ.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ด้านกระบวนการควบคุมคุณภาพ เริ่มตรวจสอบตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ไปจนถึงแปรรูป ทุกขั้นตอนผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (มกท.) และตรวจสอบควบคู่ไปกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ผ่านระบบควบคุมคุณภาพภายในห้องทดลองปลอดเชื้อ จึงเก็บรักษาสารสำคัญให้คงที่สม่ำเสมอ ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สะอาดปราศจากสารปนเปื้อนแน่นอน

"เราตั้งใจว่า การวิจัยของอภัยภูเบศร จะต้องนำไปผลิตจำหน่ายได้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นงานวิจัยเพื่อนำไปขึ้นหิ้ง เหมือนที่ผ่านมาซึ่งไม่เกิดประโยชน์และต้องเชื่อมโยงกระบวนการตั้งแต่ต้นทาง คือ การเพาะปลูกของเกษตรกร การรับซื้อ ไปจนถึงปลายทางคือ การผลิตด้วยกรรมวิธีที่ได้มาตรฐานสากล ผลประโยชน์ที่ได้เกิดกับเกษตรกรและต่อยอดองค์ความรู้อีกด้วย" ภญ.สุภาภรณ์ กล่าว

รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กล่าวทิ้งท้ายว่า จากการสำรวจตลาดสมุนไพรในประเทศสหรัฐ พบว่า ความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่ามากถึง 3 ล้านล้านบาท จึงเป็นโจทย์สำคัญว่าประเทศไทยจะหางานวิจัยไปเสนอขายได้อย่างไร ซึ่งต้องทำให้ผลงานวิจัยไทยเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก รวมไปถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยเจาะกลุ่มคนยุคใหม่ หากทำได้ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านสมุนไพรเพื่อสุขภาพของโลกอย่างแท้จริง