posttoday

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หนึ่งเดียวในโลก

28 พฤษภาคม 2560

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

โดย...ส.สต

อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ พร้อมทั้งเชิญสื่อมวลชนศึกษาดูงานโบราณคดี ในจังหวัดนั้นด้วย

โบราณสถานแห่งแรกที่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรพาเยี่ยมชมได้แก่ วัดไตรภูมิ ซึ่งเป็นวัดประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปประจำเมืองเพชรบูรณ์ ที่ประชาชนชาวจังหวัดเพชรบูรณ์จัดประเพณีที่มีแห่งเดียวในโลกคือ ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ในวันสารทไทย หรือขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 (นับทางจันทรคติ) เมื่อชมวัดไตรภูมิ ก็ต้องกราบบูชาพระพุทธรูปที่ถูกอุ้มดำน้ำทุกปีด้วย แต่ไม่ได้ดูเพราะท่านเก็บรักษาไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นภาพที่เห็นต้องขอจากเว็บไซต์อื่นที่ลงเรื่องประเพณีอุ้มพระดำน้ำในปีก่อนๆ

พิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผวจ.เพชรบูรณ์ กล่าวถึงประเพณีการอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์ อันเป็นประเพณีแห่งเดียวในโลก ว่าเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ทุกปี วันสารทไทยอาจตรงกับปลายเดือน ก.ย. หรือต้นเดือน ต.ค. เช่นปีที่ผ่านมา (2559) ที่ตนมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้อุ้มพระดำน้ำ เพราะตรงกับวันที่ 1 ต.ค. ในฐานะชาวจังหวัดเพชรบูรณ์ และในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย จึงภูมิใจมาก เรียกว่ามากับดวงจริงๆ

สำหรับปี พ.ศ. 2560 ตรวจสอบดูแล้ว ประเพณีสำคัญนี้ตรงกับวันที่ 20 ก.ย. 2560

ทำไมต้องอุ้มพระดำน้ำ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นชาวเพชรบูรณ์โดยกำเนิดเล่าว่า พระพุทธมหาธรรมราชานั้นเคยหายไปจากอุโบสถวัดไตรภูมิ มีคนไปพบว่าท่านดำผุดดำว่ายที่ลำน้ำป่าสัก หน้าวัดโบสถ์ชนะมาร จึงจัดพิธีนี้เป็นประจำ และต่อเนื่องนานหลายสิบปีมาแล้ว

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หนึ่งเดียวในโลก

 

พระพุทธมหาธรรมราชา

ข้อมูลที่กรมศิลปากรเผยแผ่กล่าวว่า พระพุทธมหาธรรมราชา เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ รูปแบบศิลปะลพบุรีทรงเครื่อง สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้ว พุทธลักษณะ พระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาวย้อยจรดพระอังสะ พระเศียรทรงชฎาเทริด หรือมีกะบังหน้า ทรงสร้อยพระศอ พาหุรัด รัดประคดเป็นลายสวยงาม

สาเหตุที่พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า พระพุทธมหาธรรมราชา เนื่องจากพระวรกายสวมใส่เครื่องประดับของกษัตริย์นักรบสมัยโบราณ ชาวบ้านจึงพากันเรียกขานว่า “พระพุทธมหาธรรมราชา” สันนิษฐานว่า สร้างในราวปี พ.ศ. 1600 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม

ในระหว่างที่สร้างนั้นก็ได้นิมนต์พระภิกษุที่เป็นพระเกจิอาจารย์มาปลุกเสกด้วย และยังมีเรื่องเล่ากันว่าพระเกจิอาจารย์บางรูปสามารถรู้ภาษาสัตว์ได้ หลังจากสร้างเสร็จแล้วก็มีการฉลองสมโภช 9 คืน 9 วัน

ครั้นเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ครองราชสมบัติต่อจากกษัตริย์องค์ก่อน ได้พระราชทานพระพุทธมหาธรรมราชาให้พ่อขุนผาเมือง เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรี พร้อมทั้งยกพระราชธิดา พระนามว่านางสุขรมหาเทวีให้ด้วย และพระราชโอรสพระนามว่า กมรเตงอัญศรีทราทิตย์ หรือ ศรีอินทราทิตย์

ต่อมาพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวกอบกู้กรุงสุโขทัยคืนจากขอมสมาดโขลญได้ พ่อขุนผาเมืองจึงยกกรุงสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาวเป็นกษัตริย์ปกครอง ทำให้นางสุขรมหาเทวี (มเหสีพ่อขุนผาเมือง) ไม่พอพระทัย จึงโยนพระพุทธมหาธรรมราชาลงแม่น้ำป่าสัก และพระนางก็ได้กระโดดน้ำตายตาม

เวลาผ่านไปชาวประมงเหวี่ยงแหหาปลา แต่ได้พระพุทธมหาธรรมราชา สถานที่พบนั้น คือ วัดโบสถ์ชนะมาร (วัดโบสถ์ชนะมารสร้างสมัยหลัง) ซึ่งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์ คิดว่าพระพุทธรูปองค์นี้คงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ จึงช่วยกันนำขึ้นมาจากแม่น้ำป่าสัก หลังจากนั้นได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หนึ่งเดียวในโลก

 

เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งตรงกับวันสารทไทย ปรากฏว่า พระพุทธมหาธรรมราชาได้หายไปจากวัดไตรภูมิทำให้เจ้าอาวาส พระลูกวัด และชาวบ้านต่างพากันค้นหา ในที่สุดก็พบพระพุทธมหาธรรมราชาดำผุดดำว่ายอยู่บริเวณที่พบครั้งแรก จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จึงมีการแห่พระพุทธมหาธรรมราชาไปรอบเมือง จนถึงบริเวณหน้าวัดไตรภูมิ จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนของชาวเพชรบูรณ์ จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำทั้ง 4 ทิศ ซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคลแก่จังหวัด จนกลายเป็นประเพณีอุ้มพระดำน้ำของ จ.เพชรบูรณ์ จนถึงทุกวันนี้ 

ชาวเมืองเพชรบูรณ์มีความเชื่อว่า “ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ” จะทำให้ข้าวกล้าในท้องนา พืชผลทางการเกษตร เจริญงอกงาม ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จนกลายเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อในการอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาดำน้ำ ผู้ที่อัญเชิญจะต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ทั้งนี้ ด้วยตำแหน่งดังกล่าว เทียบได้กับเจ้าเมืองในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นใหญ่ที่สุดในเมือง ความเสียสละของผู้เป็นใหญ่ในนครที่มีความห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรและได้ชื่อว่าเป็นผู้ทะนุบำรุงพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้จะให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าเมืองอัญเชิญไปดำน้ำแทนไม่ได้ หากปีใดไม่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปองค์ดังกล่าวไปดำน้ำ ชาวเพชรบูรณ์เชื่อกันว่าปีนั้นบ้านเมืองจะเกิดความแห้งแล้ง ข้าวยากหมากแพง และพระพุทธรูปองค์นี้จะหายไปด้วย

ส่วนวัดไตรภูมิ สถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหาธรรมราชา เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ต.ในเมือง จ.เพชรบูรณ์

สิ่งสำคัญในวัดนอกจากพระพุทธรูปประจำเมือง พระพุทธมหาธรรมราชาแล้ว ได้แก่ เจดีย์ทรงปรางค์ ด้านหลังอุโบสถ ชำรุดมาก กรมศิลปากรต้องตั้งนั่งร้านประคับประคองไว้ ลักษณะพระเจดีย์นี้ประกอบด้วยฐานเขียง ย่อมุมไม้สิบสอง มี 3 ชั้น ขนาด 7.50 X 7.50 ม. ก่ออิฐถือปูน ฐานเขียงย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอด (ตอนนี้ไม่มีแล้ว) เป็นปรางค์กลีบขนุน-บันแถลงอุโบสถเป็นอาคาร 5 ห้อง (หน้าต่าง) แต่สภาพเตี้ย เพราะถมดินเทคอนกรีตหนีน้ำท่วม จึงมองเห็นใบเสมาลอยอยู่ที่ฐานอันต่ำเตี้ย นอกจากนั้นก็มีมณฑปสร้างใหม่เพื่อประดิษฐานองค์จำลองพระพุทธมหาธรรมราชา ตั้งอยู่กลางลานวัด ด้านหน้ากุฏิ และศาลบำเพ็ญกุศล

อย่าลืม วันสารทไทย กลางเดือน 10 มีประเพณีอุ้มพระดำน้ำแห่งเดียวในโลก ไม่มีที่อื่น นอกจาก จ.เพชรบูรณ์