posttoday

ทางม้าลายกลายเป็นที่จอดมอไซค์ กทม.ตีเส้นจยย. 40 แยกไฟแดง

22 พฤษภาคม 2560

ปัญหารถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดล้ำเส้นหยุดกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าไปจอดบนทางม้าลายได้

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ทุกวันนี้ทางม้าลายบริเวณสี่แยกไฟแดง กลายเป็นพื้นที่สำหรับหยุดรถจักรยานยนต์ขณะจอดรอสัญญาณไฟ ซึ่งปัญหานี้สร้างความเดือดร้อนให้กับคนเดินเท้าที่ต้องการข้ามไปอีกฝั่ง จำใจแทรกตัวหอบหิ้วกระเป๋าผ่านหมู่จักรยานยนต์ไปด้วยความยากลำบาก ซ้ำร้ายกลายเป็นเรื่องแปลกที่เกิดขึ้นเฉพาะไทยแลนด์ในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ ถึงการละเมิดสิทธิ์คนเดินเท้าอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทั้งที่อยู่ห่างจากป้อมตำรวจจราจรเพียงไม่กี่เมตร

กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงหาทางออกด้วยการขีดสีตีเส้น เว้นพื้นที่ให้เป็นช่องจอดจักรยานยนต์ขณะหยุดรอสัญญาณไฟ แล้วหวังว่าจะแก้ปัญหานี้ให้ผ่านพ้นไปได้

นายสุธน อาณากุล ผู้อำนวยการสำนักจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (สจส.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2560 สจส.จัดทำโครงการตีเส้นช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์จอดรอสัญญาณไฟแดงตามแยกต่างๆ โดยภายในช่องระบุข้อความ “จยย. MC” เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหารถจักรยานยนต์ ไม่มีที่จอดระหว่างรอสัญญาณไฟจราจรข้ามแยก ทำให้รถบางคันขับไปจอดทับทางคนเดินข้าม หรือ ทางม้าลาย ส่งผลให้คนที่ต้องเดินข้ามถนนไม่ได้รับความสะดวก บางครั้งอาจต้องเดินหลบเลี่ยงแทรกระหว่างรถจักรยานยนต์

ทั้งนี้ สจส.ตั้งเป้าตีเส้นช่องจราจรสำหรับรถจักรยานยนต์จำนวน 40 ทางแยกสำคัญที่พบปัญหา โดยปัจจุบันดำเนินการไปแล้วประมาณ 5-6 ทางแยก อาทิ แยกคอกวัว แยกศรีอยุธยา แยกศาลาแดง

อย่างไรก็ตาม ปี 2559 ที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองตีเส้นช่องจราจรบริเวณแยกอโศก พบว่า รถจักรยานยนต์กว่า 80% ให้ความร่วมมือจอดหลังเส้นด้วย จึงได้นำเสนอโครงการไปยังตำรวจจราจร ซึ่งเห็นด้วยกับโครงการและเสนอให้ กทม. ทำทั่วทุกพื้นที่ที่จำนวนกว่า 200 ทางแยก ทาง กทม.จึงได้เริ่มทยอยดำเนินการ เพื่อจัดระเบียบถนนมาอย่างต่อเนื่อง

แม้ข้อมมูลสถิติจาก กทม. จะยืนยันว่า ทันทีที่ตีเส้นจอดจักรยานยนต์แล้ว ผู้ขับขี่ให้ความร่วมมือจอดหลังเส้นหยุดมากถึง 80% แต่ยังคงเกิดคำถามว่าทำไมถึงยังมีผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอยู่เช่นเดิมพบเห็นได้ทุกวัน 

ทางม้าลายกลายเป็นที่จอดมอไซค์ กทม.ตีเส้นจยย. 40 แยกไฟแดง

เรื่องนี้ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า โครงการตีเส้นช่องจอดรถจักรยานยนต์ ถือเป็นเจตนาที่ดีมีประโยชน์อย่างมาก และสิ่งที่ กทม. ควรทำควบคู่กันคือประเมินแต่ละแยกไฟแดงว่า เพราะเหตุใดแม้จะมีการตีเส้นช่องจอดไว้ให้แล้ว แต่รถจักรยานยนต์ยังจอดล้ำมาบนทางม้าลายเช่นเดิม สถิติที่นำมาเปิดเผยถูกต้องหรือไม่

เนื่องจากการสังเกตพบว่า ปัญหารถจักรยานยนต์ล้ำเส้นหยุดมาจอดทับทางม้าลายเกิดจาก 1.ปัญหาด้านกายภาพ เช่น ไม่มีการตีเส้นจอดไว้ให้ชัดเจน หรือไม่กว้างมากพอที่จะรองรับ ปัจจัยนี้เป็นปัญหาทางกายภาพ 2.รถเก๋งส่วนบุคคล จอดล้ำเข้ามาในช่องจอด จยย.MC ทำให้จักรยานยนต์ต้องเลื่อนเลยไปจอดบนทางม้าลาย และ 3.บางแยกไฟแดงเปิดไฟรอสัญญาณนานเกินไป เช่น เปิดไฟแดงประมาณ 140-200 วินาที จะพบว่า หากแยกไหนเปิดสัญญาณไฟแดงนานเกินไป รถจักรยานยนต์จะเริ่มสะสมมากขึ้นจนล้นออกมาด้านหน้า เพราะแต่ละคันหวังว่าตนเองจะออกตัวไปให้เร็วที่สุด มากกว่าจอดต่อคิวไปด้านทางหลัง ซึ่งต้องเผชิญกับความร้อนของเครื่องยนต์ และควันไอเสีย

ดังนั้นต้องหาวิธีสื่อสารกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติในยามติดไฟแดง คือ จอดเรียงไปทางด้านหลังเท่านั้น พยายามปรับเปลี่ยนความเคยชินแบบผิดๆให้เกิดการยอมรับพฤติกรรมที่ถูกที่ควร หรือสร้างบรรทัดฐานสังคมว่า ต่อไปนี้จะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น เช่น ภาพถ่ายผู้กระทำผิดจากกล้องตามแยกต่างๆนำมาเผยแพร่ หากแยกไหนพบปัญหาบ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเดินออกจากป้อมมาควบคุมพื้นที่รับผิดชอบของตัวเองให้มีสภาพดีขึ้น

นพ.ธนะพงศ์ กล่าวอีกว่า ด้านหนึ่งสังคมไทยไม่ค่อยหยิบยกผู้ทำความดีมาเชิดชู เชื่อว่าผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไม่ได้เลวร้ายจ้องจะขึ้นไปจอดทับทางม้าลายอยู่ตลอด เพราะยังมีคนส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติตัวให้อยู่ในระเบียบ แต่คนกลุ่มนี้ไม่ค่อยถูกยกขึ้นมาพูดถึง

“ปัญหารถยนต์ รถจักรยานยนต์ จอดล้ำเส้นหยุดกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าไปจอดบนทางม้าลายได้ ดังนั้นต้องเปลี่ยนความเข้าใจผิดนี้ เชื่อว่าคนไทยเวลาทำดีอยู่กฎระเบียบทำได้ แต่ต้องมีกฎหมายที่เข้มข้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปฏิบัติงานอย่างจริงจัง รวมไปถึงสร้างจิตสำนึกไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเรื่องนี้ต้องปลูกฝังในระยะยาว” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว  

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) กล่าวว่า ตำรวจจราจรยังคงปฏิบัติตามนโยบาย 5 จอมอย่างต่อเนื่อง คือ จอมล้ำ จอมย้อน จอมปาด จอมขวาง และจอมปลอม โดยกฎหมายจราจร บัญญัติไว้อย่างชัดเจนกรณีที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนเส้นจราจร ที่ถือเป็นเครื่องหมายกำกับวินัยบนท้องถนน หากรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนเส้นที่กำหนดเอาไว้บริเวณตามสี่แยกไฟแดง เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการจับและเปรียบเทียบปรับทันทีไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯกำชับกวดขันมุ่งเน้นเป็นพิเศษในบริเวณที่มีพบปัญหามากที่สุด อาทิ แยกปทุมวัน รัชโยธิน อโศก ราชประสงค์ และแยกพระราม 9 ควบคู่กับการใช้มาตรการ 5 จริง ล็อคจริง ยกจริง ขังจริง จับจริง สุภาพจริง ยืนยันว่า ทุกวันนี้ยังคงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดต่อเนื่องเช่นเดิม