posttoday

ปรับแนวคิดเลิกขับเร็ว หยุดตายบนท้องถนน

19 พฤษภาคม 2560

เพราะตัวเลขของชีวิตคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานในเมืองไทยต้องตายถึง 200 คน/ปี ด้วยสาเหตุหลักมาจาก “ความเร็ว”

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เพราะตัวเลขของชีวิตคนเดินเท้าและนักปั่นจักรยานในเมืองไทยต้องตายถึง 200 คน/ปี ด้วยสาเหตุหลักมาจาก “ความเร็ว” ของผู้ขับขี่บนท้องถนนที่เกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด ผลลัพธ์จึงเป็นสถิติที่น่าตกใจ

และสถิติดังกล่าวนำไปสู่การจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “ช้าลงหน่อย...ชีวิตปลอดภัย” เพื่อหาทางออกในการขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วที่เหมาะสมในเขตชุมชนเมือง

อรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการมูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย ประจำประเทศไทย บอกว่า กรุงเทพมหานครถูกเลือกเป็นเมืองนำร่องในการดำเนินการควบคุมความเร็ว ดังนั้นจึงเกิดเป็นโครงการ “ฟ้องป้าเปีย” คือ การเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนร่วมกันถ่ายภาพฟ้องพื้นที่ถนนที่สุ่มเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ต้องควรควบคุมความเร็ว ส่งเข้ามาที่เฟซบุ๊ก @fongpapia โดยติดแฮชแท็ก #ฟ้องป้าเปีย หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ WWW.SLOWDOWN.ASIA เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป

“อยากให้โครงการฟ้องป้าเปีย บนเฟซบุ๊กกระจายข้อมูลข่าวสารไปทั่วสังคม เพื่อชี้จุดที่มีปัญหา รวมถึงนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่” อรทัย กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตำรวจจราจรจับกุมผู้กระทำความผิดบนท้องถนนกว่า 5 หมื่นคดี พบว่าจำนวน 4,424 คดี เป็นเรื่องของความเร็ว และมากกว่าปัญหาเมาแล้วขับถึง 66% โดยพื้นที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมากที่สุด คือ เขตดอนเมือง สุทธิสาร บางเขน สายไหม และเตาปูน ที่ผ่านมาในปี 2544 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ด้วยความเร็วที่ไม่เหมาะสมสูงถึง 8,300 คน

ณัฐพงศ์ บุญตอบ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิไทยโร้ดส์ กล่าวว่า พื้นที่การจราจรในกรุงเทพฯ มีอุบัติเหตุสูง คิดเป็น 2 ใน 3 ของทั้งประเทศ โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง พบว่า 70% ใช้ความเร็วเกินอัตราที่กำหนด ทั้งที่กฎหมายกำหนดความเร็วจำกัดไว้ที่ในเขตเมือง 80 กม/ชม.

ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไข คือ เปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม เนื่องจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนระบุว่า สาเหตุที่ขับรถเร็วมาจากความเร่งรีบถึง 43% รองลงมา คือ เห็นถนนโล่ง 36% นอกจากนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนที่เคยถูกตรวจจับความเร็วมีเพียง 17% เท่านั้นที่ยอมรับว่าเลิกขับรถเร็วอย่างถาวร

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ทุกวันนี้เทคโนโลยีจับความเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่พฤติกรรมของคนใช้รถมักต่อต้านกับการขับรถช้าทั้งที่กฎหมายกำหนดความเร็วไว้ที่ 80 กม./ชม.

ดังนั้น ความพยายามเปลี่ยนทัศนคติแบบนี้เป็นเรื่องท้าทาย เพื่อทำให้สังคมยอมรับ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่จะแก้ปัญหาได้ แต่สำคัญที่สุด คือ กำหนดความเร็วในเขตชุมชนให้ชัดเจน เพราะบางพื้นที่แม้จะมีป้ายแจ้งเตือนแต่ไม่ใช่การกำหนดเป็นกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างเข้มข้น

นนลนีย์ อึ้งวิวัฒน์กุล ตัวแทนจากกลุ่ม Bangkok Bicycle Campaign กล่าวว่า นักปั่นจักรยานมักรู้สึกกลัวความเร็วที่เกิดจากรถยนต์วิ่งผ่านด้วยความเร็วสูง เพราะกระแสลมจะกระชากให้คนปั่นจักรยานเสียหลักได้ ถือว่าเป็นเรื่องแปลกที่พฤติกรรมคนขับรถยนต์ในต่างจังหวัดมักไม่ใช้ความเร็วสูง แตกต่างจากการขับรถในกรุงเทพฯ ที่ผู้คนขับรถด้วยความเร็วสูงมาก

“ในฐานะที่ใช้จักรยานแทนขับรถยนต์ มองว่า การปลูกฝังแต่เด็กมีความสำคัญ ที่ผ่านมาเด็กๆ มักจะถูกปลูกฝังว่าให้ ‘ระวังรถ’ หรือ ‘ให้รถไปก่อน’ ไม่มีการสอนว่าต้อง ‘ให้คนไปก่อน’ หรือ ‘ให้ระวังคนเดิน’ ทำให้คนที่ใช้รถจะรู้สึกว่าตัวเองตัวใหญ่เวลาขับรถ หรือแม้แต่เวลาที่เราขับรถช้า รถคันข้างหลังยังบีบแตรไล่” นนลนีย์ ย้ำ