posttoday

ทิคอง 2560

14 พฤษภาคม 2560

ผมเพิ่งกลับจากทริปไปเที่ยวป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ที่ยาวนานที่สุดในชีวิต รวม 7 คืน จากการไปเยี่ยม

โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น

ผมเพิ่งกลับจากทริปไปเที่ยวป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี ที่ยาวนานที่สุดในชีวิต รวม 7 คืน จากการไปเยี่ยม “ค่ายกระต่ายตื่นตัว ครั้งที่ 25” ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค. 2560 ณ หน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง

ผมเองนอกจากไปเยี่ยมค่ายแล้ว ยังมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ ในการเล่นเกมดูนกกับเด็กๆ รวมถึงตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า เอาภาพสัตว์มาฉายให้เด็กดู ซึ่งก็พบด้วยความปลาบปลื้มว่า เด็กๆ ลูกคนมีตังค์ที่มาเข้าค่ายหนนี้ มีความสนใจในสัตว์ป่ามากทีเดียว

นอกเวลาที่ผมจะได้ร่วมกิจกรรมกับหนูน้อยทั้งหลาย ก็เป็นฟรีไทม์ได้ออกไปซุ่มถ่ายสัตว์ตามโป่งอย่างต่อเนื่อง ตกกลางคืน ก็ไม่ค่อยได้หลับได้นอน ถ่ายสัตว์เล็กสัตว์น้อยในหน่วยต่ออีก

เป็นครั้งแรกที่ผมได้ถ่ายภาพแนว “กบเขียดงู” โดยมีผู้เชี่ยวชาญสัตว์กลุ่มนี้คอยแนะนำ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ทางมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ เชิญมาเป็นวิทยากรให้กับเด็กในค่ายนั่นแหละ

ลอง “กบเขียดงู” ปุ๊บ ก็รู้สึกสนุกปั๊บ แต่ผมก็รู้ขีดจำกัดของตัวเองทันที ว่าไม่อาจเอาดีทางนี้ได้ มันไม่ใช่เรื่องเทคนิคการถ่ายภาพ แต่เป็นความแขยงไม่กล้าจับสัตว์ที่ตัวมีเมือกลื่น ซึ่งแผ่รัศมี “หลอนลึก” ในตัวเองได้ (จริงๆ ผมหลอนไปเองแหละ สัตว์มันน่ารักจะตายไป แหะๆ)

เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นแมลงป่าสวยๆ หน้าตาพิลึกๆ ที่แห่มาตอมไฟตอนกลางคืน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแมลง (คนเดียวกับผู้เชี่ยวชาญกบเขียดงูนั่นแล) ขึงผืนผ้าขาวและเปิดไฟแสงจันทร์ล่อทุกคืน

เป็นครั้งแรกที่ผมทดลองถ่ายสัตว์ป่า ด้วยวิธีการ “พานอรามา” โดยทั่วไปแล้วพานอรามาเขาไว้ใช้ถ่ายภาพแลนด์สเคป แต่ผมลองถ่ายกับสัตว์ป่าดู อ๊ะ เล่นไม่ยาก ก็ภาพประกอบคอลัมน์วันนี้นี่แหละ หมูป่ากลางโป่งในแบบพานอรามา

แต่ครั้งแรกในชีวิตที่ตื่นเต้นเร้าใจที่สุด เห็นจะเป็นการถ่ายภาพค้างคาวโฉบน้ำยามดึก ซึ่งอันนี้ผมต้องตีโจทย์เองทุกอย่างในการเอาชนะพวกค้างคาว จะกูเกิลหาข้อมูลจากโปรเมืองนอก ก็ไม่มีสัญญาณเน็ตซะด้วย ผลลัพธ์ที่ออกมา เป็นภาพที่ต้องบอกว่า “อินเตอร์” เอาการ นึกไม่ออกจริงๆ เคยมีช่างภาพไทยคนไหนเคยถ่ายแบบนี้ได้

เกริ่นนำพอเป็นสังเขป รายละเอียดของเรื่องราว จะทยอยเขียนให้อ่านกัน จนกว่าจะหมดไส้หมดพุง โปรดติดตาม!