posttoday

รัฐประเดิมจัดโซนนิ่งสตรีทฟู้ดที่เยาวราช-ข้าวสาร

19 เมษายน 2560

รัฐบาลเดินหน้าจัดโซนนิ่งสตรีทฟู้ด ประเดิมที่เยาวราช-ข้าวสาร เน้นความสะอาด-มีเอกลักษณ์ พร้อมดูแลด้านการจราจร

รัฐบาลเดินหน้าจัดโซนนิ่งสตรีทฟู้ด ประเดิมที่เยาวราช-ข้าวสาร เน้นความสะอาด-มีเอกลักษณ์ พร้อมดูแลด้านการจราจร

ร.ต.หญิง พรชนก อ่ำพัน ทีมงานโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5  คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นวาระเร่งด่วนและการแก้ไขปัญหาการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศครั้งที่ 4/2560  ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานว่า การจัดระเบียบผู้ค้าแผงลอยในพื้นที่กทม.มีการแบ่งกลุ่ม คือ 1.การทำการค้าทั่วไป มี 416 จุด ขณะนี้ยกเลิกทั้งหมดแล้ว 2.ผู้ค้าที่มีการขอผ่อนผันจากศาลปกครองให้มีคำสั่งทุเลา จำนวน 60 วัน รวม 21 จุด ขณะนี้คำสั่งทุเลาหมดสิ้นแล้ว มีการดำเนินการจัดระเบียบไม่ให้กลับมาขายอีก

ทั้งนี้รัฐบาลเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ซีเอ็นเอ็นยกให้เป็นสวรรค์แห่งสตรีทฟู้ดจึงนำร่องถนนเยาวราช และถนนข้าวสารในการจัดโซนนิ่ง และช่วงเวลา โดยมีมาตรการปรับสภาพทางเท้าใหม่ จัดระเบียบด้านต่างๆให้มีความสะอาด มีซุ้มค้าเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้ง มีการดูแลด้านการจราจรไม่ให้มีความติดขัด เพื่อให้การขายอาหารและสินค้าที่ระลึกของไทยยังคงคุณค่า

ขณะที่ประเด็นการปรับภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน โดยรัฐบาลต้องการให้ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะที่มีการบุกรุกอย่างผิดกฎหมายให้เกิดประโยชน์

“ซึ่งความคืบหน้าในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการรื้อถอนบ้านเรือนที่บุกรุกจำนวน 9 หลัง สามารถคืนพื้นที่ให้กทม.ได้กว่า 2 ไร่  โดยยังมีบ้านเรือนที่บุกรุกอีก 33 หลังที่รอการรื้อถอน โดยพล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกภาคส่วนแม้จะเป็นผู้บุกรุกที่ทำผิดกฎหมาย คาดว่าการรื้อถอนจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย. 2560 และประชาชนจะสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ภายในปีนี้”ร.ต.หญิง พรชนกกล่าว

นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการจัดระเบียบรถตู้โดยสารสาธารณะ โดยมีการสร้างจุดบริการและจุดจอดรถตู้สาธารณะชั่วคราวทั่วประเทศ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ โดยมีการกำหนดจุดปลายทาง จุดจอดรถชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันมีจุดจอดแล้วตามเส้นทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และสายใต้ รวม 29 จังหวัด 141 เส้นทาง รวมทั้งหมด 124 จุด

ร.ต.หญิง พรชนก กล่าวอีกว่า โดยกำหนดให้จุดจอดชั่วคราวต้องได้มาตรฐานเทียบเท่าสถานีขนส่งผู้โดยสาร มีพื้นที่ให้จอดพัก และต้องไม่ใช้พื้นที่กีดขวางจราจร มีการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นที่ฐาน เช่น ห้องสุขา ห้องพยาบาล ระบบไฟฟ้า แสงสว่าง ต้องได้มาตรฐานและปลอดภัยสูงที่สุด อีกทั้ง จะมี่การติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อเชื่อมโยงระบบเดินทางแบบออนไลน์ โดยจังหวัดที่นำร่องแล้วเสร็จไปแล้ว คือ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์