posttoday

หนังใหญ่วัดขนอน เชิดชูศิลปะไทยไม่ให้กลืนกิน

15 เมษายน 2560

หนังใหญ่วัดขนอนคงไม่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศหรือทำให้ทั่วโลกรู้จักวัดขนอนได้ถ้าหากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ช่วยอนุรักษ์

โดย...ศุภชัย แก้วขอนยาง

หลายปีมาแล้วในช่วงของกรุงสุโขทัยได้มีศิลปะประเภทหนึ่งที่ใช้หนังวัวขึงไม้แล้วใช้คนเชิด ผสมกับอารมณ์คนพากย์เชิงกาพย์กลอนคล้ายทำนองเสนาะมีเสียงเกราะปี่พาทย์ระนาดเอกบรรเลงเพลงเชิด ส่วนคนเชิดอยู่ภายหลังผ้าขาวที่ไฟสาดมาจากข้างหลังทำให้เห็นเงาดำตะคุ่มๆ ราวกับว่าหนังแกะสลักเหล่านั้นมีชีวิตจริงๆ คนในสมัยนั้นล้วนเรียกว่า “หนังใหญ่”

จากสมัยสุโขทัยมารุ่งเรืองสู่กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (ร.5) ปรากฏหลักฐานว่ามีการทำหนังใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จ.สิงห์บุรี และ หนังใหญ่วัดขนอน จ.ราชบุรี

จุดเริ่มต้นของวัดขนอน ได้มีผู้ริเริ่มในการแกะสลักคือ พระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) ที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดขนอนในสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันรวมหนังใหญ่ได้ทั้งหมด 313 ตัว

ศิลปะหลังผ้าขาวนี้จะถูกเชิดเป็นเรื่องราวผ่านเสียงพากย์ในเรื่องรามเกียรติ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะถือได้ว่าเป็นเทพนิยายที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของไทยในการแสดงศิลปะ เนื่องด้วยตัวละครถูกตอกด้วยแท่งเหล็กลงบนหนังวัวแผ่นใหญ่จนปรากฏเป็นร่างพระ-นาง ร่างยักษ์ และร่างลิง จึงเป็นที่มาของคำว่าหนังใหญ่

วัดขนอน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงในการเล่นหนังใหญ่ แต่ถึงอย่างไรความนิยมก็มิอาจสู้ความเจริญก้าวหน้าของยุคสมัยเพราะหนังใหญ่วัดขนอนไม่ได้ทำการแสดงศิลปะประเภทนี้ราว 50 ปีมาแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมที่ขาดการดูแลใส่ใจจากยุคสมัยใหม่เพราะคิดว่าอาชีพเล่นหนังใหญ่เป็นอาชีพที่ไม่ยั่งยืน สมัยก่อนจึงมีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ทำการเชิดหนังใหญ่ พอหมดยุคของคนเชิดยุคนั้นหนังใหญ่วัดขนอนจึงเกือบตกสะพานประวัติศาสตร์ราว 50 ปี

ทว่า เจ้าอาวาสวัดขนอนรูปปัจจุบันเห็นว่าการที่หนังใหญ่หายไปราว 50 ปี เป็นเรื่องที่ไม่น่ายินดียิ่งนักต่อศิลปวัฒนธรรมจึงริเริ่มการสอนเล่นหนังใหญ่ขึ้นอีกครั้งเพื่อดำรงอยู่ซึ่งความงดงามของวัฒนธรรมไทย

ทศพร แพทอง ผู้พากย์เสียงหนังใหญ่และผู้ดูแลการแสดงหนังใหญ่วัดขนอน เล่าว่า ผลงานที่ทำให้สามารถพูดได้ว่าหนังใหญ่วัดขนอนไม่ธรรมดานั้นถูกการันตีจาก องค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 8-11 มิ.ย. 2550 ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของประเทศและของวัด ที่สามารถทำให้ศิลปะพื้นบ้านเป็นที่กล่าวขานถึงในระดับโลก

ทศพร เล่าว่า ความแตกต่างของคนเชิดหนังในสมัยก่อนจะใช้คนมีอายุ แต่ปัจจุบันมีการฝึกเยาวชนขึ้นมาเพื่อรักษาศิลปะให้คงอยู่ ตั้งแต่การพากย์ การเชิด การแกะสลักหนังใหญ่ รวมถึงการเล่นวงปี่พาทย์ เพื่อให้มีการทดแทนอยู่ตลอดเวลา

“ผมเองได้เข้ามาเล่นหนังใหญ่ที่มีการเปิดการแสดงหนังใหญ่เป็นชุดแรก ซึ่งหลังจากที่ทางวัดขนอนได้หนังใหญ่ชุดใหม่มาก็เริ่มที่จะฝึกเด็กนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน เพื่อให้เด็กกับวัดได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผมเล่นหนังใหญ่และอยู่ร่วมทีมหนังใหญ่มา 20 ปี การเปลี่ยนแปลงเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่น่าพอใจ” ทศพร กล่าว

ทศพรยังเล่าให้ฟังอีกว่า ตัวหนังที่มีการชำรุดทรุดโทรมทางวัดก็ได้มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเพื่อมาทดแทนส่วนที่สึกหรอให้ทำการแสดงได้ต่อไป และสิ่งสำคัญที่ทำให้หนังใหญ่วัดขนอนเกือบที่จะวางมือ เกิดจากการอนุรักษ์การทำงานหลายๆ อย่างยังเข้าไม่ถึง รวมถึงสื่อที่จะมาร่วมกันเผยแพร่ก็มีน้อย เมื่อลองมาเปรียบเทียบกับปัจจุบันแล้วพบว่าทุกฝ่ายทั้งทางวัดและทางเยาวชนเองได้ช่วยกันผลักดันจนทำให้หนังใหญ่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

ทศพร ระบุว่า โครงการ หนองโพ...The Hero ได้เข้ามามีบทบาทเผยแพร่เรื่องราวบุคคลที่ร่วมกันอนุรักษ์งานศิลปะ และทำให้มีแรงผลักดันในการทำงานทำให้ผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่ไม่รู้จักการแสดงหนังใหญ่ได้รับทราบว่ามีศิลปะประเภทนี้อยู่

“ผมอยากให้เยาวชนคนไทยทุกคนได้หันมาให้ความสำคัญกับศิลปะของตนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องสนใจที่วัดขนอนหรือไม่จำเป็นจะต้องอนุรักษ์หนังใหญ่เพียงอย่างเดียว ศิลปะมันมีค่าทุกแขนงทุกประเภทอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์วันหนึ่งศิลปะเหล่านี้ก็คงจะหมดไป”

อย่างไรก็ดี หนังใหญ่วัดขนอนคงไม่สามารถทำชื่อเสียงให้กับประเทศหรือทำให้ทั่วโลกรู้จักวัดขนอนได้ถ้าหากเยาวชนรุ่นใหม่ไม่ช่วยอนุรักษ์ความงดงามของศิลปะไทย

ธนพล  วงศ์วัฒนสิทธิ์ ประธานกรรมการ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี (ในพระบรมราชูปถัมภ์) กล่าวว่า โครงการ หนองโพ...The Hero ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงงานหนักเป็นอย่างมากเพื่อทำให้พสกนิกรชาวไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นของพระองค์ท่านจึงเปรียบเสมือนฮีโร่ของประเทศไทยจึงเป็นที่มาของโครงการ หนองโพ...The Hero ซึ่งจะเฟ้นหาเยาวชนหรือบุคคลที่เชิดชูเกียรติให้ชาติเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีสืบไป