posttoday

สหภาพขสมก.ขอนายกฯใช้ม.44รับรถเมล์เอ็นจีวี

07 เมษายน 2560

สหภาพ ขสมก.เตรียมเสนอบิ๊กตู่ใช้ม.44รับรถเมล์เอ็นจีวี 292 คัน – หวั่นขสมก.ตายภายใน 2 ปีหากไม่ได้รถเมล์ใหม่

สหภาพ ขสมก.เตรียมเสนอบิ๊กตู่ใช้ม.44รับรถเมล์เอ็นจีวี 292 คัน – หวั่นขสมก.ตายภายใน 2 ปีหากไม่ได้รถเมล์ใหม่

นายวีระพงศ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่าเตรียมเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาใช้ม.44ในการรับรถเมล์เอ็นจีวี 292 คันที่ติดจีพีเอสและจดทะเบียนจากรมขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้วโดยไม่ติดปัญหากรมศุลกากรมาให้บริการประชาชนก่อน เนื่องจากเป็นประโยชน์ที่ควรได้รับของประชาชนซึ่งศาลปกครองกลางยังสั่งคุ้มครองโครงการดังกล่าวไปแล้วโดยให้ยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ อีกทั้งการประชุมบอร์ด ขสมก. 4ครั้งที่ผ่านมายังไม่สามารถหาคำตอบให้กับสังคมได้ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จึงควรมีมาตรการรับรถเมล์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาใช้ก่อนส่วนรถเมล์ที่ติดปัญหาก็ให้ไปว่ากันในชั้นศาล

อย่างไรก็ตามตนมองว่ามีแนวโน้มสูงที่ขสมก.จะต้องล้มละลายหรือปิดตัวลงหากยังไม่ได้รถเมล์ใหม่มาวิ่งบริการภายในระยะเวลา 2ปี เพราะปัจจุบันรถโดยสารที่มีอยู่ราว 2,600 คันนั้นส่วนใหญ่อายุการใช้งานมากกว่า 17 ปี ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อด้านความปลอดภัยในการให้บริการประชาชนเนื่องจากมาตรฐานของสากลนั้นในแต่ละประเทศอนุญาตให้รถเมล์โดยสารสาธารณะมีอายุใช้งานเพียง 7-10 ปี อีกทั้งองค์กรยังต้องแบกรับภาระจากค่าซ่อมบำรุงรถเก่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับการจัดซื้อและบริหารรถเมล์ใหม่ประกอบกับตัวองค์กรเองมีภาระหนี้สินมากกว่าแสนล้านบาทอีกทั้งยังขาดทุนถึงปีละ4,000-5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เริ่มมีบางส่วนของสังคมมองว่าขสมก.อาจถูกบีบให้ยกเลิกบริการในอนาคตจากปัญหาภาระหนี้สินและรายจ่ายที่มากกว่ารายรับหรือสภาวะขาดทุน เนื่องจากในปี 2562 กรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้กำกับดูแลเต็มตัวโดยที่ขสมก.จะเป็นเพียงผู้ให้บริการจึงมีโอกาสที่รัฐบาลชุดใหม่จะมองว่า องค์การนี้เป็นภาระของการจัดสรรงบประมาณจนต้องยุติแล้วให้เอกชนเข้ามาดำเนินการเดินรถขนส่งประชาชนแทนเพื่อจบปัญหาดังกล่าว

“หาก ขสมก.ยังไม่สามารถจัดหารถเมล์ใหม่มาวิ่งบริการประชาชนได้ ต่อให้เปลี่ยนตัวผู้อำนวยการสัก 100 คนก็แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไมได้ เนื่องจากสหภาพเรียกร้องรถเมล์ใหม่มานานถึง 14 ปี แต่วันนี้ประชาชนก็ยังไม่ได้ใช้บริการ”นายวีระพงศ์ กล่าว

นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากสุดท้ายแล้วมีบริษัทเอกชนเต็มตัวเข้ามาบริหารงานแทน ขสมก.ภาระที่แท้จริงจะตกไปอยู่กับประชาชนผู้ใช้บริการเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องสั่งยกเลิกบริการรถเมล์ฟรีที่เป็น Shuttle Bus เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางหรือเพื่อบริการประชาชนในวาระสำคัญต่างๆเช่นงานเทศกาลสำคัญและพิธีสำคัญที่มีผู้เดินทางมาร่วมจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบัน ขสมก.มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวถึงวันละ 14,000 บาท ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มราคารถเมล์สาธารณะเพื่อให้คุ้มทุนกับการบริหารแบบหวังผลกำไรเต็มตัว อย่างไรก็ตามมองว่าแนวทางที่จะทำให้ ขสมก.ดำเนินธุรกิจได้ต่อโดยไม่ต้องล้มเลิกกิจการนั้นต้องรีบปรับปรุงรถเก่าที่ยังมีอายุใช้งานพอได้ (Overhual) ราว 600 คันเพื่อสร้างรายได้ให้องค์กรเดินหน้าต่อไปอีก 5-6 ปี ร่วมกับการเร่งจัดหารถเมล์เอ็นจีวีและรถเมล์พลังงานทางเลือกเพิ่มเติมตามแผนจัดซื้อเดิมเพื่อต่อลมหายใจให้กับองค์กรขนส่งมวลชนแห่งนี้

ส่วนด้านการติดตั้งระบบจีพีเอสและ e-ticket บนรถเมล์ขสมก.นั้นมองว่าการนำรถเก่าไปติดตั้งระบบดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณเนื่องจากรถเมล์ดังกล่าวเป็นรถเก่าที่มีสภาพไม่คงทนในการใช้งานระยะยาวทำให้ในอนาคตรัฐบาลอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนในการรื้อถอนระบบเพื่อนำไปติดในรถเมล์ใหม่ล็อตต่อไป แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าติดตั้งระบบดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสเพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมเสนอราคาโดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเอกชนรายหนึ่งรายใดเข้ามาผูกขาด