posttoday

เครื่องราชูปโภครัชกาลที่ 4 ที่วังจันทร์เกษม

19 มีนาคม 2560

ก่อนงานเฉลิมฉลอง 666 ปี กรุงศรีอยุธยา25 ปี มรดกโลก จะเริ่มวันที่ 17 มี.ค. 2560

โดย...ส.สต

ก่อนงานเฉลิมฉลอง 666 ปี กรุงศรีอยุธยา25 ปี มรดกโลก จะเริ่มวันที่ 17 มี.ค. 2560 นั้น กรมศิลปากร กับ จ.พระนครศรีอยุธยา พาผู้สื่อข่าวชมและศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี หลายแห่งล้วนแต่น่าทึ่ง และน่าสนใจศึกษา แต่ผู้เขียนติดใจมาก คือ ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม มิใช่ตัวพิพิธภัณฑ์เท่านั้นที่สะดุดตา สะดุดใจ หากแต่เครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ก็ยังตั้งแสดงอยู่ โดยเฉพาะที่พลับพลาจตุรมุข ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  

ความเป็นมาของพระราชวังจันทรเกษม ตามข้อมูลของกรมศิลปากร ว่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือด้านตะวันออกของเกาะเมืองใกล้ตลาดหัวรอ ประชุมพงศาวดารภาค 63 กล่าวว่า พระราชวังแห่งนี้เป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งพระยุพราช หลังเสด็จจากวังจันทร์ที่พิษณุโลก และเหตุที่ตั้งอยู่ด้านหน้าพระราชวังหลวง จึงเรียกกันว่า วังหน้าใน พ.ศ. 2287 เกิดเพลิงไหม้พระราชมณเฑียรต่างๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยแรกและสมัยหลังจนเสียหายอย่างมาก จนกระทั่งคราวเสียกรุงใน พ.ศ. 2310 วังหน้าก็ถูกทำลายเหลือแต่ซาก และถูกทิ้งร้างไป จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวัง ใช้เป็นที่ประทับในเวลาเสด็จประพาส จ.พระนครศรีอยุธยา พระราชทานนามว่า “พระราชวังจันทรเกษม” พระราชวังจันทรเกษมนี้ได้ใช้เป็นที่ประทับตลอดมา จนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่เกาะบางปะอินแล้ว จึงพระราชทานให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า เมื่อยุบมณฑลในรัชกาลที่ 7 ก็โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นศาลากลางจังหวัด จนกระทั่งสร้างศาลากลางขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม

เครื่องราชูปโภครัชกาลที่ 4 ที่วังจันทร์เกษม

ส่วนคู่มือนำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม กล่าวถึงพิพิธภัณฑ์ว่า เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในภูมิภาค โดยมีพระราชโทรเลขของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงส่งมาจากประเทศเยอรมนี ถึงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ร.ศ. 126 เป็นการันตี

ในพระราชโทรเลข มีข้อความว่า มิวเซียมที่นี่ เหมือนมิวเซียมกรุงเก่า ออกคิดถึงพระยาโบราณ ฉันจะแต่งหนังสือเรื่องมิเซียมนี้ (พระปรมาภิไธย) สยามินทร์

เรามาเริ่มจุดแรกที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจันทรเกษม พาชม ได้แก่ ท้องพระโรง และห้องจัดแสดงเพื่อน้อมรำลึกในพระมหา กรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ด้านหน้าประกอบไปด้วยท้องพระโรงใหญ่อยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยห้องมุขทั้งด้านซ้ายและขวา ส่วนด้านหลังเป็นท้องพระโรงเล็กขนาบข้างด้วยห้องมุขทั้งด้านซ้ายและขวาเช่นเดียวกับด้านหน้า

ภายในห้องต่างๆ เหล่านี้ ได้จัดแสดงเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นของคู่พระราชวังจันทรเกษมมาแต่เดิม โดยเฉพาะในท้องพระโรงใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชอาสน์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร สำหรับประทับเวลาเสด็จออกว่าราชการ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝีมือของ โรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพชาวเยอรมันที่เข้ามาในประเทศไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแสดงอยู่ในที่สูงด้วย

เครื่องราชูปโภครัชกาลที่ 4 ที่วังจันทร์เกษม

ที่วางพระแสงดาบ กลองมโหระทึก และกระโถนท้องพระโรง ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ส่วนพระองค์จัดแสดงตามห้องต่างๆ อีก อาทิ พระแท่นบรรทม ที่เป็นศิลปะแบบไทย เครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่เป็นศิลปะแบบยุโรป เช่น พระฉาย ขนาดใหญ่กรอบทำด้วยไม้และแกะสลักสีทอง จากประเทศอังกฤษ โต๊ะสำหรับสรงพระพักตร์พร้อมชุดเครื่องกระเบื้อง ชุดเครื่องเสวย ประกอบไปด้วย ช้อนส้อม ถ้วยน้ำ มีดพับ กะไหล่ทอง กลักใส่พริกไททำด้วยงา และที่เปิดจุกก๊อก เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเฟอร์นิเจอร์ศิลปะแบบจีน เช่น ชุดรับแขกทำด้วยไม้มะเกลือและหินอ่อน รวมทั้งพระฉาย กรอบทำด้วยไม้มะเกลือเข้าชุดกัน พระเก้าอี้โยกแบบยุโรปแต่ทำจากฝีมือช่างจีน จึงมีลักษณะผสมปนกันระหว่างศิลปะของยุโรปและจีน

เมื่อกล่าวถึงกระโถนท้องพระโรง ตั้งที่ท้องพระโรง มี 2 ใบ เป็นภาชนะขนาดใหญ่ที่ให้ผู้เข้าเฝ้าฯ ได้ใช้บ้วนน้ำหมาก น้ำลาย หรือทิ้งเศษสิ่งของต่างๆ

คำนี้จึงเกิดสำนวนไทยว่ากระโถนท้องพระโรง หมายถึง ใครๆ ก็มาใช้คนคนเดียว หรือมิเช่นนั้นก็ด่าคนคนเดียว

ส่วนเครื่องราชูปโภคแต่ละอย่างนั้น ถูกเก็บรักษาอย่างดี พร้อมทั้งมีป้ายบอกความสำคัญอีกด้วย ทำให้ได้ความรู้

ถ้าท่านไป จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากรู้สึกเศร้าใจที่วัง วัด และอื่นๆ ถูกทำลายไปหมด ถ้ายังอยู่คงเป็นดังที่อธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ กล่าวว่า อาจสู้กรุงโรมได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อเกิดเศร้าใจก็ต้องเตือนสติพวกเราชาวไทย ว่าอย่าประมาท ของที่ภูมิใจว่ายั่งยืน อาจล้มครืนเมื่อไรก็ได้ อนิจจา