posttoday

โบราณสถานวัดเตว็ด วัดท่าหอย และวัดถนนจีน

19 มีนาคม 2560

วันที่ 9 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรพาสื่อชุดเล็กๆ ไปชมแต่เช้า คือ วัดเตว็ด โบราณสถานซึ่งตั้งอยู่ที่ริมคลองปทาคูจาม ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

โดย...ส.สต

วันที่ 9 มี.ค. 2560 เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรพาสื่อชุดเล็กๆ ไปชมแต่เช้า คือ วัดเตว็ด โบราณสถานซึ่งตั้งอยู่ที่ริมคลองปทาคูจาม ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่วัดนี้ มีตำหนักที่ประทับกรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ ซึ่งเป็นสมเด็จอัครมเหสีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ทั้งสองพระองค์ได้ทูลลาพระเจ้าแผ่นดินและพาพระราชบุตร ซึ่งมีพระนามว่า ตรัสน้อย ออกบวช และไปประทับที่พระตำหนักอยู่ใกล้พระอารามวัดพุทไธศวรรย์

กรมศิลปากรให้ข้อมูลว่า ตำหนักนั้นเป็นอาคารทรงตึก หรือตำหนักก่ออิฐถือปูน ยกใต้ถุนสูงมีหน้าบันที่ประดับปูนปั้นลายพันธ์ุพฤกษา ลายก้านขดอิทธิพลศิลปะตะวันตกและรูปหน้าชาวตะวันตก ขนาดอาคารประมาณกว้าง 20 เมตร ยาว 30 เมตร และมีการกล่าวถึงในเอกสารของ น. ณ ปากน้ำ ว่าการก่อสร้างและปูนปั้นแบบนี้ อาจจะเป็นที่ประทับของทั้งสองพระองค์เช่นกัน สถาปัตยกรรมที่พบ มีอาคารทรงตึกหรืออาคารยกใต้ถุนสูง หน้าบันด้านทิศตะวันตกมีการประดับลายปูนปั้นเป็นลายพันธ์ุพฤกษาและรูปหน้าชาวตะวันตก สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ หรือหลังจากนั้น

ที่อยู่ใกล้ชิดติดกันเป็นซากปรักหักพังของพระอุโบสถ สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถเพราะได้พบฐานใบเสมาหนึ่งแห่ง ขนาดอุโบสถกว้าง 17 เมตร ยาว 32 เมตร เคยผ่านการบูรณะหลายสมัย (แต่ไม่มีอะไรเหลือให้เห็นนอกจากฐานไพที และฐานใบเสมา)

ข้อสงสัยของผู้สื่อข่าว คือ ทำไมตำหนักของเจ้าที่มาบวชชี จึงอยู่ใกล้ชิดติดกับพระอุโบสถ และอีกอย่างหนึ่งที่ตั้งหลังพระอุโบสถนั้น ห่างจากท่าน้ำ หรือคลองปทาคูจาม ทั้งๆ ที่สมัยโบราณนั้น ลำคลองคือเส้นทางคมนาคม และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค แต่คำถามนี้ไม่มีใครตอบ

ที่สงสัยต่อมา คือ ฉนวนลงท่าน้ำที่ลากเส้นตรงจากที่ตั้งพระอุโบสถลงท่าน้ำที่คลองปทาคูจาม ที่สงสัยเพราะทางลงท่าน้ำน่าจะสัมพันธ์กับกุฎีสงฆ์ หรือเขตสังฆาวาส มิใช่เขตพุทธาวาส ดังที่กรมศิลปากรอ้าง

โบราณสถานวัดเตว็ด วัดท่าหอย และวัดถนนจีน

ส่วนฝั่งตรงข้าม คือ ที่ตั้งวัดท่าหอย อันเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เคยประทับอยู่ในระยะเริ่มแรก ก่อนที่จะเจอสงครามพม่า เมื่อปี 2310 จากนั้นได้อพยพลงไปบางกอก พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 อาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดพลับ หรือวัดราชสิทธาราม ตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสังวร เป็นอุปัชฌาย์ ครูอาจารย์ ของพระบรมวงศ์หลายพระองค์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 2 ก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์ จึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นที่รู้จักกันในนามสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน เพราะมีฌานแก่กล้าทำให้ไก่เถื่อน (ไก่ป่า) ที่เปรียวที่สุด ยังเชื่องเหมือนไก่บ้านได้ สิ้นพระชนม์ปี 2365 ชนมายุ 90 ปี เป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่ 2 ปี  

จากนั้นกรมศิลป์พาไปชมอีก 2-3 แห่ง แต่จะขอเล่าเรื่องเฑาะวัดถนนจีน ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ที่ ต.หอรัตนไชย อ.พระนครศรีอยุธยา เป็นที่ตั้งชุมชนชาวจีนในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นวัดร้าง เหลือแต่เจดีย์ประธาน 1 องค์ แต่ก็เสี่ยงต่อการโค่นล้ม เพราะสภาพองค์พระเจดีย์มีโพรงเป็นหย่อม จากการที่คนร้ายขุดหาเครื่องราง หรือวัตถุโบราณที่คาดว่าจะมีฝั่งไว้ข้างใน กรมศิลป์จึงเข้าเฝือก เพื่อกันล้มลงมา

โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปแกะสลักจากหินทราย หากรวมเป็นองค์พระได้ก็จะมีหลายองค์ แต่ที่กรมศิลปากรยกให้เป็นมาสเตอร์พีซ คือ ชิ้นส่วนพระพุทธรูปทรงจีน ที่ทำจากหินทรายเหลือให้พิสูจน์ได้เฉพาะส่วนลำตัว มีกลีบจีวรเห็นชัดว่าเป็นพระพุทธรูปแบบจีน

นอกจากนั้น ก็พบป้ายหินจารึกอักษรจีน ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ. 2309 ซึ่งสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ที่เป็นวัดตั้งอยู่ในชุมชนชาวจีน

เมื่อดูแล้ว ชมแล้ว ก็สรุปว่า กรมศิลป์ทำงานอนุรักษ์โบราณสถานต่อเนื่อง แม้ว่าบางแห่งราษฎรเข้าไปบุกรุกแล้วก็ตาม