posttoday

สสส.ยกเขตภาษีเจริญพื้นที่ต้นแบบพัฒนาสุขภาวะชุมชนในกทม.

17 มกราคม 2560

สสส.หนุนเขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะชุมชนในเขตกทม.ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายสู่ 10 พื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ

สสส.หนุนเขตภาษีเจริญเป็นพื้นที่ต้นแบบสุขภาวะชุมชนในเขตกทม.ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมขยายสู่ 10 พื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ
  
เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่บริเวณพื้นที่ใต้สะพานบางขี้แก้ง เขตภาษีเจริญ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ  ชุมชน และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการ“พื้นที่สุขภาวะเขตภาษีเจริญ: แค่คุณปรับ...พื้นที่ก็เปลี่ยน...เป็นพื้นที่สุขภาวะ”นำเสนอบทเรียน ผลงานเชิงประจักษ์ ในการจัดการข้อจำกัดของพื้นที่เมืองให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เอื้อต่อกิจกรรมสุขภาวะ ภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ (Healthy Space) ในบริบทเขตเมือง
   
ผศ.ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการศวพช. มหาวิทยาลัยสยาม และ เลขาธิการมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน กล่าวว่า วันนี้พื้นที่รกร้าง ไร้ประโยชน์ของ 53 ชุมชน ในเขตภาษีเจริญได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สุขภาวะแล้วกว่า 12,204 ตารางวา เมื่อเทียบเคียงกับราคาที่ดินตามการประเมินแล้วจะพบว่า พื้นที่เหล่านี้มีมูลค่าถึง 212 ล้านบาท ปัจจุบันยังขยายพื้นที่ต้นแบบกว่า 10 พื้นที่ ไปสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป
 
ดร.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต้นแบบ 8 ประเภท รวม 741 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ 1.พื้นที่สุขภาวะย่านเมือง 2.พื้นที่สุขภาวะชุมชน 3.พื้นที่สุขภาวะเส้นทางสัญจร 4.พื้นที่สุขภาวะย่านริมน้ำ 5.พื้นที่สุขภาวะสวนสาธารณะ 6.พื้นที่สุขภาวะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 7.พื้นที่สุขภาวะองค์กร และ 8.ชุมชนเมืองจักรยาน พร้อมกับขยายเพิ่มพื้นที่ใหม่ๆ ขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ เขตภาษีเจริญ สสส.ให้การสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกเป็นต้นแบบพื้นที่สุขภาวะชุมชนในเขตกทม. ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มกิจกรรมทางกาย และการออกกำลังกาย ด้านอาหาร และสิ่งแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์ โดยมีสถาบันการศึกษา ศวพช. ม.สยาม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน 
 
อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว นำไปสู่การจัดการข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ได้อย่างชัดเจน ทั้งช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น โดยสามารถเปลี่ยนพื้นที่รกร้างอันตรายเป็นแปลงผัก พื้นที่ออกกำลังกายของคนในชุมชน และยังสามารถยกระดับเป็นนโยบายของเขตภาษีเจริญในการพัมนาพื้นที่ ซึ่งสสส.คาดหวังว่าจะขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่นๆ ของ กทม.ต่อไป เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของคนเมืองกรุง