posttoday

แขกที่ไม่อยากเปิดประตูต้อนรับ

15 มกราคม 2560

เหตุเกิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา...บรรยากาศรอบบ้านของเราเงียบสงัด ไม่มีแม้แต่เสียงใบไม้ต้องลม แล้วจู่ๆ

โดย...มะลิ ณ อุษา เครือข่ายพุทธิกา http://www.budnet.org

เหตุเกิดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา...

บรรยากาศรอบบ้านของเราเงียบสงัด ไม่มีแม้แต่เสียงใบไม้ต้องลม แล้วจู่ๆ ก็มีแขกใส่ชุดดำมายืนเคาะประตูบ้าน เราเงี่ยหูฟังสักพัก แอบมองผ่านช่องว่างระหว่างบานหน้าต่างกับวงกบ ภาพที่เห็นทำให้เราค่อยๆ ถอยออกมาอย่างเงียบๆ

เราต่างเอนหลังพิงกำแพง แข้งขาอ่อนแรง หัวใจน่ะหรือ...หายไปตั้งแต่ตอนที่ได้ยินเสียงเคาะประตูแล้วน้ำตามาจากไหนไม่รู้ ไหลพรากๆ ไม่ยอมหยุด

ทุกข์มาเยือนแล้ว...

แม้จะไม่เปิดประตูต้อนรับ ทุกข์ก็ผ่านเข้ามาจู่โจมถึงตัวเราจนได้ ที่ผ่านมา เรามัวแต่หาวิธีปิดประตูให้แน่นหนา โดยหารู้ไม่ว่า ทุกข์ไม่ได้เข้ามาทางประตู

จากกลางเดือน ต.ค. ภายในเวลาเพียงสองสัปดาห์ เราผ่านการสูญเสียครั้งสำคัญถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกคือการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสำหรับครอบครัวของเราแล้ว พระองค์คือที่ยึดเหนี่ยวในการดำเนินชีวิตด้วยความเสียสละและเกื้อกูล คือต้นแบบแห่งวิถีพอเพียงและเรียบง่ายอย่างแท้จริง

และอีกหนึ่งการสูญเสีย คือ สมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักของเราเป็นการสูญเสียที่ค่อนข้างกะทันหัน สายใยแห่งความผูกพันได้ขาดสะบั้นลง โดยที่เราไม่ทันตั้งตัว เรา-ผู้เขียนและคนรัก เดินออกจากโรงพยาบาลแห่งนั้นด้วยความรู้สึกเบาโหวง กลับมาถึงบ้านด้วยความรู้สึกมึนงง...ใจหาย

ภาพเหตุการณ์ยังคงฉายชัด เย็นวันนั้นบ้านทั้งหลังเงียบเชียบ ราวกับไม่มีสิ่งมีชีวิต ทั้งที่เราสองคนก็ยืนอยู่ในนั้น หัวใจเหมือนถูกบีบ ทุกข์มันจุกแน่นในอกจนแทบจะหายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนกำลังจมลงไปในทะเลน้ำตา มันแสนจะหนืดและหน่วงหนักเวลาแต่ละนาทีผ่านไปอย่างเชื่องช้า ราวกับจะหยุดอยู่ ณ ขณะนั้น

สภาวะแห่งการสูญเสียหรือการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก คือสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญ แม้จะปิดกั้นป้องกันอย่างไรก็ตาม ความตายย่อมมาเยือนในสักวัน ไม่อาจหลีกเลี่ยง

ในห้วงเวลาอันยากลำบากนี้ สิ่งสำคัญที่เราใช้ประคับประคองกันและกัน คือ สติและเวลา เราตกลงกันว่า เราจะไม่เร่งรัดกัน หากใครคนใดคนหนึ่งตกอยู่ในภาวะเศร้าเสียใจ นั่งร้องไห้ ใครอีกคนก็เพียงแค่จับมือและนั่งอยู่ข้างๆ เท่านั้น ให้เวลาได้ไว้อาลัยต่อความผูกพันที่เรามีต่อกัน นี่คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ความรู้สึกและความทรงจำของเราไม่แหว่งวิ่น สิ่งที่ตกค้างในความสัมพันธ์ได้ถูกคลี่คลาย ไม่ถูกเก็บกดเอาไว้ข้างใน หากเราเพิกเฉยต่อช่วงเวลาอันละเอียดอ่อนนี้ สำหรับผู้เขียนแล้วมันอาจจะกลายเป็นแผลที่กลัดหนองไม่ยอมหาย เมื่อมีเหตุการณ์หรือสิ่งที่เข้ามากระทบให้ระลึกถึง มันจะเป็นความเจ็บปวดทุกครั้งไป

ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัย เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้เยียวยาความรู้สึก แม้ว่าจะค่อนข้างยาก เพราะมันจะเป็นการเยียวยาในรูปแบบที่ว่า พอมีอะไรเข้ามาสะกิด แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ น้ำตาก็พร้อมจะเอ่อไหลออกมาได้ทุกขณะ ยิ่งเป็นสมาชิกในบ้านด้วยแล้ว ทุกซอกทุกมุมย่อมมีเรื่องราวที่ให้ระลึกถึง ทั้งกิจวัตรประจำวันที่เราทำด้วยกัน บ่อยครั้งที่เราเผลอทำเหมือนเขายังคงอยู่ เรายังคงเตรียมอาหารเผื่อ เตรียมข้าวของเครื่องใช้ไว้ในที่ที่เคยอยู่ประจำ หลายคนอ่านแล้วอาจตั้งคำถามว่า มันจะเยียวยาได้อย่างไร มีแต่ความเจ็บปวดโหยหาอาลัยเต็มไปหมด อาจนึกเลยไปถึงว่า ผู้เขียนเพี้ยนไปหรือเปล่า

การที่ผู้เขียนให้ความสำคัญกับช่วงเวลานี้ก็เพราะว่า ในขณะที่เราคร่ำครวญโหยหา ก็จะเป็นโอกาสให้เราได้เห็นถึงความสำคัญและความดีของผู้ที่จากไป และเราจะค่อยๆ ยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้น วันต่อๆ มา ข้าวของหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่จากไป จะทำให้สะเทือนใจน้อยลง แต่จะแปรเปลี่ยนเป็นความคิดถึง แปรเปลี่ยนเป็นพลังให้เรากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ความคิดถึงอาจทำให้เราน้ำตาปริ่ม แต่ความคิดถึงจะไม่ซัดให้เราล้มคว่ำลงไปอีกครั้ง แต่ถ้าเราจะเป็นอย่างนั้นก็ไม่ผิดแปลกแต่อย่างใด (อืม...แต่ไม่ควรบ่อยและนานเกินไป)

และที่สำคัญ เมื่อวันหนึ่งพบว่าความคิดถึงน้อยลง ก็ไม่ควรตำหนิตัวเอง ไม่ควรพยายามเหนี่ยวรั้งความรู้สึกอาลัยอาวรณ์เอาไว้

เมื่อเราค่อยๆ ยอมรับการสูญเสียที่เกิดขึ้นตรงหน้าสติจะค่อยๆ มีกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มมองหาหรือให้ความหมายใหม่ต่อความสัมพันธ์ สำหรับครอบครัวของเรา ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่เราจะได้พูดถึงเรื่องความตายที่อาจมาเยือนใครคนใดคนหนึ่งก่อน เราจะเตรียมตัวอย่างไร เตรียมใจอย่างไร เราเริ่มบอกความต้องการของเรา ในวันที่อาจจะป่วยหนักจนไม่สามารถสื่อสารได้ และเราต่างก็มีสมุดแสดงเจตจำนง (Living will) ประจำตัวกันคนละเล่ม

ลึกๆ แล้ว เราไม่อาจปฏิเสธความสั่นไหวที่เกิดขึ้นภายใน เป็นความกลัวความทุกข์ กลัวความเจ็บปวด และที่สำคัญ กลัวเพราะรู้ว่าถึงอย่างไรก็ต้องเจอ ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเราได้ให้เวลากับความทุกข์ ให้ตัวเราเองค่อยๆ ทำความเข้าใจความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความกลัวก็จะค่อยๆ ลดลง (แต่คงยากที่จะหายไป)

เมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราจะพบบทเรียนที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ เราได้นำภาพทรงจำที่มีต่อผู้ที่จากไป ให้เข้ามาอยู่ในเนื้อตัว ทั้งความคิด ความฝัน ความดีงาม และความรัก ค่อยๆ หลากไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเรา ประหนึ่งว่าเขาได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในตัวเรา

สำหรับผู้เขียน การเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระองค์ท่าน เมื่อผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้าเสียใจมาระยะหนึ่งแล้ว ผู้เขียนได้ใคร่ครวญและพบว่า ความฝันที่มีอยู่เดิมได้ถูกกระตุ้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง และแน่นอนว่า ครั้งนี้มีพลังอันมุ่งมั่นที่จะลงมือทำให้สำเร็จให้จงได้

เช่นเดียวกับการจากไปของสมาชิกในครอบครัวของเรา ที่เข้ามาสำทับถึงคุณค่าของความรักความสัมพันธ์ คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ไม่ให้เราปล่อยเวลาของชีวิตให้ผ่านไปวันๆ เหมือนอย่างเคย

ยิ่งคิดถึง ให้ยิ่งทำงาน ให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้คนและสรรพสิ่ง

และเมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องเป็นผู้จากไป เราจะไม่เสียดายเวลาที่ผ่านมา และไม่ทิ้งความทุกข์ให้กับคนที่อยู่เบื้องหลังจนเกินไป ถึงที่สุดพวกเขาจะค้นพบวิธีการเยียวยาตัวเองและได้รับการส่งต่อพลังเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป เหมือนกับที่เรากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้

ต่อแต่นี้ไป ประตูบ้านเราจะเปิดกว้างสำหรับผู้มาเยือนเสมอ