posttoday

แบงก์จัดหนักพักชำระหนี้ ลูกค้าประสบอุทกภัย

14 มกราคม 2560

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระและบรรเทาทุกข์

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า มาตรการให้ความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระและบรรเทาทุกข์ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย การพักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 6 เดือน หรือการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 3 เดือน และดอกเบี้ยอัตราพิเศษสำหรับเงินทุนหมุนเวียน โดยลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มจะได้รับพิจารณาเป็นรายๆ ไป ในส่วนของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความเหมาะสมของลูกค้าแต่ละราย

สำหรับลูกค้าบุคคล ธนาคารมีมาตรการผ่อนผันให้ลูกค้าสินเชื่อบ้าน สินเชื่อสวัสดิการประเภทไม่มีหลักประกัน สินเชื่อแคชทูโก สินเชื่อเรดดี้แคช และบัตรเครดิต สามารถแจ้งความประสงค์ขอพักชำระหนี้ได้สูงสุด 3 เดือน และขยายระยะเวลาผ่อนชำระได้แล้วแต่ประเภทสินเชื่อ นอกจากนี้ ลูกค้าสินเชื่อบ้านยังสามารถขออนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อสร้างหรือซ่อมแซมบ้านที่เสียหายจากน้ำท่วมได้สูงสุด 20% ของมูลค่าหลักประกัน

ธนาคารได้ประกาศเปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผ่านบัญชีมูลนิธิทีเอ็มบี เลขที่ 001-9-35960-3 ชื่อบัญชี “มูลนิธิทีเอ็มบี เพื่อโครงการสาธารณกุศล” เพื่อนำไปมอบให้สภากาชาดไทยนำไปใช้ในการบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยธนาคารจะร่วมบริจาคสมทบเท่ากับยอดเงินที่ได้รับบริจาคเข้าบัญชีตามที่ปรากฏ ณ สิ้นวันที่ 31 ม.ค. 2560 ผู้บริจาคสามารถขอใบเสร็จจากมูลนิธิทีเอ็มบีเพื่อการลดหย่อนภาษีได้

ด้าน ศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดเผยว่า ธนาคารออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าประสบภัยน้ำท่วม โดยกลุ่มลูกค้ารายย่อย ประกอบด้วย 1.พักชำระเงินต้นสูงสุดนาน 12 เดือน หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระสูงสุด 12 เดือน และปรับลดอัตราการผ่อนชำระ 2.ให้วงเงินสินเชื่อ O/D ระยะเวลา 5 ปี และไม่ต้องชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน โดยปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MLR-1% ปีที่ 2-5 อัตราดอกเบี้ย MLR เพื่อนำไปปรับปรุง ฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหรือสถานประกอบการ

ด้านกลุ่มลูกค้าธุรกิจ มาตรการช่วยเหลือประกอบด้วย 1.พักชำระหนี้เงินต้นนานสูงสุด 12 เดือน หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้สูงสุด 12 เดือน และปรับลดอัตราการผ่อนชำระ 2.เพิ่มวงเงินสินเชื่อ O/D 20% ของวงเงินเดิมไม่เกิน 10 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ 3.ให้วงเงินสินเชื่อเพื่อปรับปรุง ฟื้นฟูธุรกิจ ระยะเวลา 3 ปี ดอกเบี้ยปีแรก 5% ปีที่ 2-3 MLR-1% และไม่ต้องชำระเงินต้นสูงสุด 6 เดือน

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) วิเคราะห์ผลกระทบล่าสุดจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ว่าจะเป็นผลบวกต่อกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ผลลบต่อกลุ่มธนาคาร สถาบันการเงิน และค้าปลีก

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง คือ ความต้องการวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพื่อการซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม ส่วนกลุ่มค้าปลีกคาดว่าจะได้รับผลกระทบปานกลาง ผลกระทบหลัก คือการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวลงจากปัญหาในการเดินทางและกำลังซื้อที่ลดลง สาขาของค้าปลีกที่มีขนาดใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยส่วนใหญ่ร้านค้าปลีกจะมีประกันภัยความเสียหายของทรัพย์สินและประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักในกรณีที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ (เช่น เส้นทางเข้า-ออกสาขาถูกน้ำท่วม)

กลุ่มอาหารคาดว่าจะได้รับผลกระทบปานกลางโดยผลกระทบหลัก คือภาวะน้ำท่วมส่งผลกระทบให้ ความต้องการ การบริโภคลดลงจากปัญหาการขนส่งสินค้า และทำให้ราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลง

ทางด้านกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินคาดผลกระทบไม่มาก โดยผลกระทบหลักคือเรื่องหนี้เสีย  เนื่องจากประชาชนอาจไม่สามารถเดินทางเพื่อไปชำระคืนหนี้ตามเวลาได้ รวมถึงผลกระทบจากที่อาจเกิดจากการสูญเสียรายได้ทั้งภาคเกษตรและบริการ ดังนั้น คาดว่าจะเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าสถาบันการเงินจะจัดการได้ ล่าสุดเห็นนโยบายของรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือบ้างแล้ว

กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ คาดผลกระทบไม่มาก ผลกระทบหลัก คือ การชะลอตัวของยอดขายโครงการในภาคใต้ บริษัทที่อาจได้รับผลกระทบ กลุ่มพลังงาน คาดผลกระทบไม่มาก ผลกระทบหลัก คือ การใช้น้ำมันลงสู่ภาคใต้ที่ลดลงชั่วคราว ส่วนโรงไฟฟ้าไม่กระทบ

กลุ่มไอซีที คาดผลกระทบไม่มาก ผลกระทบหลัก คือ โครงข่าย และการเดินทาง บริษัทที่อาจได้รับผลกระทบ คือ ผู้ประกอบการ ไฟเบอร์ออฟติก ยังไม่มีรายงานความเสียหาย หรือระบบมีปัญหาให้เห็น ในขณะที่กลุ่มไอที ดิสทริบิวชั่น น่าจะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกับกลุ่มค้าปลีกทั่วไป ที่จะมีช่วงอ่อนตัวลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่มีสาขาทั่วประเทศจึงน่าจะพอกระจายความเสี่ยงได้ดี