posttoday

จับตาโมเดลใหม่แก้ปัญหาไฟใต้

02 มกราคม 2560

ถ้าไม่มีความผิดพลาดเรื่องนโยบายต่างๆ ก็น่าจะมีความหวังสู่ทางสงบและสันติภาพเกิดขึ้น”

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ในช่วงตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์พื้นที่ปลายด้ามขวานถูกแบ่งเป็นสีแดง เหลือง เขียว ตามความรุนแรงแต่ละพื้นที่ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ครู และพลเรือน ต่างต้องสังเวยชีวิต ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากมาย สะท้อนถึงปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน แม้หลายภาคส่วนจะถอดบทเรียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเด็นต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถคลี่คลายลงได้

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นักวิชาการผู้เกาะติดเรื่องราวความรุนแรงความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้มาโดยตลอด มองทิศทางสถานการณ์ความรุนแรงในปี 2560 อย่างน่าสนใจว่า เหตุการณ์จะถูกแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.เกิดเหตุความรุนแรงในบางช่วงเวลา และ 2.เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงใหญ่โต จึงคาดว่าเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้จะยังคงที่

เหตุการณ์ในปี 2560 จะค่อนข้างนิ่ง แต่เกิดเหตุรุนแรงฉับพลันแบบคาดไม่ถึงในบางช่วงเวลา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งอาจจะเกิดจากการตอบโต้โจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ผลจากนโยบายการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม เพื่อควบคุมความรุนแรง และขึ้นอยู่กับการพูดคุยสันติภาพว่ามีความคืบหน้ามากน้อยเพียงใด ถ้าการพูดคุยคืบหน้ามากอาจช่วยผ่อนเบาลดความรุนแรงลงได้

นักวิชาการด้านความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ ระบุว่า โดยภาพรวมปี 2558-2559 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในลักษณะใกล้เคียงกัน เพียงแต่ในปี 2559 เกิดเหตุการณ์รุนแรงใหญ่ขึ้นหลายครั้งจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ จึงทำให้ความถี่เหตุการณ์สูงขึ้นแต่ไม่มากนัก

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลสำคัญว่ากลุ่มคนร้ายก่อเหตุรูปแบบคาร์บอมบ์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งตามสถิติการก่อเหตุระเบิดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือคาร์บอมบ์ โดยในปี 2559 มีการก่อเหตุรูปแบบคาร์บอมบ์มากที่สุด เนื่องจากเป็นช่องทางหนึ่งที่สบช่องปฏิบัติการได้ แม้ฝ่ายรัฐมีการป้องกันระมัดระวังตลอดเวลา

ศรีสมภพ ระบุอีกว่า ข้อกังวลและสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในปีนี้ คือ 1.การพูดคุยสันติสุข คือหัวใจหลักในการขับเคลื่อนปัญหา รวมถึงการสร้างพื้นที่พูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐในภาคประชาสังคม เพื่อถ่วงไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงและขยายตัวออกไป ต้องเป็นรูปธรรมจัดการกับปัญหาได้ 

ถัดมา 2.การรับฟังเสียงจากคนในพื้นที่ โดยรับฟังจากภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ส่วนปกครองท้องถิ่น ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ และเน้นการให้มีส่วนร่วมของประชาชนเช่นกัน หรือการดึงเสียงจากคนข้างล่าง (ประชาชน) สู่ระดับนโยบาย ไม่อย่างนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะไม่ยั่งยืน 

3.ปัญหาเรื่องยาเสพติด เพราะมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ แม้ว่ารัฐบาลจะปราบปรามก็ตาม แต่ประชาชนยังรู้สึกว่า ยังมียาเสพติดระบาดอยู่และไม่ได้ลดลง ดังนั้นรัฐบาลต้องมุ่งแก้ไข แม้อาจไม่เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงแต่มันคือเรื่องสภาพแวดล้อมและการสร้างแวดล้อมให้ดีขึ้น

และ 4.เรื่องคุณภาพชีวิต ยังมีเรื่องของอาชีพและความยากจน เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข เนื่องจากเพราะข้อมูลตัวชี้วัดเรื่องคุณภาพชีวิตในชายแดนใต้ ยังมีความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก

สถานการณ์จะคลี่คลายไปในทางที่ดีแค่ไหน ศรีสมภพ ให้ความเห็นว่า ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายส่วน โดยหากองค์ประกอบเกิดด้านบวก เช่น นโยบายสันติภาพ การแก้ปัญหาความยุติธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ทำได้ดี และถ้าไม่อะไรผิดพลาดคาดประมาณอีก 5-10 ปี พื้นที่ปลายด้ามขวานน่าจะดีขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการปรับตัวนาน 

“ที่ผ่านมาถือว่าการแก้ไขปัญหาอยู่ในระดับดีประคองไม่ให้แย่กว่านี้ เราต้องอย่าลืมว่าปัญหาในพื้นที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน มันสะสมมาเยอะ จึงยากที่จะถมให้มันเต็มให้มันสมดุล ถ้าไม่มีความผิดพลาดเรื่องนโยบายต่างๆ ก็น่าจะมีความหวังสู่ทางสงบและสันติภาพเกิดขึ้น” ศรีสมภพ กล่าว

กรณีที่เกรงว่าจะมีกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งเหมือนกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอซิส ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่า ด้วยเงื่อนไขในปัจจุบัน โอกาสที่กลุ่มเหล่านี้จะมีบทบาทสร้างความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปได้ยาก แต่ยอมรับว่าอาจมีกลุ่มความคิดบางส่วนแต่น้อยมาก ด้วยสภาพแวดล้อมทางการเมือง  นโยบายการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ถูกจัดการวางไว้อย่างรัดกุมระมัดระวัง โอกาสที่กลุ่มหัวรุนแรงหรือสุดโต่งเรื่องศาสนา ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นไปได้ยาก

ส่วนการส่งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ส่วนหน้า หรือคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลส่วนหน้านั้น หากมองในแง่นโยบายถือว่าเป็นสิ่งที่ไปช่วยเสริมการทำงาน ในการประสานการบริหารนโยบายในพื้นที่ให้เกิดความเป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพ และเห็นผลมากขึ้น 

“โรดแมปมีเป้าหมายการพัฒนาโครงการต่างๆ ถือว่ารัฐบาลเตรียมการได้ละเอียด และมีแผนการทำงานดี ถ้ามองอีกแง่คล้ายกับว่าเป็นการ ‘ปกครองแบบพิเศษ’ ด้วย เพราะมีการจัดการแบบพิเศษ มีคณะทำงาน มีผู้แทนของรัฐบาลที่มาดูแลและมีงบประมาณโดยตรง จึงคิดว่าน่าจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการแบบพิเศษ โดยเป็น ‘การปกครองแบบพิเศษในเชิงรวมศูนย์’ ไม่ใช่การปกครองพิเศษแบบการ ‘กระจายอำนาจ’ ในปี 2560 ต้องมีการประเมินอีกครั้ง” ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุ

เช่นเดียวกับโมเดล “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล คสช.เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุเช่นกันว่า ปัจจุบันยังไม่เห็นรูปธรรม เพราะเพิ่งเริ่มต้นคิดว่าต้องดูในปี 2560เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม เพราะรูปธรรมที่ทราบปัจจุบันคือแผนและโครงสร้างต่างๆ รวมถึงงบประมาณที่จะทำ แต่ยังไม่เห็นผลจากนโยบาย ต้องรอการประเมินอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน ในปี 2560 ตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นไป ต้องจับตาดูเรื่องการปฏิบัติต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถประเมินได้ว่ารัฐบาลสามารถทำได้จริงหรือไม่ และนี่เป็นครั้งแรกที่กลไกนโยบายทุกอย่างของรัฐบาล คสช. ถูกจัดไว้อย่างเป็นระบบมากที่สุดตั้งแต่มีการยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ดังนั้นกลไกต่างๆ เพิ่งถูกเซตขึ้นมาใหม่