posttoday

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"

25 ธันวาคม 2559

"กะเหรี่ยงบางกลอย"ในวันที่ประสบวิบากกรรมซ้ำซาก ถูกจำกัดพื้นที่-ขาดแคลนน้ำ-ปลูกข้าวไม่ได้

เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์

เอ่ยชื่อ “หมู่บ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี” หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตาจากข่าวใหญ่ครึกโครมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีที่ผ่านมา  

เริ่มจากปี 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนำกำลังเข้าไล่รื้อเผาทำลายบ้านของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยซึ่งติดกับชายแดนเมียนมา โดยอ้างว่าบุกรุกป่า นำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม เนื่องจากชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในผืนป่ามานานนับร้อยปีแล้ว

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ทหารตก 3 ลำจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ต่อมาปี 2557 บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกะเหรี่ยงบางกลอยถูกอุ้มหายลึกลับ ก่อนที่บรรดาเอ็นจีโอและองค์กรสิทธิมนุษยชนจะเข้าช่วยเหลือจนเป็นกระแสสังคม 

ใครจะเชื่อ แม้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย แต่วันนี้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมซ้ำแล้วซ้ำเล่า

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"

 

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด 

"สมัยอยู่บางกลอยบน (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าใจแผ่นดิน) เป็นป่าดิบ น้ำดี ดินดี อุดมสมบูรณ์มาก เราทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าว พริก เผือก มัน หมาก ขนุน มะม่วง ทุเรียน หิวก็จับปลาในแม่น้ำ แทบไม่ต้องใช้เงินเพราะมีกินตลอดทั้งปี ปลูกกระท่อมเล็กๆอยู่อย่างอิสระ แต่หลังถูกบังคับให้ย้ายมาอยู่บางกลอยล่าง วิถีชีวิตพวกเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ แถมยังเป็นดินลูกรัง แข็งจนปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น น้ำก็ขาดแคลน ทำให้ชาวบ้านปลูกข้าวไม่ได้ ไม่มีข้าวกิน ทุกวันนี้ต้องซื้อข้าวสารกินถังละ 240 บาท"

อภิสิทธิ์ เจริญสุข กะเหรี่ยงหนุ่มแห่งบ้านบางกลอย ระบายความอัดอั้นตันใจ

เขาบอกว่ารู้สึกเจ็บปวดมาก อยู่ในป่า อยู่ท่ามกลางธรรมชาติอุดมสมบูรณ์แท้ๆ แต่กลับต้องอัตคัตขัดสน หาอยู่หากินไม่ได้

ไม่เพียงแต่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่ในที่ที่รัฐจัดสรรให้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังเพาะปลูกอะไรก็ยาก ชาวบางกลอยกว่า 57 ครอบครัวยังต้องเจอปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรกรรม เนื่องจากมีอุปสรรคเรื่องการสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นมายังหมู่บ้าน 

สวนกล้วยเขียวเหลืองเรียงราย บางต้นใบรุ่งริ่ง บางต้นหวีเหี่ยว ต้นมะนาวลูกเล็กแคระแกร็น พริกพรานไม่อวบอูมอย่างที่ควร ไกลลิบๆเป็นนาข้าวแห้งโกร๋นวังเวง แพะ พุกาด หนุุ่มใหญ่วัย 45 แหงนมองถังน้ำบนเนินเขาด้วยแววตาเศร้าสร้อย

"พอดินไม่ดี น้ำไม่มี กล้วยก็ลูกลีบเล็ก ตลาดเขาก็ไม่เอา การปลูกพืชทดแทนมันแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำคัญที่สุดคือน้ำ ทำยังไงให้มีน้ำเพียงพอ ผมอยากให้มีระบบประปาภูเขา หาวิธีดึงน้ำจากห้วยขึ้นมาให้มันไหลตลอดทั้งวันทั้งคืน ถ้ามีน้ำก็ปลูกข้าวได้ ... น่าร้องไห้นะจากที่เคยปลูกข้าวไร่ มีกินตลอดทั้งปี วันนี้กลับต้องมาซื้อข้าวเขากิน"

เขาหัวเราะขมขื่นให้กับชะตากรรมชีวิต

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"

 

ระบบประปาภูเขา

"ทุกวันนี้เราใช้ระบบโซลาเซลล์ดึงน้ำจากแม่น้ำขึ้นมาไว้ในบ่อ แต่ปัญหาคือ วันไหนไม่มีแสงอาทิตย์ก็สูบน้ำไม่ได้ วันไหนแดดน้อยก็สูบได้น้อย ปีนี้แล้งมาก ฝนไม่ตกติดต่อกันนาน 2 เดือน แถมบ่อกักเก็บน้ำก็ยังเล็ก ปริมาณน้ำเลยไม่พอให้ชาวบ้านทำการเกษตรได้"

นิรันด์ พงษ์เทพ อดีตผู้ใหญ่บ้านบางกลอย พูดถึงข้อเสนออันจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวบ้าน

"เราเคยประชุมกันว่าทางออกควรจะใช้วิธีผันน้ำจากห้วยยายโป่งซึ่งมีน้ำไหลตลอดทั้งปี แต่ติดขัดเรื่องบประมาณ เพราะระยะทางจากห้วยมายังหมู่บ้านไกลถึง 14 กิโลเมตร ต้องใช้เงินเยอะ เคยเสนอไปยังจังหวัด เขาคำนวณตัวเลขออกมาว่าต้องใช้งบถึง 50-60 ล้าน แต่ผมว่าใช้แค่ 5-10 ล้านก็น่าจะพอแล้ว ซื้อแค่เครื่องสูบ ท่อยาง ชาวบ้านลงแรงช่วยกันติดตั้งกันเอง เสียก็ซ่อมง่าย ไม่เหมือนโซลาเซลล์ที่พังทีก็คงไม่มีปัญญาซ่อม"

อดีตผู้ใหญ่บ้านบางกลอย ทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆทดลองกันมาหลายวิธีแล้วแต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จ ถึงเวลาที่ควรฟังความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านบ้าง

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย" นิรันด์ พงษ์เทพ

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"

 

เกิดในป่า ขอตายในป่า

ข้าวเปลือกกองสูงถูกนำมารวมกันที่ลานกลางหมู่บ้าน ชายชราในชุดพื้นบ้านกะเหรี่ยงเดินร่ายรำรอบกองข้าว 3 รอบ ก่อนแบกข้าวเปลือกขึ้นไปเทบนยุ้งฉาง โดยมีเหล้าขาว ไข่ต้ม ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด ไก่เป็นเครื่องเซ่นไหว้ ท่ามกลางสายตาเพื่อนบ้านหลายสิบชีวิตที่มาให้กำลังใจ ทั้งหมดนี้เป็นพิธีเรียกขวัญข้าว ประเพณีดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ

"ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่นี่ ชาวบ้านไม่ค่อยได้ทำพิธีเรียกขวัญข้าวเลย เพราะที่นี่ปลูกข้าวไม่ได้ ปีนี้มีแค่ 2 ครอบครัวเท่านั้นที่ปลูกได้ เลยต้องทำพิธีเพื่อขอบคุณพระแม่โพสพ วันหน้าเราจะได้ปลูกได้อีก เพราะข้าวมีความสำคัญต่อชาวกะเหรี่ยงมาก ถ้าไม่มีข้าว เราก็คงอยู่ไม่ได้" ลุงทองดี หัวหน้าครอบครัวที่ปลูกข้าวได้ บอกด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

เรื่องน่ายินดีอีกประการก็คือ หลังจากได้ข่าวความทุกข์ยากจากการปลูกข้าวไม่ได้ของพี่น้องร่วมกลุ่มชาติพันธุ์ ปีนี้เครือข่ายชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือจึงนำข้าวเปลือก 16 กระสอบมาบริจาคให้ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจาน สร้างความปลาบปลื้มดีใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก

"รู้ข่าวพี่น้องบางกลอยปลูกข้าวไม่ได้ ก็เลยรวบรวมข้าวที่เราปลูกได้ทางภาคเหนือมาบริจาค คิดเพียงแต่ว่าเป็นชาวกะเหรี่ยงด้วยกัน และเรายังให้ความเคารพรักปู่คออี้ในเรื่องที่แกยืนหยัดต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เมื่อพี่น้องเดือดร้อน ก็ต้องดูแลกัน" สรศักดิ์ เสนาะพรไพร ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงจากภาคเหนือ เล่าให้ฟัง

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย" ปู่คออี้ มีมิ


ปู่คออี้ มีมิ วัย 106 ปี ผู้อาวุโสที่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยให้ความนับถืออย่างสูงสุด นั่งเหม่อมองดูพิธีเรียกขวัญข้าว แกขอบอกขอบใจความช่วยเหลือจากพี่น้องทางภาคเหนือที่นำข้าวมาให้

"คนที่มาช่วย ก็ขอให้ได้ดี มีความเจริญต่อไป"

ปู่คออี้บอกว่า เติบโตในป่า ก็อยากตายในป่า ทุกวันนี้ยังคิดอยากกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน หรือใจแผ่นดินอยู่ตลอดเวลา คิดถึงต้นไม้ คิดถึงภูเขา ทำไร่ในป่าไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร แค่ทำมาหากินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยงเท่านั้นเอง

ไม่รู้ว่าชาวบ้านบางกลอยจะต้องเผชิญกับวิบากกรรมไปอีกนานแค่ไหน ทั้งการจำกัดพื้นที่หาอยู่หากิน ผืนดินอันแล้งแห้ง น้ำท่าขาดแคลน ชีวิตของพวกเขาในวันนี้ช่างน่าเห็นใจยิ่งนัก.

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"

 

วิบากกรรมซ้ำซากของ"กะเหรี่ยงบางกลอย"