posttoday

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจัดพิธีเรียกขวัญข้าวฟื้นกำลังใจชุมชน

05 ธันวาคม 2559

ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี จัดพิธีเรียกขวัญข้าวหวังให้กำลังใจชุมชน หลังพื้นที่ทำนาไม่ได้เพราะมีน้ำไม่พอทำการเกษตร เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำระบบประปาภูเขา

ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี จัดพิธีเรียกขวัญข้าวหวังให้กำลังใจชุมชน หลังพื้นที่ทำนาไม่ได้เพราะมีน้ำไม่พอทำการเกษตร เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำระบบประปาภูเขา

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ระหว่างวันที่ 3-4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งถูกโยกย้ายจากบ้านบางกลอยบนมาอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ได้ทำพิธีเรียกขวัญข้าว ซึ่งเป็นกิจกรรมดั้งเดิมที่ทำสืบต่อกันมา แต่ขาดหายไปเนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถปลูกข้าวได้เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรใหม่เป็นดินลูกรังและขาดแคลนน้ำ ซึ่งปีนี้เหลือเพียง 2 ครอบครัว จาก 57 ครอบครัว ที่ปลูกข้าวได้ โดยมีกลุ่มศิลปินอิสระและเครือข่ายกะเหรี่ยงจากภาคเหนือนำข้าวสารมาร่วมบริจาคสมทบ

ทั้งนี้พิธีการเรียกขวัญข้าวเริ่มขึ้นในเวลา 16.00 น. โดยครอบครัวที่เป็นเจ้าของข้าวได้นำข้าวเปลือกเก็บเกี่ยวได้ในปีนี้มากองรวมกันไว้ โดยมีเครื่องมือต่างๆ เช่น พัด มีด ร่วมถึงไข่ต้ม เหล้าขาว วางไว้บนยอดกองข้าวเปลือก จากนั้นหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้เริ่มต้นขนข้าวเปลือกขึ้นไปยังยุ้งฉางที่เตรียมไว้ 3 รอบ โดยขนข้าวเปลือกแต่ละครั้งจำนวนไม่มาก เพื่อให้ข้าวในกองและข้าวในยุ้งฉางไม่แตกต่างกันเร็วเกินไป หลังจากที่หัวหน้าครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวช่วยกันขนจนครบ 3 รอบ จากนั้นเพื่อนบ้านต่างมาช่วยกัน ทำให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก

ก่อนขนข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางจนหมด หัวหน้าครอบครัวเจ้าของข้าวได้เดินรอบยุ้งฉางอีก 3 รอบเพื่อแสดงความเคารพพระแม่โพสพ จากนั้นจึงขึ้นไปทำพิธีสักการะเจ้าแม่โพสพบนยุ้งฉางอีกครั้งโดยมีข้าวปลาอาการต่างๆ เช่น ไข่ต้ม ข้าวหลาม ข้าวต้มมัด เหล้าข้าว ไก่ ซึ่งหลังจากที่เลี้ยงแม่โพสพเสร็จ ได้มีการนำข้าวปลาอาหารแจกจ่ายให้ชาวบ้านกินกันอย่างสนุกสนาน ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนต่างเล่นดนตรีประจำถิ่น เช่น แคน เตหน่า และขับร้องเพลงกันอย่างมีความสุข

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจัดพิธีเรียกขวัญข้าวฟื้นกำลังใจชุมชน

นางกาเอ อายุ 45 ปี 1 ใน 2 ครอบครัวที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตในปีนี้ และได้ทำพิธีเรียกขวัญข้าว กล่าวว่า ครอบครัวของตนพอปลูกข้าวได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องทำพิธี ซึ่งปู่ย่าตายายได้ทำมาเราก็ต้องก็ทำ เพราะวันข้างหน้าจะได้มีข้าวกิน บนแผ่นดินนี้คนเติบโตมาก็เพราะข้าว หากไม่มีข้าวคนอยู่ไม่ได้ ตอนอยู่ที่บางกลอยบน เมื่อทำพิธีเรียกขวัญข้าว คนมาช่วยกันในชุมชน เมื่อก่อนทำไร่หมุนเวียนได้ข้าวกองใหญ่มากกว่าที่ทำตอนนี้หลายเท่า พ่อแม่ฝากฝังไว้ว่าข้าวอย่าขายแพง ขายแพงไม่ดี ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะไม่มีข้าวกิน คนยากคนจนจะไม่ได้กิน

“เมื่อก่อนอยู่ใจแผ่นดิน (หรือที่เรียกว่าคลีคี้ ต้นแม่น้ำคลี-แม่น้ำบางกลอย ส่วนหนึ่งของต้นน้ำเพชรบุรี) อยู่กันไม่กี่หลังคา ก็สุขสบายใจ ไม่เคยใช้ยาหรือปุ๋ย ข้าวและพืชไร่ก็เติบโตสมบูรณ์ ใช้แต่น้ำฝนอย่างเดียว  ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว แต่ละบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ไม่มีใครมาทำลายพืชผลหรือลักขโมย เมื่อย้ายลงมาที่นี่ (บางกลอยล่าง) ไม่รู้ใครเอา ปลูกพืชผลไว้ก็โดนลักไป” นางกาเอ กล่าว

ขณะที่นายปรุ จิบ้ง อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านบางกลอยไม่สามารถปลูกข้าวได้พอกิน เนื่องจากผืนดินที่ได้รับการจัดสรรส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง เมื่อทำข้าวไร่ก็ไม่ได้ผลเพราะสภาพอากาศร้อน พอต้นข้าวขึ้นมาได้สัก 1 สัปดาห์ก็จะเหลืองและตาย ขณะที่พื้นที่ลุ่มซึ่งเหมาะสมสำหรับทำนามีเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ชาวบ้านอีกหลายครอบครัวยังไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินหรือได้รับไม่ครบตามที่สัญญาไว้ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านต้องซื้อข้าวสารกินในราคาถังละ 240 บาท โดยซื้อราคาที่ต่ำกว่าตลาดเนื่องจากก่อนหน้านี้ทางจังหวัดเคยให้ข้าวมา 200 กระสอบ ชาวบ้านจึงนำมาเป็นกองทุนหมุนเวียนซื้อ-ขายข้าวในราคาต่ำกว่าตลอด

“สมัยที่เราอยู่ข้างบน เรามีข้าวกินตลอดปี ผมอยู่ที่บางกลอยบนจนอายุ 20 ปีจึงถูกย้ายลงมา เรามีไร่หมุนเวียน บ้านก็ย้ายไปตามไร่ ไม่ปลูกถาวร อยู่อย่างมาก 3 ปี อยู่ไปต้นไม้ก็โตแล้ว ไร่หมุนเวียนประมาณ 10 ปี มีไร่เยอะ เราอยู่มานานหลายชั่วคน ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีหลักฐานทั้งหลุมฝังศพ และต้นไม้ที่ปลูกไว้ สวนผลไม้ หมาก ขนุน ทุเรียน มะม่วง  แต่เราไม่มีสิ่งก่อสร้างถาวร”นายปรุกล่าว

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจัดพิธีเรียกขวัญข้าวฟื้นกำลังใจชุมชน

นายนิรันดร์ พงษ์เทพ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง และอดีตผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำทีใช้ทำการเกษตรใช้ระบบโซลาเซลล์ผันน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นไปพักไว้ในบ่อ แต่มีข้อจำกัดคือเมื่อไม่มีแสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ปริมาณน้ำที่ได้น้อยและไม่เพียงพอต่อการทำเกษตรที่ส่วนใหญ่ที่ดินแห้งแล้ง ดังนั้นชาวบ้านจึงคิดว่าทางออกหนึ่งคือการผันน้ำจากห้วยยายโป่งซึ่งมีน้ำไหลทั้งปีมาใช้แบบกาลักน้ำ แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณเพราะระยะทางจากห้วยยายโป่งมาถึงพื้นที่ยาว 14 กิโลเมตร

นายนิรันดร์กล่าวว่า ชาวบ้านเคยเสนอเรื่องนี้ไปที่จังหวัด แต่กรมชลประทานคำนวณตัวเลขออกมาบอกว่าต้องใช้งบประมาณถึง 60 ล้านบาท แต่ชาวบ้านคิดว่าหากมีงบประมาณ 5-10 ล้านบาทก็เพียงพอ เพราะชาวบ้านจะร่วมกันใช้แรงงานทั้งหมด

“หากเราต่อประปาภูเขาแบบนี้มาจะได้ประโยชน์มากมาย น้ำที่รั่วไหลก็ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ต้นไม้ตลอดแนวจะได้ขึ้น น้ำก็มีมากและไหลตลอด สามารถแยกไปตามไร่ชาวบ้านได้เพียงพอ ผมคิดว่าหน่วยงานต่างๆทดลองกันมาหลายวิธีแล้ว เครื่องสูบน้ำ 4 สูบที่ซื้อมาราคากว่า 1 ล้านก็มาวางทิ้งไว้ริมแม่น้ำโดยไม่ได้ใช้ ถึงว่าเวลาที่ควรฟังความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านบ้าง”นายนิรันดร์ กล่าว

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจัดพิธีเรียกขวัญข้าวฟื้นกำลังใจชุมชน

ด้านนายคออี้ มีมิ หรือปู่คออี้ กล่าวว่า เวลานี้สุขภาพไม่ค่อยดี และสายตามมองไม่ค่อยเห็น รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ข้างในอยู่บ่อยๆ ซึ่งตนเองก็ไม่ต้องการอะไรแล้ว แค่อยากกลับบ้าน แม้จะไม่มีแรงเดินไปแล้ว

“สมัยก่อนเราอยู่ในป่า เติบโตมาในป่า ก็อยากตายในป่า คิดถึงต้นไม้ในป่า เพราะต้นไม้ที่นั่นกับที่นี่ไม่เหมือนกัน แม้มีเถาวัลย์ แต่ก็ไม่เหมือนกัน เหมือนคนแต่งตัวไม่เหมือนกัน ปู่คิดถึงต้นหมากที่ปลูกไว้ คิดถึงภูเขาหินด้วย พวกเราชาวปกากญอ ถ้าทำไร่ไม่ได้ ก็ไม่มีอะไรกิน  เราทำไร่ในป่าไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร แค่ทำมาหากิน ย้ายมาอยู่นี่ (บางกลอยล่าง) ทำกินไม่ได้ เราก็จะตาย”ปู่คออี้กล่าว

ทั้งนี้ผู้แทนกลุ่มศิลปินได้นำภาพวาดปู่คออี้มอบให้กับปู่คออี้ และเล่าถึงการจัดกิจกรรมวาดรูปและนิทรรศการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจและมีผู้ร่วมวาดรูปปู่คออี้จำนวนมาก ซึ่งทันทีที่เล่าจบ ปู่คออี้ได้พนมมือและขอบคุณเป็นภาษากะเหรี่ยง และยังกล่าวด้วยว่า

“คนที่มาช่วย หากทำดีก็จะได้ดี ขอให้ได้ดี มีความเจริญต่อไป ทำความดี ความซื่อตรง สิ่งที่ไม่ดีไม่เคยคิด ลูกของปู่ถูกทำให้ตายไป 2 คนแล้วแต่ปู่ไม่เคยทำร้ายใคร ปราถนาแค่ให้คนรักกัน ให้อภัยกัน”

ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยจัดพิธีเรียกขวัญข้าวฟื้นกำลังใจชุมชน