posttoday

เร่งกันกัดเซาะบางขุนเทียน หวั่นแผ่นดินหายลามถึง ถ.พระราม 2

24 พฤศจิกายน 2559

“หลักเขตกรุงเทพมหานคร”หลักที่ 28 เขตบางขุนเทียนเดิมปักอยู่บนแผ่นดินแบ่งเขตกับ จ.สมุทรปราการ แต่ปัจจุบันกลับปักอยู่กลางเวิ้งน้ำย่อมเป็นประจักษ์พยานปัญหาที่ดินถูกน้ำทะเลกัดเซาะในพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างดี

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

“หลักเขตกรุงเทพมหานคร”หลักที่ 28 เขตบางขุนเทียนเดิมปักอยู่บนแผ่นดินแบ่งเขตกับ จ.สมุทรปราการ แต่ปัจจุบันกลับปักอยู่กลางเวิ้งน้ำ ย่อมเป็นประจักษ์พยานปัญหาที่ดินถูกน้ำทะเลกัดเซาะในพื้นที่บริเวณนี้เป็นอย่างดี

ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน 1 ใน 50 เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยธรรมชาติครั้งสำคัญที่ทำลายผืนดินของประเทศให้สูญหายไปเฉลี่ยปีละประมาณ 25 เมตร หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

พื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนมีระยะทางยาวกว่า 4.7 กิโลเมตร และกว่า 20 ปีที่ผ่านมาพื้นที่ถูกคลื่นเซาะไปแล้วกว่า 900 เมตร อีกทั้งยังเกิดการทรุดตัวของดินปีละกว่า 1-2 เซนติเมตร หากไม่เร่งแก้อาจเกิดการกัดเซาะไปถึงพื้นที่รอบๆ ถนนพระราม 2

แม้ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งการคืบคลานกัดเซาะนี้ลงได้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในอดีตบริเวณเขตบางขุนเทียนมีป่าชายเลนกว่า 2,735 ไร่ แต่ปัจจุบันเหลือจำนวนป่าชายเลนเพียง 300 ไร่ ทำให้เกิดปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะไม่หยุดหย่อน ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาคือเพิ่มจำนวนป่าชายเลนของ กทม. ให้ได้มากที่สุดอย่างน้อย 1,000 ไร่ โดยจะขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้ร่วมกันปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ทดแทนป่าชายเลนที่สูญเสียไป และจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องรองบประมาณของภาครัฐ

เร่งกันกัดเซาะบางขุนเทียน หวั่นแผ่นดินหายลามถึง ถ.พระราม 2

ทั้งนี้ กทม.จะตั้งกองทุนเพื่อปลูกป่าชายเลน เข้ามาจัดหากล้าไม้ วัสดุที่ใช้ในการปลูกป่าชายเลน และร่วมกับนักวิชาการวางแนวทางการปลูกต้นไม้ชนิดที่เหมาะสมกับพื้นที่และระบบนิเวศมากที่สุด โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นการทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบหลัก สำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนคือการต้องสร้างแนวเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กทีกรอยน์ (T-Groins) ตามแนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ระยะทางรวม 4.7 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมาได้นำเสนอผลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เป็นครั้งที่ 3 แล้วแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งโครงการดังกล่าวถูกออกแบบให้มีการก่อสร้างเขื่อนมีความยาวออกมาจากชายฝั่งประมาณ 50-300 เมตร คาดว่าใช้งบประมาณ 1,535 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างแนวกั้นเขื่อนต้องใช้เวลาอีกยาวนานดังนั้นสิ่งที่เป็นมาตรการป้องกันชายฝั่งเบื้องต้น สามารถลงมือทำได้ทันที อีกทั้งมีราคาไม่แพง คือ การปักไม้ไผ่จำนวนมากเพื่อสกัดกั้นคลื่นความแรงของน้ำให้ลดลง ทั้งนี้ทำให้เกิดการสะสมตะกอน ทว่าไม้ไผ่มีข้อด้อยอยู่ที่อายุการใช้งานสั้นเพียงแค่ 5 ปีจะเริ่มผุพังและต้องซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ

แนวทางถัดมาคือ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำหนดพื้นที่ปลูกป่าชายเลน ด้วยการวัดความลึกและตื้นเขินของผืนดินใต้น้ำ เพราะไม่สามารถปลูกป่าชายเลนในความลึกที่ 1.3 เมตรได้ ดังนั้นหากพื้นที่ใดยังมีความลึกอยู่มาก ต้องใช้เวลาให้เกิดตะกอนสะสมก่อนจึงจะเริ่มขยายพื้นที่ปลูกป่าชายเลยได้

เร่งกันกัดเซาะบางขุนเทียน หวั่นแผ่นดินหายลามถึง ถ.พระราม 2

 

“สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในขั้นรุนแรง ทาง กทม.จึงต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้นด้วยการปักไม้ไผ่ เพื่อให้เกิดตะกอนสะสม ขั้นตอนต่อมาคือปลูกป่าชายเลน ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจะต้องสร้างเขื่อนแนวกั้นชายฝั่ง ที่ผ่านมามีกระบวนการป้องกันชายฝั่งมาโดยตลอด และ กทม.พยายามศึกษามาโดยตลอด เช่น เชิญผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำ เนื่องจากประเทศเขามีสภาพแวดล้อมชายฝั่งคล้ายไทย ได้คำแนะนำว่าต้องสร้างทีกรอยน์ แต่สุดท้ายติดขัดเรื่องความเห็นแตกต่างจากนักวิชาการหลายฝ่ายว่าสมควรสร้างหรือไม่ รวมถึงมีการต่อต้านจากนักอนุรักษ์ จึงทำให้ทุกวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน” สุราษฎร์ กล่าว

บุญช่วย อรรถวรรธน ผู้อำนวยการส่วนกองบริหารพื้นที่ชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ของ ทส. ระบุว่าที่ผ่านมาได้ร่วมกับ กทม. แก้ปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่นี้โดยเสนอให้ใช้วิธีผสมผสาน คือ ใช้คันไม้ไผ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างชั่วคราวกับการปลูกป่าชายเลน ซึ่งทั้งสองแนว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ศึกษาแล้วว่าเหมาะกับพื้นที่หาดโคลน มีคลื่นลมแรง โดยแนวไม้ไผ่จะช่วยสลายพลังงานของคลื่น และแนวป่าชายเลนจะช่วยให้เกิดตะกอนสะสม และถือเป็นวิธีที่แก้ปัญหาที่ยั่งยืนแต่ต้องใช้เวลานาน

ผู้อำนวยการส่วนกองบริหารพื้นที่ชายฝั่ง กล่าวว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว ส่งผลให้ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ได้พื้นที่ชายฝั่งกลับมาพอสมควร ส่วนจะได้กลับคืนมาแค่ไหนขึ้นอยู่กับระบบนิเวศที่ฟื้นตัวกลับคืนมา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งในบริเวณอ่าวไทยตอนบน ส่วนหนึ่งเกิดจากกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากชายฝั่งทะเลที่ไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะการลดลงของพื้นที่ป่าชายเลนในอัตราที่รวดเร็วจากการตัดไม้เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและกิจการเผาถ่าน การล้มตายของต้นไม้เนื่องมาจากมลพิษของน้ำเสีย และถูกซัดล้มในเวลาที่มีคลื่นลม พายุรุนแรง การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าชายเลนไปเป็นพื้นที่ทำนาเกลือและนากุ้ง ซึ่งทำให้สูญเสียปราการสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาแนวชายฝั่งไม่ให้ถูกซัดเซาะโดยคลื่นลม

“ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเสนอให้ใช้วิธีนี้เพราะการใช้สิ่งก่อสร้างถาวรเพื่อป้องกันปัญหา จะต้องดำเนินการทั้งระบบ เนื่องจากพื้นที่อ่าวตัว ก.นั้นมีขนาดใหญ่ สร้างแนวกันคลื่นถาวรจุดใดจุดเดียว อาจจะทำให้กระทบกับพื้นที่อื่น กระทบกับระบบนิเวศที่มีอยู่แล้ว และแนวคิดการสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรยังอยู่ในระหว่างการศึกษาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป” ผู้อำนวยการส่วนกองบริหารพื้นที่ชายฝั่ง กล่าว