posttoday

ผลักดันยุทธศาสตร์พระราชทาน 23ข้อแก้ปัญหาชายแดนใต้

16 พฤศจิกายน 2559

เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เลขาสมช.ได้จัดทำรายงานเสนอต่อสนช. เรื่อง นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2562

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้จัดทำรายงานเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่อง นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2562

นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฉบับนี้ ยังรักษาแนวทางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คือ หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

อย่างไรก็ตาม หลังปรับโครงสร้างการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำให้ความสำคัญกับเรื่องเอกภาพและการบูรณาการการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ สะท้อนอุปสรรคในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการเริ่มมีทิศทางชัดเจนและแนวโน้มดีขึ้น

สำหรับกรอบนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีทั้งหมด 23 ข้อ แบ่งเป็น วัตถุประสงค์ที่ 1 เพื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย สงบสันติ ปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างศักยภาพ ขีดความสามารถ และประสิทธิภาพ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ป้องกันและแก้ไขภัยแทรกซ้อน อาทิ ยาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย กลุ่มอิทธิพลในพื้นที่ และลดพื้นที่เขตอิทธิพลของกลุ่มผู้ก่อความรุนแรง

2.พัฒนางานการข่าวภาคประชาชน มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลและการพิสูจน์ทราบประเด็นปัญหาที่ยังก่อให้เกิดเงื่อนไขทางลบในพื้นที่ โดยเน้นฐานการข่าวจากแหล่งงานมวลชน 3.เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน

4.สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมแก่ประชาชนให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติ โดยการอำนวยกระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม 5.ขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกแตกแยก หรือความไม่เท่าเทียม

6.สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการเยียวยาของภาครัฐให้ครอบคลุม โดยพัฒนาระบบและปรับปรุงกระบวนการเยียวยาให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม

วัตถุประสงค์ที่ 2 เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 7.สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหามากขึ้น

8.เปิดพื้นที่ปลอดภัยในทุกระดับอย่างเป็นธรรม ให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีบนพื้นฐานของความไว้วางใจ 9.ส่งเสริม สนับสนุน และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของสตรี เด็ก และเยาวชน ให้มีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหา

วัตถุประสงค์ที่ 3 เพื่อให้สังคมไทยและสังคมในพื้นที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 10.ส่งเสริมคุณค่าและการยอมรับการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม อย่างมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และเท่าเทียม

11.ส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกฝ่าย 12.ส่งเสริมให้การดำเนินวิถีชีวิตและการปฏิบัติตามหลักศาสนาทุกศาสนาโดยไม่มีอุปสรรค 13.เสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับประชาชนทั้งในพื้นที่และสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

วัตถุประสงค์ที่ 4 เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน สังคม และเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม ให้เป็นพื้นที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว และน่าลงทุน ประกอบด้วย 14.พัฒนาศักยภาพของคนในสังคม 15.เร่งรัดพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ 16.สร้างโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 17.พัฒนาและส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการแก้ไขปัญหาความยากจน 18.ส่งเสริมการเรียนภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น ภาษาอาหรับ และภาษาต่างประเทศที่สำคัญ

วัตถุประสงค์ที่ 5 เพื่อสร้างความเชื่่อมั่นและหลักประกันความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และเตรียมความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ประกอบด้วย

19.ส่งเสริมกระบวนการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสม ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

20.ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์ต่างจากรัฐ ให้มีเอกภาพและสร้างหลักประกันความปลอดภัยในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพูดคุย 21.เสริมสร้างความพร้อมความเข้าใจของทุกภาคส่วนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

วัตถุประสงค์ที่ 6 เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เกิดความสนับสนุน และมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา 22.พัฒนากลไกรูปแบบการสื่อสาร และบูรณาการระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน

และ 23.เสริมสร้างความเข้าใจอันดี ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้