posttoday

จัดระเบียบวินมอไซค์ รับ-ส่งฟรี....ไม่จริง

28 ตุลาคม 2559

ฉวยโอกาสเก็บเงินผู้โดยสารสนามหลวง

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
 
นับเป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจประชาชนคนไทยให้บอบช้ำมากขึ้นไปอีก เมื่อกลุ่มวินรถจักรยานยนต์รับจ้างบ้างกลุ่ม ฉวยโอกาสผสมปนเปกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จิตอาสาติดป้ายให้บริการรับส่งฟรีแก่ประชาชนที่ต้องการเดินทางมายังพระบรมมหาราชวัง ท้องสนามหลวง ทว่าเมื่อส่งผู้โดนสารถึงที่หมายแล้วกลับเรียกรับเงินค่าโดยสารแบบมัดมือชก
 
วัลลภ สุวรรณดี ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากนี้ไปจะเริ่มจัดระเบียบจิตอาสาจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากที่ผ่านมามีกลุ่มแฝงเข้ามาหากินในคราบจิตอาสา เรียกเก็บเงินผู้โดยสาร ยิ่งไปกว่านั้นบางส่วนเป็นกลุ่มเด็กแว้นขับขี่รถซิ่งท้าทายกฎหมาย จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกวดขันกฏหมายและขอความร่วมมือผู้ที่จะมาเป็นจิตอาสารับส่งคนได้ลงทะเบียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับศูนย์ปฎิบัติการ Volunteer For Dad
 
นอกจากนี้ยังได้เปิดเบอร์โทรสายด่วน 1899 ประชาสัมพันธ์ กทม.รับแจ้งเหตุคนหาย เจ็บป่วย หรือแจ้งความได้ทุกเรื่อง โดยจะมีเจ้าหน้าที่เร่งแก้ปัญหาให้ทันที
 
ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รักษาราชการแทนรองบัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.รองผบช.น.) ดูแลงานจราจร กล่าวว่า จากการสำรจพบว่ารถจักรยานยนต์รับจ้างบางราย ฉวยโอกาสคิดค่าโดยสารเกินอัตรากำหนด และมีการติดป้ายว่ารับ-ส่งสนามหลวงฟรี แต่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารในภายหลังถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องขัดต่อกฎหมาย
 
อย่างไรก็ตาม ได้จัดพื้นที่สำหรับจักรยายนต์ที่รับ-ส่งฟรีไว้ทั้งหมด 5 จุด ได้แก่ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อนุสาวรีย์ทหารอาสา, ท่ามหาราช, ท่าช้าง และวงเวียนรด. สำหรับประชาชนที่ต้องการใช้บริการ สามารถไปขึ้นได้ตามจุดต่างที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนดเพื่อความปลอดภัย
 
“ได้กำชับให้ทุกสน.ควบคุมจับกุมวินจักรยานยนต์ที่กระความผิด พร้อมทั้งดูแลประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้โดนเอาเปรียบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ทางบช.น.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าว
 
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ประชาชนที่ถูกรถจักรยายนต์รับจ้างหลอกว่าให้ขึ้นฟรี แต่มีการเก็บเงินภายหลังสามารถร้องเรียนมาได้ที่สายด่วน 1197 โดยทางเจ้าหน้าที่จะรับเรื่องและประสานไปยังสน.พื้นที่ที่เกิดเหตุ โดยต้องการข้อมูลเช่น หมายเลขทะเบียนรถหรือชื่อคนขับที่ติดด้านหลังเสื้อวินมาด้วย หรือสามารถถ่ายรูปทะเบียนรถจักรยานยนต์และป้ายชื่อและส่งมายังเพจเฟสบุก "ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร-บก02" เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 
แต่หากเป็นกรณีที่ประชาชนและผู้ขับขี่วินมีการตกลงราคากันก่อนจะให้ไปส่งหรือวิ่งให้บริการในเส้นทางและราคาตามปกติ ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย สำหรับวินจักรยายนต์รับจ้างที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าวถือว่า มีความผิดตามกฎกระทรวง โดยเป็นการเรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตรากำหนด โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกโดยสารจักรยานยนต์ พ.ศ.2548 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และนายทะเบียนสามารถเพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใบอนุญาตไม่เกิน 6 เดือน
 
ส่วนอัตราค่าโดยสารที่กำหนดในกฎกระทรวง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 25 บาท (กิโลเมตรต่อไปไม่เกินกิโลเมตรละ 5 บาท) และ 5 กิโลเมตรขึ้นไป อัตราค่าจ้างให้เป็นไปตามที่ผู้ขับรถและคนโดยสารตกลงกัน
 
“กรณีติดป้ายรับ-ส่งฟรี นำผู้โดยสารไปส่งถึงจุดหมายแล้วเก็บค่าโดยสาร ผิดฐานฉ้อโกง แสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิด มีอัตราโทษ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าว