posttoday

"ขยะ" ปัญหาใหญ่สนามหลวง วอนแจกของ งดโฟม ขวดพลาสติก

25 ตุลาคม 2559

ปัญหาหนึ่งที่แฝงมากับคลื่นมหาชนในครั้งนี้อย่างที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดคือ ปัญหาการจัดการขยะ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

คลื่นของมหาชนที่หลั่งไหลมายังบริเวณสนามหลวงและรอบพระบรมมหาราชวัง เพื่อถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นภาพที่สร้างความปลาบปลื้มให้กับคนไทยทุกคนที่ได้เห็น ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนคนไทยหลอมหัวใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาหนึ่งที่แฝงมากับคลื่นมหาชนในครั้งนี้อย่างที่ไม่มีใครตั้งใจให้เกิดคือ ปัญหาการจัดการขยะ

ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ด้วยปริมาณของประชาชนที่มาร่วมงานและจำนวนผู้มีจิตศรัทธาที่แจกข้าวของให้กับประชาชนมีมากเท่าไร ก็คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาขยะได้เท่านั้น ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายกำลังติดตามแก้ไขและขอความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

“พื้นที่สนามหลวง เรื่องของขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอความร่วมมือประชาชน เพราะถ้าทุกคนช่วยกันจัดเก็บปัญหาปริมาณขยะในพื้นที่ก็จะหมดไป”คำกล่าวตอนหนึ่งของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร (Volunteers for Dad) ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวกลางเชื่อมระหว่างฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่สนามหลวงและประชาชนจิตอาสาที่มาบริการประชาชนที่เดินทางมาแสดงความไว้อาลัยพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายในพระบรมมหาราชวัง

ปริญญา กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ทำงานประสานกับกรุงเทพ มหานคร (กทม.) และภาคประชาสังคม เพื่อให้บริการประชาชนที่เดินมาแสดงความไว้อาลัย โดยตลอด 1 สัปดาห์ที่ศูนย์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 19-24 ต.ค. มีประชาชนจิตอาสาติดต่อขอลงทะเบียนเข้าร่วมแล้วกว่า 4,867 คน และมีจำนวนมากสุดเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ถึง 1,900 คน วันที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี ส่วนความต้องการอาสาสมัครในแต่ละวันอยู่ที่ 750 คน

งานหลักๆ ที่จิตอาสาของศูนย์จะบริการประชาชน เช่น บริหารจัดการขยะ ดูแลบัตรคิว อาสาขนย้ายสิ่งของ รวมถึงงานบริการอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวขอชื่นชมและขอขอบคุณประชาชนจิตอาสาเหล่านี้ เพราะศูนย์แห่งนี้ต้องเป็นตัวกลางประสานระหว่างหน่วยงานที่ต้องการอาสาสมัครให้เข้าไปช่วยงานกับประชาชนผู้ที่ต้องการเป็นจิตอาสา รวมทั้งดูแลเรื่องการบริหารจัดการของบริจาคที่มีจำนวนมาก ซึ่งภาพรวมต้องมีระบบการบริหารที่ดี

ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานอาสาสมัครฉายภาพว่า วันปกติเฉพาะอาหารที่ทางมูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแจกจ่ายให้ประชาชนมีประมาณวันละ 5 หมื่นกล่อง แต่ถ้ารวมกับภาคส่วนอื่นๆ จะมีมากถึงวันละประมาณ 1 แสนกล่องโฟม นอกจากนี้ยังไม่รวมขวดน้ำดื่มพลาสติกอีกจำนวนมาก ฉะนั้นจึงทำให้ปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่มีมาก เพราะวัสดุที่นำมาใช้ใส่อาหารและน้ำดื่มเหล่านั้นเป็นขยะที่ยากต่อการนำไปกำจัดและย่อยสลาย ฉะนั้นจึงต้องหาวิธีใหม่ ซึ่งขณะนี้จะขอเปลี่ยนการรับบริจาคจากเดิมที่เป็นกล่องโฟมมาเป็นกล่องชานอ้อยแทน และขณะนี้ทุกหน่วยงานในพื้นที่พร้อมจะร่วมมือ

“ถ้าเป็นวันที่คนน้อยปริมาณขยะจะอยู่ที่ 50 ตัน แต่วันที่คนเยอะมากที่สุดเมื่อวันที่ 16 ต.ค. วันนั้นปริมาณขยะมีสูงถึง 80 ตัน ซึ่งขยะส่วนใหญ่ยังไม่ถูกคัดแยก ฉะนั้นการบริหารขยะในพื้นที่จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ทำให้สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมต้องลงมาให้ความรู้อบรมอาสาสมัครจิตอาสา ในการบริหารจัดระบบคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปทำลาย”ปริญญา ระบุ

ปริญญา อธิบายว่า ปริมาณขยะในแต่ละวัน 100% แยกเป็นขยะเศษอาหาร 36% ขยะรีไซเคิล 16% และขยะทั่วไป 47% ฉะนั้นเจ้าหน้าที่เก็บขยะในพื้นที่ จึงต้องมีมาตรการที่หลากหลายในการลดปริมาณขยะ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้คัดแยก และจากนี้ไปภาชนะใส่อาหารโฟมจะไม่ขอรับบริจาคแล้ว แต่ขอเปลี่ยนเป็นกล่องกระดาษชานอ้อยแทน เพื่อง่ายต่อการนำไปกำจัดและย่อยสลาย ส่วนน้ำดื่มอยากให้ประชาชนลดจำนวนการใช้ขวดพลาสติก หรือนำขวดที่ได้ไปเติมนำในจุดที่คอยบริการ ซึ่งถ้าทำได้เชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณขยะในพื้นที่ลงได้

สอดคล้องกับ ชนกนันท์ จันทวิชานุวงษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริการจัดการอาหารและสิ่งของ กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ศูนย์แห่งนี้เปิดมาได้ 5 วัน มีผู้นำของมาบริจาคมากถึง 500 ตัน แบ่งออกเป็นสิ่งของต่างๆ 109 ชนิด อาทิ น้ำหวานชง อาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งของเหล่านี้ทางศูนย์จะส่งต่อให้หน่วยงานหลักพื้นที่นำไปแจกจ่ายบริการประชาชน แต่ถึงอย่างไรก็ยังต้องการเพิ่มเติมอีก แต่ของดรับบริจาคกล่องโฟม

เช่นเดียวกับ จารุณี จารุรัตนวารี ผู้ประสานงานฝ่ายจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร อธิบายว่า การบริหารจัดการขยะในพื้นที่จะมีประชาชนจิตอาสาวันละ 500 คน ลงไปดูแล ซึ่งทุกคนจะได้รับการอบรมคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี จากนั้นจะให้จิตอาสา 1 ชุด ซึ่งมีจำนวน 3 คน เปรียบเสมือนขยะ 3 ประเภท คือ ขยะรีไซเคิล เปียก และทั่วไป ถือถุงดำออกไปรับขยะจากประชาชน เพื่อทำให้สะดวกต่อการคัดแยก ก่อนส่งให้หน่วยงานของ กทม.นำไปกำจัดต่อไป 

ด้านตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา ขยะในพื้นที่มีจำนวนมาก เนื่องจากผู้ที่นำสิ่งของมาบริจาคและผู้รับมีจำนวนมาก ซึ่งผู้รับบางคนเมื่อนำอาหารไปจะทานไม่หมดและทิ้งเป็นขยะ จึงทำให้เมื่อวันที่ 23 ต.ค. สำรวจพบว่าขยะประเภทอาหารและน้ำดื่มที่ทาน
ไม่หมดมีเกิน 60% ส่วนที่ทานเหลือมีเพียงครึ่งเดียว และ 1 ใน 3 ที่เจอคือทิ้งโดยไม่ทานเลย

“จากการเก็บข้อมูล กทม. ปริมาณขยะในวันธรรมดาอยู่ประมาณวันละ 35 ตัน ส่วนวันหยุดเสาร์ และอาทิตย์มีประมาณวันละ 80 ตัน และเฉพาะในวันที่ 22 ต.ค. ขยะมีปริมาณถึง 365 ตัน ฉะนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงอยากขอความร่วมมือประชาชนทานอาหารอย่างพอเพียง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมการก่อให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น ดังเช่นคำว่าพอเพียงตามคำที่พ่อสอน ไม่เช่นนั้น ถ้าทุกคนร่วมสร้างขยะเฉลี่ย 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน ก็จะผลิตขยะเพิ่มขึ้นวันละ 7.35 หมื่นตัน หรือปีละกว่า 27 ล้านตัน ขยะลดได้ด้วยพวกเราทุกคน” วิจารย์ ระบุ