posttoday

แนวทางชีวิตจากพระเมตตา พอเพียง-เป็นสุข ทำได้จริง

16 ตุลาคม 2559

สองพี่น้องม้ง ที่ดำเนินชีวิตด้วยการยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

โรงปลูกผักบนดอยที่เป็นทางขึ้น 2 ข้างทางไป “ภูลังกา” จะเห็นหลายจุด โรงสีขาวขุ่นเรียงติดกัน 1-2 โรง หรือโรงเรือนขั้นบันไดเห็นได้ชัดแต่ไกล

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรปลอดภัยแห่งเดียวของ จ.พะเยา ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านน้ำต้ม ต.ผาช้างน้อย เป็นโครงการที่ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยภูเขา เลิกยุ่งเกี่ยวกับการปลูกพืชเสพติด ได้มีอาชีพที่มั่นคง

สองพี่น้องชาวม้งแห่งบ้านสิบสองพัฒนา ต.ผาช้างน้อย อ.ปง จ.พะเยา เป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการหลวงปังค่า ที่เคยประสบปัญหาจากอาชีพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะยิ่งปลูกยิ่งเป็นหนี้พอกพูน จึงเข้ามาเป็นสมาชิกโครงการหลวงและเรียนรู้เรื่องการปลูกพืชผักปลอดภัย พร้อมทั้งมีรายได้ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะปลดหนี้ได้ในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะได้พิสูจน์หลักปรัชญา “พอเพียง” ที่ทำให้ชีวิตและครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุขที่แท้จริง

“ก่อนหน้านั้นผมเคยปลูกข้าวโพดมานานนับสิบปีได้ แต่ไม่สามารถแบกรับภาระหนี้สินได้ ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ เงินที่ได้จากการขายข้าวโพดก็นำไปใช้หนี้ที่กู้เขามา จึงตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่รวยจึงกลับบ้านเกิด เมื่อกลับมาเห็นน้องชายเข้าเป็นสมาชิกโครงการหลวงปังค่าและได้ปลูกพริกหยวกหรือพริกหวาน ปรากฏว่ามีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท เห็นแล้วจึงสนใจถามน้องชายว่าต้องทำอย่างไรบ้าง จึงเข้าสมัครเป็นสมาชิกโครงการหลวงฯ และเลือกการปลูกพริกหยวก” รุ่งฤทธิ์ เตรียมพยุง กล่าวสำนึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวง

หลังจากปลูกพริกหยวกมาได้ 3 ปีแล้ว ปัจจุบันมีอยู่หลายโรง โรงละ 600 ต้น รอบหนึ่งปลูกนาน 5 เดือน ผลผลิตเก็บได้ตลอดทุกเดือนจนกว่าจะหมดรุ่นส่งโครงการหลวงฯ ซึ่งปีหนึ่งๆ มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ต่างจากปลูกข้าวโพดใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ได้เงินประมาณ 4-5 หมื่นบาท แต่ไม่เคยมีเงินเก็บเพราะต้องใช้หนี้แล้วกู้ใหม่ทำให้เพิ่มหนี้ทุกปี

เมื่อปลูกพริกหยวกเพียง 5 เดือน ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ถึงมีภาระหนี้สินก็แบกรับได้อย่างไม่ลำบาก เงินที่ขายพริกหยวกให้โครงการหลวงฯ ที่ได้มาก็ใช้หนี้สหกรณ์ของโครงการหลวงฯ และยังมีเหลือเก็บ ผมเคยถามจะใช้ให้หมดทั้งก้อนเลย เจ้าหน้าที่บอกให้ใจเย็นๆ ส่งไปเรื่อยๆ ทำให้มีเงินเก็บ ที่สำคัญได้ทำงานอยู่กับบ้าน ได้ใกล้ชิดครอบครัว

รุ่งฤทธิ์ กล่าวจากส่วนลึกของหัวใจว่า เพราะมีโครงการหลวงฯ ทำให้ครอบครัวได้พบสิ่งที่ดีๆ ในชีวิต ครอบครัวมาโรงพริกทุกวัน ช่วงเวลาประมาณ 08.00-16.00 น. เหมือนเวลาราชการเลย แม้ว่างานไม่หนักแต่เป็นงานละเอียด ต้องใช้ความใส่ใจในการดูแลพืชที่ปลูกทุกวัน โดยมีอาจารย์ของโครงการหลวงฯ สอนและแนะนำการดูแลรักษา

“ผมเลิกปลูกข้าวโพดหันมาปลูกพริกหยวกแทนเป็นสิ่งที่ผมมีความสุขที่สุดในชีวิต เพราะได้อยู่กับครอบครัว มีเงินเก็บ ที่สำคัญผมมีทุกวันนี้ได้เพราะมีโครงการหลวงฯ โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระองค์ทรงก่อตั้งโครงการหลวงฯ ทำให้พวกเราพี่น้องชาวพื้นที่สูงมีอาชีพเสริมที่ดี ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ทำเกษตรที่เป็นอันตราย ยิ่งกว่านั้นผมได้รู้ว่าความพอเพียงและความสุขที่มาจากความพอเพียงเป็นอย่างไร”รุ่งฤทธิ์ กล่าวด้วยรอยยิ้มเพราะชีวิตอยู่ด้วยความพอเพียง

พอเพียงอย่างไร? ที่ผ่านมาแบ่งเงินที่ได้จากการขายพริกหยวกใช้หนี้ ส่วนหนึ่งมีเหลือเก็บไว้ใช้ และออมไว้ให้เป็นเงินอนาคต เพราะกินก็เพียง 3 มื้อ ข้าวก็ปลูกกินเอง นี่คือความพอเพียงที่ไม่ต้องเบียดเบียนใคร และผมมีวันนี้ได้เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิใจที่ได้เกิดเป็นประชาชนของพระองค์

แนวทางชีวิตจากพระเมตตา พอเพียง-เป็นสุข ทำได้จริง

ด้าน นุซ้อ เตรียมพยุง น้องชาย รุ่งฤทธิ์ เป็นเกษตรกรดีเด่นของโครงการหลวงฯ ในปี 2555 และก่อนหน้านั้นก็ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นมาเช่นกัน จะว่าไปแล้ว นุซ้อ ถือเป็นเกษตรกรที่ปลูกพริกหยวกรายแรกของพะเยาได้เลยทีเดียว และเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ชายรวมทั้งเกษตรกรอีกหลายคน หันมาเอาดีในการปลูกพืชผักในโครงการหลวงฯ หันหลังให้พืชมูลค่าต่ำและทำลายสิ่งแวดล้อม

“ผมมีโรงปลูกผักอยู่ 8 โรง เพราะทำมาหลายปีแล้ว แต่ละปีจะมีรายได้จากการขายผลผลิตทั้งพริกหยวกและพืชผักที่นำมาปลูกสลับกัน ปีละ 2-3 แสนบาท เช่น พริกหยวกเมื่อถึงเวลาเก็บผลผลิตส่งโครงการหลวงฯ จะมีรายได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 หมื่นบาท เมื่อก่อนย้อนหลังไปไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีที่แล้ว ตอนปลูกข้าวโพดรายได้จะน้อยมากเมื่อเทียบกับพริกหยวก เปรียบเทียบปลูกข้าวโพด 10 ไร่ จะมีรายได้เท่ากับพริกหยวก 1 ไร่” นุซ้อ กล่าวถึงสาเหตุถึงเข้าร่วมโครงการหลวงฯ

ตอนนี้ยึดอาชีพปลูกพริกหยวกอย่างเดียวและเป็นรายแรกของพะเยา ก่อนที่จะมาปลูกที่พะเยา เคยทำปลูกพริกหยวกในโครงการหลวงฯ ที่ จ.เชียงใหม่ มาก่อน ถ้าไม่มีพระเจ้าอยู่หัวก็ไม่รู้ว่าชีวิตจะเดินต่อไปกันอย่างไร ทุกวันนี้ในหมู่บ้านถ้าใครที่มาเป็นสมาชิกโครงการหลวงฯ และขยัน มีวินัย ก็จะมีรายได้ดี มีอาชีพที่มั่นคง ไม่ต้องไปคิดหารายได้พิเศษจากสิ่งผิดกฎหมายด้วย

“หัวใจสำคัญจริงๆ คือ ทำงานด้วยใจรัก มีวินัย และรู้จักพอ แบ่งปันเมื่อมีเหลือกินเหลือใช้ คือ ความพอเพียงในชีวิตจริง พิสูจน์และยืนยันได้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เราไม่ต้องอธิบายด้วยตัวหนังสือ แต่ยืนยันด้วยบทเรียนในชีวิตจริง” นุซ้อ ย้ำ

สองพี่น้องม้ง แบบอย่างของคนสู้ชีวิต และดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” แบบวิถีเกษตรกรบนพื้นที่สูงอย่างแท้จริง