posttoday

รื้อท่อระบายน้ำเมืองกรุง แก้น้ำท่วมได้จริงหรือ?

14 ตุลาคม 2559

สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาระบุถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อ่อนไหวหลายจุดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ท่อระบายน้ำ”

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาระบุถึงสาเหตุของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อ่อนไหวหลายจุดว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ท่อระบายน้ำ”

ในอดีตท่อระบายน้ำ กทม.มีขนาด 60 ซม. จากนั้นก็ขยายมาเป็น 1.20 เมตร ทว่าก็ยังไม่เพียงพอต่อการระบายน้ำในพื้นที่เสี่ยง

มากไปกว่านั้น ด้วยสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลายพื้นที่ถูกพัฒนาด้วยการถมดินให้สูงขึ้น เมื่อเกิดปัญหาดินทรุดตัวบ่อยครั้ง พื้นที่ต่ำจึงมีมากขึ้น

นั่นหมายความว่า เมื่อน้ำมาก็จะยิ่งท่วมขัง และท่อขนาด 1.20 เมตร ก็เอาไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม แนวคิดการวางท่อระบายน้ำใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากขุดท่อตามแนวถนนก็คงต้องพบกับท่อสาธารณูปโภค สายไฟ สายโทรศัพท์ ฯลฯ ยิ่งถ้าเป็นถนนสายเก่าในพื้นที่เมืองกรุงชั้นใน ยิ่งไม่สามารถเพิ่มขนาดท่อระบายให้กว้างมากกว่า 1.20 เมตรได้อีก นั่นเพราะถูกจำกัดความกว้างของฟุตปาทมีขนาดเล็ก สวนหย่อม ฯลฯ

แต่ถึงแม้จะไม่มีข้อจำกัดเช่นนั้นก็ยังเกิดคำถามว่า การวางท่อใหม่ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้หลายเมืองจะพบปัญหาคล้ายคลึงกับ กทม. คือ ระบบระบายน้ำเก่าไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถระบายน้ำที่ท่วมขังกรณีที่มีฝนตกหนักในช่วงฤดูฝน แต่ก็มักจะหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่ารื้อระบบท่อเดิม เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การป้องกันน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องของการรื้อระบบท่อใหม่

แม้จะรื้อท่อระบายน้ำถนนสุขุมวิทใหม่เพื่อให้น้ำระบายได้ง่ายขึ้น แต่น้ำที่ระบายจากถนนอาจจะอยู่ในท่อซึ่งอยู่ต่ำกว่าคลองระบายน้ำ นั่นเพราะพื้นที่ใน กทม.มีระดับสูงต่ำลดหลั่นไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

หากไม่สามารถผลักดันน้ำออกไปสู่ระบบที่ครบวงจร มีระบบสูบน้ำที่รองรับ น้ำก็อาจจะยังท่วมอยู่ดี

อาจารย์ธงชัย กล่าวว่า หากพิจารณาการจัดการน้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม จะพบว่าใช้วิธีการ “กำหนดพื้นรองรับน้ำ” โดยไม่มีประเทศไหนที่คิดรื้อระบบท่อเพื่อสร้างใหม่

“กทม.มีพื้นที่รอระบายเป็นพื้นที่ถนน บ้านเรือน และพื้นที่เกษตรกรรม จึงเกิดความเดือดร้อน การแก้ไขน้ำท่วมใน กทม.จึงต้องแก้ทั้งระบบ ตั้งแต่เรื่องการผันน้ำให้ออกไปยังเส้นทางสองฝั่งของเมืองไม่ให้ท่วมชั้นใน รวมถึงขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 โดยขุดผ่าน กทม.ให้น้ำไหลลงทะเล” ธงชัย ระบุ

สำหรับแนวคิดการขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 เป็นแนวคิดที่มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว และเป็นแนวคิดที่ กทม.จะทำเพียงลำพังไม่ได้ จำเป็นต้องร่วมกับหน่วยงานระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะหาทางออกทางไหนก็ต้องแข่งกับเวลา เพราะหากปล่อยไว้นานก็จะยิ่งมีปัญหามากขึ้น เพราะพื้นที่ กทม.คือจุดผ่านออกสู่ทะเลของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด

กังวาฬ ดีสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. อธิบายถึงสาเหตุที่น้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม.ภายหลังฝนตกหนักว่า เกิดจากเมืองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พื้นที่บนถนนหลายแห่งถูกถมที่ดินให้สูงขึ้น สร้างเป็นอาคารที่พักอาศัย สำนักงานขนาดใหญ่ ทำให้เส้นทางน้ำไหล่ทางริมถนนในอดีตถูกลบหายไปกลายเป็นคอนกรีต ผนวกกับไม่มีพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ ทั้งยังเป็นที่ลุ่มเช่นที่ ถนนสุขุมวิท จากปัจจัยที่กล่าวมาทำให้ท่อระบายน้ำรับภาระเต็มที่แล้ว เมื่อมีฝนตกลงมาอีกจึงรับไม่ไหว เกิดน้ำท่วมขังอย่างที่เห็น

“ขนาดท่อระบายน้ำยังเท่าเดิม ขณะที่ปริมาณน้ำฝนก็ตกลงมาเท่าเดิมเช่นกัน แต่เมืองมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ระบบระบายน้ำตามไม่ทัน จะเห็นว่าสมัยก่อนเวลาฝนตกยังมีคูน้ำไหล่ทางรองรับ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว เมื่อฝนตกน้ำจึงท่วมถนนทันที” กังวาฬ กล่าว

ด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางแห่งได้วางท่อขนาดใหญ่ แต่บางแห่งไม่สามารถปรับแก้ได้อีกแล้ว จึงขึ้นอยู่กับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลค่อยๆ วางแผนปรับปรุงทุกปี เพราะหากทำทั้งหมดคาดว่าต้องใช้เงินจำนวนกว่าแสนล้านบาท ซึ่งประเทศไม่มีเงินมากขนาดนั้น

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาทำได้ตามสถานการณ์ คือเมื่อทราบความเคลื่อนไหวของสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน ต้องทำการลดระดับน้ำในคลองสายหลักให้ต่ำกว่าถนนมากที่สุด เช่น คลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว คลองบางซื่อ และคลองแสนแสบ เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนที่ตกลงมา

นั่นเพราะพฤติกรรมของฝนมักจะตกหนักประมาณ 100 มิลลิเมตร ในช่วง 30 นาที-1 ชั่วโมงแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำให้ถนนแต่ละสายผ่านพ้นวิกฤตไปได้ก่อน

จากนั้นควรปรับปรุงพัฒนาระบบคลองให้มีความลึก ไม่มีสิ่งกีดขวาง เพราะอัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 30 นาที /1 กิโลเมตร น้ำต้องใช้เวลาเดินทางมายังสถานีสูบน้ำเพื่อสูบออกแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ

หากน้ำเดินทางได้ช้า สถานีสูบน้ำปลายทางก็ช่วยอะไรไม่ได้ ส่วนคุณสมบัติของอุโมงค์ยักษ์ มีจุดประสงค์คือการดึงน้ำจากคลองในพื้นที่ระยะไกลออกไปได้เร็ว ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยกรุงเทพฯ ได้ทั้งหมด

ทุกระบบจึงต้องช่วยเหลือกันถึงจะทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์น้ำท่วมไปได้