posttoday

กรมศิลปากรหาหลักฐานเพิ่มยันนครศรีฯเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

07 ตุลาคม 2559

นครศรีธรรมราช-สำนักศิลปากรที่14ขุด8จุดรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีเพิมเติมเพื่อยืนยันว่านครศรีฯมีอายุยาวนานกว่าพันปีเก่าแก่กว่าทุกเมืองในไทย

นครศรีธรรมราช-สำนักศิลปากรที่14ขุด8จุดรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีเพิมเติมเพื่อยืนยันว่านครศรีฯมีอายุยาวนานกว่าพันปีเก่าแก่กว่าทุกเมืองในไทย

เมื่อวันที่7ต.ค.59 นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช พร้อมนักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่กลุ่มงานโบราณคดี เข้าทำการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อศึกษาข้อมูลหลักฐาน ในบริเวณโบราณสถานที่อยู่รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช รวม 8 จุดด้วยกัน คือวิหารโพธิ์พระเดิม กระระเบียงคต วิหารโพธิ์ลังกา วิหารเขียน วิหารทับเกษตร วิหารธรรมศาลา เจดีย์รายทรงปราสาท และพระวิหารหลวง
 
ทั้งนี้ เพื่อหาหลักฐานทางโบราณคดีเพิ่มเติม หลังจากนักโบราณคดีได้ขุดค้นฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พบหลักฐานที่สำคัญบ่งชี้ว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช มีความเก่าแก่กว่า 1 พันปี คือมีอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 จากเดิมที่เชื่อว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 หรือราว 800-900 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลทางวิชาการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และบ่งชี้ได้ว่านครศรีธรรมราช มีอายุยาวนานกว่าทุกเมืองในประเทศไทย
 
นายภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ระบุว่า การขุดค้นทั้ง 8 จุดนั้นเพื่อนำเอาหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้ไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์หาอายุ ซึ่งจะเป็นการศึกษาข้อมูลในแบบวิชาการครั้งสำคัญ โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปประกอบกับเอกสารสนับสนุนองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช สู่การเป็นมรดกโลก รวมทั้งเพื่อศึกษาให้ทราบถึงความเป็นมาของการใช้พื้นที่ในอดีต และนำตัวอย่างไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
 
ด้าน ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานกรรมการฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการนำเสนอวัดพระบรมธาตุขึ้นบัญชีมรดกโลก กล่าวว่า ได้จัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์และคุ้มครองแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เพื่อบรรจุในภาคผนวกของเอกสารฉบับสมบูรณ์ ขณะนี้ได้แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้บริหารจัดการและอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม ดำรงรักษาคุณค่าอันโดดเด่นอันเป็นสากลของแหล่งมรดกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารให้ยั่งยืน
 
สำหรับข้อมูลปฐมภูมิที่ได้จากการจัดประชาคมในชุมชน 19 แห่ง เมื่อเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2559 มาประกอบกับข้อมูลทุติยภูมิที่วิเคราะห์หาความเชื่อมโยงในแต่ละประเด็น เพื่อให้เห็นภาพของงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการพบว่ามีงานสำคัญที่ต้องดำเนินการรวม 7 งาน ได้แก่ 1.งานคงความดั้งเดิมของโบราณสถานและประเพณี 2.งานสร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของการเป็นมรดกโลก 3.งานจัดการเสริมสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในวัด 4.งานจัดการด้านการจราจรที่จอดรถ และระบบขนส่งสาธารณะ 5.งานจัดการด้านการท่องเที่ยว 6.งานจัดการด้านภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อม 7.งานเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
 
เมื่อนำแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable  Development) เข้ามาประยุกต์ จะพบว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องรักษาความสมดุลของประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและกายภาพ สังคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว การเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและประเพณีไว้ให้ได้ ดังนั้นจึงได้กำหนดกรอบของแผนงานเป็น 5 ด้าน ตามแนวคิดของการพัฒนาที่ยั่งยืน และนำประเด็นที่ต้องดำเนินการข้างต้นบรรจุเข้าไว้ในแต่ละแผนงาน ภายใต้กรอบการดำเนินงานที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่หลักและพื้นรองต่อไป

 

กรมศิลปากรหาหลักฐานเพิ่มยันนครศรีฯเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

 

กรมศิลปากรหาหลักฐานเพิ่มยันนครศรีฯเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

 

กรมศิลปากรหาหลักฐานเพิ่มยันนครศรีฯเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย

 

กรมศิลปากรหาหลักฐานเพิ่มยันนครศรีฯเป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดในไทย