posttoday

กันคนพื้นที่มีส่วนร่วม ชายแดนใต้ไม่มั่นใจครม.ส่วนหน้า

06 ตุลาคม 2559

คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ ครม.ส่วนหน้า ซึ่งมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เป็นประธาน

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือ ครม.ส่วนหน้า ซึ่งมี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม เป็นประธาน ส่วนคณะทำงานมีอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตนายตำรวจและข้าราชการในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลคาดหวังจะเป็นกลไกเชื่อมระหว่างส่วนกลางและพื้นที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาเดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น

แต่สำหรับคนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หลายภาคส่วนกลับไม่มั่นใจเช่นที่รัฐบาลคาดหวัง เพราะการเลือกคณะผู้แทนดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และส่วนใหญ่ก็เป็นนายทหารเกษียณอายุราชการเป็นส่วนใหญ่

เศษฐ์ อัลยุฟรีย์ นายก อบจ.ปัตตานี มองว่าการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องอาศัยความหลากหลาย จะมองปัญหามิติใดมิติหนึ่งนั้นไม่ได้ การได้มาของคณะทำงานในพื้นที่จะต้องมีสัดส่วนของภาคต่างๆ ครม.ส่วนหน้าชุดนี้ จึงเป็นห่วงในเรื่องของข้อมูลที่จะนำสู่การกำหนดนโยบาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะมองทั่วถึงหรือไม่ เพราะในอดีตมี พ.ร.บ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีการตั้งคณะกรรมการสภาที่ปรึกษา มีการคัดเลือกสรรหามาจากหลายภาคส่วน แต่ ครม.ส่วนหน้าไม่คำนึงถึงหลักการนี้

“ครม.ส่วนหน้ามีอดีต ผบ.ทบ. และ รมช.ศึกษาธิการ เป็นหัวจักรใหญ่ ดูแล้วจะไปเข้าใจอย่างอื่นไม่ได้นอกจากมีนโยบายหลัก 2 เรื่อง คือ มิติความมั่นคงกับการดูแลการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นเรื่องที่ดีมาก จะได้ยกฐานะการศึกษาของคนในพื้นที่ แต่ต้องไม่ลืมที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะยางราคาตกต่อเนื่องมาหลายปี อยากมีคณะทำงานระดับอธิบดีเศรษฐกิจเข้าร่วมกับคณะ ครม.ส่วนหน้า จะเป็นการดี” นายก อบจ.ปัตตานี กล่าว

ในมุมมองนักวิชาการ สามารถ ทองเฝือ ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การมีนายทหารเป็นส่วนใหญ่มีทั้งข้อที่ดีและข้อน่ากังวล ข้อดี คือ ประสานงานระหว่างพื้นที่กับรัฐบาลให้รวดเร็ว ส่วนข้อกังวลในพื้นที่ มี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กับ ศอ.บต.เป็นหลักแล้ว การทำหน้าที่ของ ครม.จะมาทับซ้อนกันหรือไม่ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ส่ง ครม.ส่วนหน้า มี ถาวร เสนเนียม มาวนเวียนในพื้นที่

ขณะที่ มะแอ สะอะ หรือ หะยีสะมะแอ ท่าน้ำ อดีตแกนนำกลุ่มพูโล เห็นว่ารายชื่อบุคคลใน ครม.ส่วนหน้า ไม่มีใครเลยที่เป็นคนพื้นที่และไม่มีมุสลิม แบบนี้แล้วจะทำงานอย่างไร ทั้งที่อดีตผู้ว่าฯ จาก 3 จังหวัดก็มีหลายคน นายพลก็หลายคน  คิดว่าคงไม่สามารถทำอะไรได้

ฆอซาลี อาแว  นักวิจัยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อเสนอแนะต่อ ครม.ส่วนหน้า 2 ประเด็น ข้อแรก คือ ประสานทิศทางการเดินหน้าพุดคุยกับผู้เห็นต่าง และข้อที่สอง คือ ครม.ส่วนหน้าควรสร้างกลไกให้นักวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคอื่นๆ ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเหมาะสมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ

ขณะที่ รักษ์ชาติ สุวรรณ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ก็เห็นว่า ครม.ส่วนหน้าเคยมีมาแล้วสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ ครม.ส่วนหน้าจะต้องอยู่ในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ หรือต้องลงพื้นที่ให้บ่อยๆ จึงจะมีประโยชน์

“จากการพูดคุยกับคนไทยพุทธในพื้นที่มองว่า ครม.ส่วนหน้าสามารถแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น แต่คงดูกันต่อไปในสิ่งที่รัฐพยายามจะแก้ปัญหามันตรงประเด็นหรือเปล่า บางคนมองว่า ครม.ส่วนหน้าเชื่อมโยงกับการทำพื้นที่เศรษฐกิจสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะก่อนหน้าที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมพื้นที่เศรษฐกิจ เมื่อนายกรัฐมนตรีกลับไป มี ครม.ส่วนหน้า ทำให้บางคนคิดว่ากำลังทำเขตปกครองพิเศษในพื้นที่หรือเปล่า แต่ส่วนตัวคิดว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น”

สำหรับประเด็นกระบวนการสันติภาพ แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพมองว่า ครม.ส่วนหน้าอาจจะไม่สามารถช่วยในกระบวนการสันติภาพ สันติสุข เต็มที่สักเท่าไร  และควรจะได้ลงมารับฟังรับความคิดเห็นจากองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่รับฟังองค์กรที่จัดตั้งโดยรัฐอย่างเดียว