posttoday

คนเมืองกับสำนึกสิ่งแวดล้อม "เหยียดเชื้อชาติ-ผูกติดชนชั้นนำ"

15 กันยายน 2559

ตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต” โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ภายใต้กิจกรรม “เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว”

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและความท้าทายในอนาคต” โดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา เจ้าของรางวัลบุคคลเกียรติยศมูลนิธิโกมลคีมทอง ปี 2558 ภายใต้กิจกรรม “เมื่อน้ำท่วมฟ้า ปลาจะกินดาว” ที่ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้วิพากษ์คนชั้นกลางอย่างรุนแรงและตรงไปตรงมา

เลิศศักดิ์ ระบุว่า กึ่งศตวรรษของประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทย นับตั้งแต่การก่อตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแห่งแรก ได้ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ในสังคมไทย โดยเฉพาะพวกชนชั้นกลางทั้งหลายกลายเป็นพวกศักดินานิยมและเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ และเป็นเรื่องที่น่าเวทนามากสำหรับวงการอนุรักษ์ฯ ที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ติดตัว

เลิศศักดิ์ ตั้งประเด็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่แนวคิดหลักในการอนุรักษ์ฯ กลับมองคนอยู่กับป่า หรือใช้พื้นที่ป่าเป็นพวกบุกรุก เห็นได้จากการที่คนเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานคร (กทม.) มักมองว่าคนเหนือหรือชาวบ้านบนดอยเป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม หรือน้ำแล้งจากการอยู่อาศัยและหากินในพื้นที่ป่า ทั้งๆ ที่ควรมองให้เป็นมิตรต่อกัน

“ความคิดและการกระทำเหล่านี้มันฝังลึกในสังคมไทยมาตั้งแต่เริ่มต้นศักราชการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก มันสะท้อนว่าคนเมืองหรือคนชั้นกลางเป็นศักดินานิยมมาก ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ค้นคว้าข้อมูล ขอมีชีวิตติดอยู่กับชนชั้นนำในสังคมไทยเท่านี้ถึงมีสุข” เลิศศักดิ์ ระบุ

เลิศศักดิ์ ตั้งคำถามว่า เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าเหตุใดตัวเลขผู้บุกรุกป่าส่วนใหญ่จึงมีแต่คนจน ทำไมคนที่อยู่ในป่าหรือคนที่ใช้ป่าจึงมีแต่คนจน หรือการจับกุมดำเนินคดีเกี่ยวกับการบุกรุกเหตุใดจึงไม่สามารถจับคนรวยหรือผู้มีอำนาจได้

ทั้งนี้ หากพิจารณามาตรา 4 ของกฎหมายป่าไม้ ซึ่งให้คำนิยาม “ป่า” ไว้ว่าเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน จะพบว่าเป็นบทบัญญัติสั้นๆ ที่มีเนื้อหาครอบจักรวาล

“ไม่ว่าที่ดินจะเสื่อมโทรมเพียงใด หรือไม่มีต้นไม้ขึ้นสักต้นเลย แต่หากที่ดินผืนนั้นยังไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายที่ดิน นั่นเท่ากับว่าที่ดินแห่งนั้นคือป่า ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะอยู่ก่อนหรือหลังกฎหมายป่าไม้ประกาศใช้ คุณก็ไม่มีสิทธิตรงนั้น” เลิศศักดิ์ ชี้ประเด็น

เขา กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้คนเป็นศัตรูกัน ขับไล่คน และสร้างทัศนคติให้คนในสังคมเหยียดหยามกัน และมีโอกาสจะกลายเป็นศัตรูทางชนชั้น ตราบเท่าที่ตัวเลขสถิติการบุกรุกป่าเป็นคนจนเสียส่วนใหญ่

“แต่กฎหมายแบบนี้แหละมันถูกจริตคนเมือง ชนชั้นกลาง และนักอนุรักษ์มาก ป่าต้องปราศจากมนุษย์ถึงจะเป็นป่าได้ เราจึงเห็นกิจกรรมและงบประมาณเกี่ยวกับการอนุรักษ์ให้ความสนใจแต่พืชและสัตว์ พูดถึงแต่ระบบนิเวศเป็นคุ้งเป็นแควแต่ไม่สนใจคน ไม่เคยคิดช่วยเหลือคนให้อยู่กับป่าได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี คิดแต่คนพวกนี้คือภัยคุกคามธรรมชาติ

“ไม่เว้นแม้กระทั่งกรณีภูทับเบิกที่สร้างความสะใจให้กับคนชั้นกลางในเมืองน่าดู ที่อำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้รังแกประชาชนโดยไม่แยกแยะ แต่ใช้วิธีหว่านแหคลุมหมดทั้งปลาเล็กปลาน้อย” นักเคลื่อนไหวรายนี้ พูดชัด

เลิศศักดิ์ ยกตัวอย่างอีกว่า กรณีเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ตราบใดที่นักอนุรักษ์ไม่ต้องการให้ใช้อำนาจมาตรา 44 ผลักดันโครงการ แต่ไม่เคยสนใจไยดีสังคมส่วนอื่น มึนชา นิ่งเฉย และอาจเชียร์รัฐบาล คสช.ให้ใช้มาตรา 44 ในเรื่องอื่นๆ ของสังคมเสียด้วยซ้ำ ตราบนั้นจิตใจอนุรักษ์ก็คงไม่สูงขึ้น

ทั้งนี้ การอนุรักษ์ที่แท้จริงมันเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อถกเถียงและหาทางออกในเรื่องความมั่นคงและยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่นิยมหรือสนับสนุนใช้อำนาจพิเศษเข้าไปจัดการ