posttoday

ใครคุมกทม.เบ็ดเสร็จ "ผุสดี-จุมพล-อัศวิน"?

29 สิงหาคม 2559

กทม.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อำนาจการตัดสินใจจึงตกอยู่กับรองผู้ว่าฯ อันดับ1 โดยตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.มีทั้งสิ้น 4 คน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

คําสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติราชการเป็นการชั่วคราว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร โดยยังไม่พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสมือนฟ้าผ่ากลางอากาศที่ทำให้เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.สั่นสะเทือน

สืบเนื่องจากหลายโครงการใน กทม.ส่อเค้าเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเกี่ยวโยง กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อาทิ โครงการประดับไฟลานคนเมืองต้อนรับปีใหม่ 2559 งบจำนวน 39.5 ล้านบาท โครงการปรับปรุงห้องผู้ว่าฯ กทม.และคณะผู้บริหาร มูลค่ากว่า 16.5 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อเครื่องดนตรีให้โรงเรียนในสังกัด กทม. โครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็กที่อาจใช้งานได้ไม่สมราคา

ทั้งหมดกำลังถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เบื้องต้นพบขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างมีพิรุธ จึงเป็นที่มาของคำสั่งพักราชการชั่วคราว เปิดทางให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ เพื่อให้ปราศจากอำนาจแทรกแซง

เมื่อผู้ว่าฯ กทม.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อำนาจการตัดสินใจจึงตกอยู่กับรองผู้ว่าฯ อันดับ 1 ตามมาตรา 81 ให้ปฏิบัติหน้าที่แทน โดยตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม.มีทั้งสิ้น 4 คน ประกอบด้วย 1.ผุสดี ตามไท 2.จุมพล สำเภาพล 3.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ 4.อมร กิจเชวงกุล ทั้งหมดยังคงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นเดิม

ผุสดี รองผู้ว่าฯ ลำดับแรกมีดีกรีปริญญาเอก (วิทยาศาสตร์ศึกษา) มหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา อดีต สส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ คลุกคลีในแวดวงบริหารงาน กทม. เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน สมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น จึงได้รับความไว้วางใจจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ วางตัวให้เข้ามาช่วยงาน อีกทั้งมติพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้มีสัดส่วนของสตรีเข้ามาร่วมบริหารด้วย จึงรับผิดชอบดูแลงานด้านสิทธิมนุษยชน สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักพัฒนาสังคม

แต่แม้ ผุสดี จะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 1 แต่ว่ากันว่า คนที่ถือว่าเป็นมือไม้ให้กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตัวจริงคือ จุมพล ผู้ผ่านงาน กทม.มายาวนาน 38 ปี ผ่านการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการโยธา อดีตรองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อดีตรองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และเคยเป็นวิศวกรรับผิดชอบออกแบบโครงข่ายถนน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง

กระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง “รองปลัด กทม.” แต่ด้วยเพราะมีสัญญาใจต่อกันระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับ จุมพล เมื่อครั้งพลาดหวังไม่ได้ขยับตำแหน่งให้ขึ้นมาเกษียณในเก้าอี้ปลัด กทม. จึงถูกชักชวนให้เข้ามาเป็นข้าราชการตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. รับผิดชอบเรื่องสำคัญอย่างการดูแลสำนักการโยธา สำนักการคลัง สำนักงบประมาณ กทม. สำนักผังเมือง สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯ กทม. การพาณิชย์ของ กทม. ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ และฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ล้วนแต่เป็นสำนักที่มีโครงการใหญ่ ใช้งบประมาณมหาศาลทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการทำงานของ จุมพล ไม่ราบรื่นเพราะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ร่ำรวยผิดปกติ อาทิ โครงการจัดซื้อเครื่องจักร รถดูดไขมัน ปัญหาการซื้อขายเก้าอี้ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงใน กทม. โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขต รวมถึงข้อกล่าวหาว่าพาทีมงานไปทัวร์ประเทศญี่ปุ่น และใช้จ่ายเงินจำนวนมากซื้อสินค้าดิวตี้ฟรี เพื่อให้ได้ตั๋วเครื่องบินฟรี

ข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นถูกเปิดเผยจาก วิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต สส.กทม. ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาตรวจสอบ

ไล่เลียงคณะผู้บริหารรายอื่นแม้จะมีอำนาจ แต่ก็ยังไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริง พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษเนื่องจากมีสายสัมพันธ์อันดีกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่สำคัญมีประสบการณ์การทำงานด้านอาชญากรรมและยาเสพติด จึงรับผิดชอบสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักเทศกิจ แต่ด้วยบทบาทนักเจรจาต่อรองชั้นเชิงมีไม้อ่อนไม้แข็ง จึงทำให้สาละวนอยู่กับเรื่องจัดระเบียบทางเท้าเจรจากับผู้ค้าแผงลอย ทวงคืนพื้นที่สาธารณะจากชุมชนแออัด

ขณะที่ อมร รับผิดชอบสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักการจราจรและขนส่ง  ประสานงานกับบริษัท กรุงเทพธนาคม อย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องบีทีเอส การจัดการขยะมูลฝอย แต่ก็มีชื่อถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องในโครงการไฟประดับ 39 ล้านบาท รวมถึงโครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวี

มุมมอง ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) สะท้อนว่า การที่ คสช.มีคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม.แม้จะกระทบการทำงานที่ต้องอาศัยการตัดสินใจแก้ปัญหาเร่งด่วนแต่ภาระหน้าที่ได้ถูกมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้ว

“แม้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนมอบหมายให้ระดับรองผู้ว่าฯ เป็นคนไปปฏิบัติหน้าที่ ความรับผิดชอบทั้งหมดยังถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าฯ ฉะนั้นต้องมีส่วนรับผิดชอบถึงตัวผู้ว่าฯ ตามไปด้วย ”ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ กล่าว