posttoday

แลนด์มาร์คเจ้าพระยาเฟสแรก เมื่อคสช.กดปุ่ม เสียงค้านก็ไร้ผล

26 กรกฎาคม 2559

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการปั้นให้เป็น “จุดขาย” หรือแลนด์มาร์ค

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปั้นให้เป็น “จุดขาย” หรือแลนด์มาร์คด้านท่องเที่ยวแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยส่งต่อให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบและวางแผนงาน โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

เฟสแรก 14 กิโลเมตร (กม.) มีจุดเริ่มต้นที่สะพานพระรามที่ 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าทั้งสองฝั่ง ฝั่งละ 7 กม. ความกว้างคอนกรีต 19.5 เมตร ยกสูงกว่าระดับน้ำ 2.8 เมตร อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับผิวถนนอยู่ต่ำกว่าระดับสันเขื่อนป้องกันน้ำ 1.30 เมตร ประกอบด้วย ทางเดินเท้าความกว้าง 7-10 เมตร อยู่ติดแม่น้ำ ถัดมาเป็นสวนหย่อมกว้าง 3 เมตร ทางรถจักรยานกว้าง 7 เมตร  

ส่วนเฟสต่อไปจะเต็มโครงการมีจุดเริ่มต้นสะพานพระรามที่ 3 ถึงสะพานพระนั่งเกล้า รวมระยะทางทั้งสองฝั่ง 50 กม.

แลนด์มาร์คเจ้าพระยาเฟสแรก เมื่อคสช.กดปุ่ม เสียงค้านก็ไร้ผล

สำหรับเฟสแรกตามขั้นตอนยังต้องมีการสำรวจและสอบถามความเห็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกเป็นรอบที่ 3 ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนที่ สจล.จะเสนอแผนงานทั้งหมดให้ กทม. ในเดือน ก.ย. เพื่อเริ่มก่อสร้างในปี 2560 ใช้งบสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ระยะทาง 14 กม.ครั้งนี้ จะผ่านวัด 8 แห่ง ท่าเรือ 36 แห่ง โรงแรมและร้านอาหาร 6 แห่ง สถานที่สำคัญขนาดใหญ่ 19 แห่ง โดยมีประชาชนรุกล้ำริมฝั่งเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งรวม 268 หลังคาเรือน

กระนั้นยังมีเสียงคัดค้านจากบางชุมชนริมเจ้าพระยาที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะประชาคมรักสามพระยาที่มีแนวโน้มจะยื่นเรื่องศาลปกครองขอให้ระงับโครงการก่อน เพราะเห็นว่าจากแผนที่เสนออาจส่งผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านริมแม่น้ำอย่างเลี่ยงไม่ได้

แลนด์มาร์คเจ้าพระยาเฟสแรก เมื่อคสช.กดปุ่ม เสียงค้านก็ไร้ผล

ยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการดำเนินโครงการพัฒนาทางเลียบแม่น้ำนี้ ไม่ได้ตั้งโจทย์มาก่อนว่า ต้องการให้มีผลต่ออะไรบ้าง ทั้งเรื่องระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว หรือการระบายน้ำแต่เป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการทำ จึงสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ หรือเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องในภาพรวม และที่ระบุว่าโครงการนี้ผ่านความเห็นชอบจากชุมชนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะชุมชนไม่มีสิทธิเลือกตั้งแต่แรก

“ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ควรรีบดำเนินโครงการแบบข้ามขั้นตอนภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งจะเปิดประมูลโครงการภายในเดือน ต.ค.นี้” ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด สจล.ได้นำเสนอภาพภูมิทัศน์ตัวอย่างที่ได้ออกแบบตามแผนย่อย 12 แผนในโครงการระยะนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ามายังสื่อมวลชน

แลนด์มาร์คเจ้าพระยาเฟสแรก เมื่อคสช.กดปุ่ม เสียงค้านก็ไร้ผล

สำหรับ 12 แผนย่อย ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน ฟื้นฟูและอนุรักษ์วัฒนธรรมให้เป็นแหล่งความรู้ท่องเที่ยง 2.พัฒนาจุดหมายตามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7 พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา

3.พัฒนาท่าเรือ  4.พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ ปรับปรุงตรอก ซอก ซอย ทางเดิน เพื่อเชื่อมต่อและเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 5.จัดทำทางเดินริมแม่น้ำ ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม และหลายส่วนของริมฝั่งธนบุรี

6.ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อนให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม 7.พัฒนาศาลาท่าน้ำ 8.จัดทำพื้นที่บริการสาธารณะ 9.พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน  10.ปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 11.พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ  12.สะพานคนเดินข้าม สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ โดยสร้างใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี จากห้างแม็คโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย จรัญสนิทวงศ์ 84