posttoday

"เตือนแล้วไม่ฟัง"เสียงบ่นจากคนกรุงถึงกทม.กรณีต้นไม้รอบสวนจิตรโค่นล้ม

22 มิถุนายน 2559

เสียงสะท้อนจากกลุ่มคนรักต้นไม้ถึงกทม. เมื่อคำท้วงติงไม่ได้รับการเหลียวแล ผลคือโศกนาฎกรรม

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

และแล้วสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงกังวลมาตลอดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อต้นไม้ที่ถูกตัดแต่งปรับภูมิทัศน์ใหม่บริเวณรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเกิดโค่นล้มลง หลังฝนตกหนักเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ย้อนไปไม่กี่เดือนก่อน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการก่อสร้างทางเท้าบริเวณรอบวังสวนจิตรลดา ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาปนิกและต้นไม้ โดยระบุว่า โครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้ต้นไม้โค่นล้มได้ในอนาคต เนื่องจากถูกตัดแต่งราก และกดทับด้วยคอนกรีต จนมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรง ขณะเดียวกันยังมองว่า เส้นทางที่ซิกแซกตลอดแนวต้นไม้ยังไม่เหมาะสมกับผู้ใช้งานด้วย

ล่าสุด (22 มิ.ย.) ภาพต้นไม้โค่นล้มบริเวณสวนจิตรลดา ได้ถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ จนกลายเป็นภาพสะท้อนว่า ถ้อยคำท้วงติงด้วยความห่วงใยจากประชาชนไม่ได้รับการเหลียวแล

ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ยืนยันก่อนหน้านี้พูดคุยกับทาง กทม. แล้วว่า โครงการจะส่งผลกระทบเสียหายอย่างไรบ้าง ซึ่ง กทม.รับปากว่าจะปรับปรุงให้เหมาะสม แต่ท้ายที่สุด ภาพที่ออกมาก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้ทำตามสัญญา

“เครือข่ายต้นไม้ในเมือง เคยร่วมกับสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยเข้าพูดคุยกับท่านรองผู้ว่าฯ กทม. แล้ว สุดท้ายก็ได้ผลอย่างนี้ เครือข่ายอยากให้ประชาชนรู้ว่าเราทำหน้าที่แล้ว แต่ผู้บริหารไม่รักษาสัญญา ต้นไม้ทุกต้นที่อยู่เมืองต้องได้รับการดูแล เราปฎิบัติต่อเขาอย่างไร เราจะได้รับผลอย่างนั้น การที่ต้นไม้โค่นล้มลง จนเดือดร้อนคนในเมือง ไม่ใช่ความผิดของต้นไม้แต่เป็นวิธีการดูแลที่ผิดของคนดูแล ทั้งการปฎิบัติต่อ ราก ลำต้น กิ่งและใบ”

"เตือนแล้วไม่ฟัง"เสียงบ่นจากคนกรุงถึงกทม.กรณีต้นไม้รอบสวนจิตรโค่นล้ม

ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) บอกว่า ต้นไม้บริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะโค่นล้มจริงจำนวน 2 ต้น

“สาเหตุที่ล้ม คาดว่าน่าจะมาจากสภาพอากาศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีฝนเทลงมาอย่างหนักตลอดทั้งวัน จนมีผลต่อดิน และหากสังเกต ต้นไม้ที่โค่นล้มนั้นมีลักษณะลำต้นเอียงอยู่ก่อนแล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการปรับปรุงทางเท้าของ กทม. เพราะวันเดียวกัน เกาะกลางบริเวณถนนศรีอยุธยาก็มีต้นไม้ล้มเช่นกัน”

ทวีศักดิ์ อธิบายถึงจุดเริ่มต้นที่เกิดโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบสวนจิตรลดาว่า ต้องการสร้างเส้นทางที่เป็นจุดร่วมสำหรับทุกคน ทั้งคนเดิน คนปั่นจักรยาน และคนรักสิ่งแวดล้อม

“ทางจักรยานนั้นเป็นแนวตรงอยู่ชิดขอบด้านในแต่ละด้านของถนนรอบวังสวนจิตรลดา ส่วนทางเท้าซิกแซกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับคนเดินหรือจ๊อกกิ้งสบายๆ พยายามหลบหลีกและกระทบกับต้นไม้ในพื้นที่น้อยที่สุด บางคนถามว่าทำไมไม่เอาทางจักรยานคู่กับทางเดินไปเลย ขอตอบว่าที่ผ่านมาพบปัญหาระหว่างผู้ใช้จักรยานและคนเดินประจำ ทั้งสวนลุมพินี และสวนจตุจักร ฉะนั้นการแยกเส้นทางจึงจำเป็น กทม.ดูลักษณะทางกายภาพและพยายามทำให้ทุกอย่างให้ไปด้วยกันได้ ยืนยันว่าเราแคร์ความรู้สึกของคนรักต้นไม้ และไม่คิดจะทำลายแน่นอน”

ผอ.สจส. ทิ้งท้ายว่า ทุกการกระทำนั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่าง กทม.พยายามทำให้ดี ลงตัว และมีผลกระทบในแง่ลบน้อยที่สุดกับทุกๆ คน โดยมองจากหลายมุมมองและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ยศพล บุญสม สถาปนิกชื่อดัง เคยเรียกร้องให้ กทม.ยกเลิกก่อสร้างโครงการเจ้าปัญหานี้มาแล้ว โดยระบุปัจจัยหายนะ 3 ประการ คือ 1.การตัดรากแขนงจะทำให้ต้นไม้โค่นล้ม เนื่องจากบางต้นรากแก้วไม่สามารถเจาะลงไปในดินได้ลึกเพียงพอ หากเกิดพายุฝนกระหน่ำอาจทำให้โค่นล้มลงมาทับคนหรือทรัพย์สินเสียหายได้  2.คอนกรีตที่ปิดทับดิน ทำให้รากไม่มีอากาศหายใจ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของต้นไม้ 3.ลดพื้นที่ซึมน้ำที่จะให้ความชุ่มชื้นกับต้นไม้และระบบนิเวศโดยรอบ

นี่คือโศกนาฏกรรมของคนรักต้นไม้ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด อันจะเป็นบทเรียนให้แก่ภาครัฐว่าต่อไปควรจะรับฟังเสียงท้วงติงของประชาชนให้มากกว่านี้.

"เตือนแล้วไม่ฟัง"เสียงบ่นจากคนกรุงถึงกทม.กรณีต้นไม้รอบสวนจิตรโค่นล้ม

 

"เตือนแล้วไม่ฟัง"เสียงบ่นจากคนกรุงถึงกทม.กรณีต้นไม้รอบสวนจิตรโค่นล้ม ภาพล่าสุดของต้นไม้บริเวณสวนจิตรลดา

 

"เตือนแล้วไม่ฟัง"เสียงบ่นจากคนกรุงถึงกทม.กรณีต้นไม้รอบสวนจิตรโค่นล้ม

ภาพจากเฟซบุ๊ก BIG Trees , TALA Thai Association of Landscape Architects