posttoday

"รอยล"ชี้ชาวกรุงเตรียมรับมือฝนตกหนักใน1-2 วันนี้

29 เมษายน 2559

ผอ.สสนก. ชี้ชาวกรุงเตรียมรับมือฝนตกหนักช่วง 30 เม.ย.-1 พค. นี้

ผอ.สสนก. ชี้ชาวกรุงเตรียมรับมือฝนตกหนักช่วง 30 เม.ย.-1 พค. นี้

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ) พบว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า วันที่ 30 เม.ย.และ วันที่ 1 พ.ค.นั้น กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออก เช่น บางกะปิ คลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว ประเวศ มีโอกาสที่จะเกิดฝนตกค่อนข้างสูง ส่วนการเกิดลูกเห็บนั้น มีโอกาสน้อย เมื่อเทียบกับภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะกรุงเทพยังไม่ร้อนมากนัก เนื่องจากการได้รับอิทธิพลจากลมทะเลอยู่

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่หลายพื้นที่ของประเทศไทย มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น จนสร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะ ที่ จ.บึงกาฬ นครราชสีมา และลำปาง มาจาก 3 สาเหตุหลักๆคือ 1.ช่วงเวลานี้เป็นช่วงรอยต่อของจุดเปลี่ยนระหว่าง เอลนีโญ่ เป็นลานีญา 2.สภาวะสิ่งแวดล้อมหลายพื้นที่ ทั้งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านไม่ดีเลย ป่าไม้น้อย เป็นเหตุให้ความชื้นในบรรยากาศมีน้อย พื้นดินมีความแห้งแล้ง อุณหภูมิของน้ำทะเล และอุณหภูมิของแผ่นดิน แตกต่างกันมาก เมื่อมีลมแรงขึ้น พายุก็จะแรงขึ้นด้วย และ 3.พื้นที่นั้นมีความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิสูงสุด และอุณหภูมิต่ำสุดในวันดังกล่าวสูงมาก

"เช่น ที่ บึงกาฬนั้น ในวันเกิดเหตุ ช่วงเช้ามืดอุณหภูมิอยู่ที่ 23 องศาเซลเซียส แต่ช่วงบ่ายอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ประกอบกับมีมวลอากาศเย็น จากประเทศจีน และทะเลจีนใต้แผ่เข้ามา ทำให้เกิดลมแรงเป็นพายุฤดูร้อน ไม่ต่างกับที่ จ.ลำปาง ที่อุณหภูมิสูงสุด 43.4 องศาเซลเซียส ช่วงกลางวัน และช่วงเช้ามืดอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส ซึ่งภาวะเช่นนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นอีก ในหลายๆพื้นที่ไปจนถึงสิ้นฤดูร้อน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเกิดที่ไหนบ้าง ต้องดูอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน ในแต่ละวัน แต่ส่วนใหญ่น่าจะเกิดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด ตอนกลางวันอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียสทั้งนั้น"นายรอยล กล่าว