posttoday

โคราชแล้ง11อำเภอเปริมาณน้ำในทุกเขื่อนลดต่ำ

30 มีนาคม 2559

นครราชสีมา-ปริมาณน้ำทุกเขื่อนในโคราชลดต่ำต่อเนื่องชลประทานวอนประชาชนใช้น้ำประหยัด จังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 11 อำเภอ

นครราชสีมา-ปริมาณน้ำทุกเขื่อนในโคราชลดต่ำต่อเนื่องชลประทานวอนประชาชนใช้น้ำประหยัด จังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้ว 11 อำเภอ

เมื่อวันที่30มี.ค.59 นายชิตชนก  สมประเสริฐ  ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่8 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้ มีปริมาณน้ำกักเก็บที่สามารถใช้ได้เฉลี่ยอยู่ที่ 29 เปอร์เซ็นต์ของความจุกักเก็บ ซึ่งเขื่อนลำตะคอง อำเภอสีคิ้ว มีปริมาณเหลือใช้การ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 21.90 เปอร์เซ็นต์ จากความจุกักเก็บ 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนลำพระเพลิง อำเภอปักธงชัย มีปริมาณน้ำเหลือใช้การ 55.843 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 51.60 เปอร์เซ็นต์ ของความจุกักเก็บ 109 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนมูลบน อำเภอครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือใช้การ 31.374 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 23.41 เปอร์เซ็นต์  ของความจุกักเก็บ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร , เขื่อนลำแชะ อำเภอครบุรี มีปริมาณน้ำเหลือใช้การ 66.996 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 25เปอร์เซ็นต์ ของความจุกักเก็บ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนลำปลายมาศ อำเภอเสิงสาง มีปริมาณน้ำเหลือใช้การ 40.383 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 45.53 เปอร์เซ็นต์ ของความจุกักเก็บ 96 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 328.23 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 29.64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบกับวันเดียวกันของปีที่ ผ่านมา(30มี.ค.2558) มีปริมาณน้ำใช้การที่น้อยกว่าถึง 59.80 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 1,167.75 ล้านลูกบาศก์เมตร  

สถานการณ์ปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนเป็นไปตามแผนบริหารจัดการน้ำที่ทางชลประทานได้วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องมีการติดตามปริมาณน้ำในแต่ละเขื่อนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะต้องบริการจัดการให้เพียงพอต่อการประปา และการอุปโภคบริโภคของประชาชน จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนโดยการจัดส่งน้ำออกไปจากเขื่อนแต่ละเขื่อนก็จะต้องผ่านที่ประชุมของกลุ่มผู้ใช้น้ำ JMC ในแต่ละเขื่อนทั้งนี้จึงอยากให้โรงประปาหรือโรงสูบน้ำในแต่ละพื้นที่นั้นควรที่จะมีการสูบน้ำดิบเข้าแหล่งกักเก็บน้ำไว้ให้เต็มอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ใช้น้ำ ทั้งนี้จึงอยากขอความร่วมมือกับประชาชนทุกคนก็ควรที่จะช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อรักษาปริมารน้ำต้นทุนที่อยู่ในเขื่อนให้ผ่านฤดูแล้งนี้ไปได้

ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมายังคงขยายพื้นที่เป็นวงกว้าง ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งแล้วทั้งสิ้น 11 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ เดือดร้อนกว่า 63 ตำบล 699 หมู่บ้าน  60,145 ครัวเรือน มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 4แสน 6 หมื่นไร่