posttoday

ขยักแรกปากคลองตลาด "1เม.ย." ห้ามขายตอนกลางวัน

28 มีนาคม 2559

กทม.ขีดเส้นตายวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะไม่อนุญาตให้ผู้ค้าปากคลองตลาดทำการค้ากีดขวางบนทางเท้าในช่วงเวลากลางวัน

โดย....นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ภาพความไม่เป็นระเบียบของเหล่าร้านค้าหาบเร่แผงลอยขายดอกไม้ย่านปากครองตลาด ต่างจับจองพื้นที่ทางเท้า ทั้งในและนอกจุดผ่อนผันจำนวนกว่า 1,000 แผง ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่สามารถเดินบนทางเท้าได้อย่างเสรี แม้กระทั่งการยืนที่ป้ายรอขึ้นรถโดยสารประจำทางทำได้ยาก จำใจต้องลงมายืนบนถนนแลกกับความเสี่ยงถูกรถยนต์เฉี่ยวชน เพียงเพราะไม่ต้องการมีปัญหากับร้านค้าแผงลอยฉวยโอกาสยึดป้ายรถเมล์เป็นอาณาเขตขายของส่วนตัว

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจัดระเบียบทวงคืนพื้นที่ทางเท้าให้กับประชาชน เริ่มด้วยการเจรจรขอร้องให้ผู้ค้าบนทางเท้าย้ายเข้าไปเช่าแผงใหม่ในตลาดข้างเคียง 3 แห่ง แบ่งเป็น ตลาดปากคลองตลาด 321 แผง ตลาดยอดพิมาน 798 แผง และตลาดส่งเสริมเกษตรไทย 150 แผง รวมแล้วมีความสามารถรองรับผู้ค้าได้กว่า 1,269 แผง โดยกทม.ประสานขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการตลาดทั้ง 3 แห่ง ให้คิดค่าเช่าผู้ค้าในอัตราที่เหมาะสม พร้อมทั้งขอยกเว้นค่าเช่าในเดือนแรก

ทำให้วันที่ 29 ก.พ.จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อไม่มีร้านค้าแผงลอยกีดขวางทางเท้าหลงเหลืออีกต่อไป ทว่าเรื่องราวไม่จบลงโดยง่าย เมื่อผู้ค้าย่านปากคลองตลาดรวมตัวประท้วงต่อต้านไม่ยอมรับการจัดระเบียบและเรียกร้องให้ขายบนทางเท้าต่อไป

ข้อโต้แย้งของกลุ่มผู้ค้าแผงลอย ให้เหตุผลว่าราคาค่าเช่าแพงในตลาดใหม่ทั้ง 3 แห่งมีราคาแพงเกินจะรับไหว รวมถึงกลัวเสียลูกค้าขาประจำ ทั้งยังทำลายเสน่ห์แหล่งค้าส่งดอกไม้ชื่อดังของกรุงเทพฯ ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดผลกระทบลูกโซ่ทำลายอาชีพเกษตรกรอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการเจรจาไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ ทำให้เส้นตายวันที่ 29 ก.พ.ถูกเมินเฉยต้องเลื่อนออกไปอย่างไร้ความหมาย เป็นเช่นนี้กทม.จึงต้องกลับมาทบทวนเพื่อหาทางออกอีกครั้ง ด้วยการหาสถานที่เช่าแผงแห่งใหม่ให้เป็นที่พอใจของผู้ค้า

กระทั่งการประสานหาตลาดเพิ่มขึ้นได้อีก 2 แห่ง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ตลาดในซอยสวนผัก 4 ซึ่งเป็นของกระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่ 28 ไร่ เป็นอาคาร 3 ชั้นและมีที่จอดรถรองรับ ทางผู้ประกอบการสถานที่ให้ความร่วมมือไม่เก็บค่าเช่าแผงเป็นเวลา 5 ปี ผู้ค้าจะชำระเพียงค่าน้ำและค่าไฟตามการใช้งานจริงเท่านั้น และ2.ตลาดไท จ.ปทุมธานี ทางกทม.ได้เจรจากับเจ้าของตลาดอนุญาตให้ 6 เดือนแรกไม่เก็บค่าเช่าพื้นที่ หลังจากนั้นจะคิดค่าเช่าแผงวันละ 99 บาท

โต๊ะเจรจากับผู้ค้าปากคลองตลาดถูกตั้งขึ้นอีกครั้งในวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนผู้ค้าได้เสนอว่า หากย้ายไปสถานที่ใหม่ไม่ขัดข้อง แต่มีความกังวลว่าถ้าหากย้ายไปแล้วขายไม่ได้ทาง กทม.จะรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดเมื่อดอกไม้เหี่ยวเฉาลงจนไม่สามารถขายได้หรือไม่

อนึ่งผู้ค้าขอให้กทม.เตรียมสถานที่แห่งใหม่ให้มีการคมนาคมที่สะดวก รองรับรถได้เป็น 1,000 คัน มีลานจอดรถ พนักงานขนถ่ายสินค้า ระบบจัดเก็บขยะไม่ให้ตกค้าง แบ่งสัดส่วนลานเก็บสินค้าให้ชัดเจน แยกพื้นที่เปียก พื้นที่แห้ง พร้อมทั้งขอมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตลาดแห่งนี้ในรูปแบบสหกรณ์ด้วย

ทว่าสุดท้ายการประชุมต้องล้มเหลวลงทำให้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยนายวัลลภ สุวรรณดี ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองปลัดกทม. อยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนเดินหน้าไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ จึงนัดหมายให้มาเจราจรกันใหม่ครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 มี.ค.

ขยักแรกปากคลองตลาด "1เม.ย." ห้ามขายตอนกลางวัน

ขณะที่สังคมโซเชียลส่วนใหญ่แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก “กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่แผงลอย”  วิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่พอใจต่อบทบาทการทำงานของ กทม. ที่ไม่มีความเข้มแข็งบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง  และหากทำไม่สำเร็จจะเป็นตัวอย่างให้กทม.ไม่สามารถจัดระเบียบในย่านอื่นๆได้ บางรายโพสต์ข้อความเรียกร้องให้ยกเลิกจุดผ่อนผันทั้งหมด เพราะทำให้คนเกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าจำนวนยังคงอยากเข้ามาจับจองที่ว่างขายของ

เมื่อถึงวันนัดหมายครั้งสุดท้าย พล.ต.อ.อัศวิน พยายามใช้ความประนีประนอมด้วยการยกมือไหว้พร้อมกล่าวขอร้องผู้ค้าแผงลอยให้ยอมทำตามคำสั่งจัดระเบียบสังคมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม

“เรื่องสินค้าทางการเกษตรไม่มีใครรับผิดชอบได้ หากผู้ซื้อต้องการซื้อไม่ว่าจะขายที่ไหนก็จะเดินทางไปซื้ออยู่ดี ซึ่งทางเท้าไม่สามารถแบ่งพื้นที่ให้ขายของได้ จึงขอให้เห็นใจจะให้ผมกราบหรือไหว้ก็ยอมทุกอย่าง ที่ผ่านมา 2-3 เดือนคิดจนหัวจะแตกอยู่แล้วเพื่อหาทางช่วยผู้ค้าทุกคน แต่ถ้าจะต่อรองหรือซื้อเวลาคงไม่ได้” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

นายวัลลภ กล่าวว่า กทม.ไม่เคยคิดทอดทิ้งผู้ค้าและได้พยายามหาทางช่วยโดยจัดหาสถานที่ขายใหม่ให้มาโดยตลอด  จึงอยากขอให้ผู้ค้าเห็นใจกทม.บ้าง ย่านปากคลองตลาดจะวางขายของแน่นเหมือนเดิมอีกไม่ได้ หากไม่ดำเนินการใดๆจะถูกร้องเรียนมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ด้านตัวแทนผู้ค้ายังคงย้ำจุดยืนต้องการให้ กทม.รับผิดชอบหากสินค้าเกษตรเสียหาย เพราะหากย้ายไปแล้วเกรงว่าจะไม่มีลูกค้าตามมาซื้อ และขอขยายเวลาให้ขายบนทางเท้าต่อไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้บรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียดส่อเค้าไม่มีทางออกเช่นเดิม

ท้ายที่สุดพล.ต.อ.อัศวิน ตัดสินใจเด็ดขาดขีดเส้นตายวันที่ 1 เม.ย.นี้ จะไม่อนุญาตให้ผู้ค้าปากคลองตลาดทำการค้าบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลากลางวัน ส่วนในเวลากลางคืน กทม. อนุญาตให้ผู้ค้าทำการค้าชั่วคราวภายใต้ข้อกำหนดจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 59 ตั้งแต่เวลา 20.30-04.30 น. และยืนยันว่าจะไม่มีการขยายเวลาให้ผู้ค้าอีก โดยในวันที่ 1 ก.ค. 59 ทางเท้าบริเวณปากคลองตลาดต้องไม่มีแผงค้า พร้อมกันนี้ขอให้ผู้ค้าทำตามกติกาสังคมและเคารพกฎหมายบ้านเมือง ขณะที่ตัวแทนผู้ค้ายอมรับเงื่อนไขและรับปากว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งต่อไป