posttoday

"โรงเรียนศรีแสงธรรม"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน

07 มีนาคม 2559

เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งพัฒนาห้องเรียนบ้านดิน-โซล่าเซลล์แตกๆ สู่ต้นแบบโรงเรียนพลังงานทดแทน ปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชาติ

เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งพัฒนาห้องเรียนบ้านดิน-โซล่าเซลล์แตกๆ สู่ต้นแบบโรงเรียนพลังงานทดแทน ปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชาติ

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่พื้นฐานเรื่องการอ่าน เขียน เพื่อทำข้อสอบเท่านั้น แต่สอนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนเข้มแข็งจากการลงมือทำ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ทักษะอื่นๆทั้งด้านสังคม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ช่วยสร้างประเทศชาติให้เข้มแข็ง  เพราะ "ความมั่นคงของชาติ" ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน

ต่อไปนี้คือเรื่องราวของการก่อตั้ง"โรงเรียนศรีแสงธรรม" หรือที่หลายคนเรียกกันว่า "โรงเรียนโซล่าเซลล์"  ต้นแบบแห่งพลังงานทดแทน

พระครูหัวใจสีเขียว

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ 5 บ้านดงดิบ ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า "พระอาจารย์"  ได้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ในปี 2553 เปิดสอนทั้งม.ต้น-ปลาย โรงเรียนแห่งนี้มีโจทย์มาจาก “ความขาดแคลน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา พระอาจารย์ได้มุ่งมั่นหาคำตอบเพื่อแก้โจทย์เรื่องความขาดแคลน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  หลักธรรม และเทคโนโลยี  มาผสมผสาน เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความสมดุลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม  เพื่อหวังว่าคำตอบจากการสร้างโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นมีส่วนในการช่วยชาติ นั่นคือ การผลิตคนดีเข้าสู่สังคม

เมื่อตัดสินใจที่จะทำ พระอาจารย์ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยและเดินหน้าสร้างความมั่นคงให้กับชาติ ด้วยการขายบ้านตัวเองที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้าย มาสมทบทุนสร้างอาคารเรียนมูลค่า 18 ล้านบาท โดยที่ไม่พึ่งพางบประมาณจากรัฐแม้แต่บาทเดียว และยังสอนเด็กๆโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีรถรับ-ส่งฟรี อาหารฟรี ควบคู่กับการทำงานอย่างหนัก  เผยแพร่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์  หวังให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานได้ โดยทุกวันนี้โรงเรียนศรีแสงธรรมผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงเรียนทำให้โรงเรียนเสียค่าไฟเดือนละ 40 บาทเพื่อรักษาค่ามิเตอร์เท่านั้น

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม

ทั้งหมดนำไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านพลังงานที่ผู้นำประเทศกล่าวถึง และเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกอบรมด้านพลังงานให้กับภาคส่วนต่างๆที่ถนนทุกสายมุ่งสู่โรงเรียนศรีแสงธรรมเพื่อศึกษาเรื่องพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันทางโรงเรียนก็พัฒนานวัตกรรมต่างๆเพื่อออกไปช่วยเหลือชุมชนด้วย

กำเนิด “โรงเรียนศรีแสงธรรม”

พระครูวิมลปัญญาคุณ เปิดใจว่า สาเหตุที่ตั้งโรงเรียน เพราะไม่อยากเห็นใครขาดแคลนการศึกษาเหมือนท่าน สมัยเด็กท่านเรียนไม่จบมัธยม ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา  เพราะพ่อแม่หย่าร้างกัน เลยต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเพราะเป็นพี่ชายคนโตของบ้าน

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระอาจารย์ตัดสินใจสร้างโรงเรียน เนื่องจากต้องการสานต่อการช่วยชาติจากหลวงตามหาบัว พระอาจารย์ของท่านได้มีส่วนรวมรวบเงินบริจาคต่างๆ ซื้อทองคำ เข้าคลังหลวง พอหลวงตาปิดโครงการช่วยชาติ จึงคิดว่าการช่วยชาติที่ดีที่สุดคือการผลิตคนดีเข้าสู่สังคม เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ

“ทุกวันนี้สิ่งที่เห็นคือ ความขัดสน ความยากจนข้นแค้นของคนในชุมชน และส่งผลกระทบไปถึงระดับชาติ เมื่อเด็กไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก จะอยู่อย่างไรในสังคม อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ อาตมามองจากจุดนี้จึงอยากให้พวกเขามีโอกาสทางการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษา เด็กๆจะไม่มีแรงจูงใจอะไรในชีวิต ไม่มีเครื่องมือในการหาเลี้ยงตัวเอง”

นี่คือแรงผลักสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์มีพลังในการทำสิ่งๆต่าง โดยไม่ย่อท้อ

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน โรงเรียนศรีแสงธรรม

ทฤษฏี...สู่ปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง  เริ่มจากห้องเรียนบ้านดิน

เป้าหมายของหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การที่เราสามารถพึ่งพาตนเอง มีความมั่นคงในชีวิต แต่การจะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างต้องเกิดจากการลงมือทำ และการมีจิตใจที่มั่นคง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  ประโยคที่ว่า"อยากได้ต้องสร้างเอง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน" ไม่ใช่คำพูดลอยๆอีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นการลงมือทำจริงๆที่โรงเรียนแห่งนี้

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน ห้องเรียนบ้านดิน ระหว่างที่มีการก่อสร้าง

จากจุดเริ่มต้นของโรงเรียนซึ่งมีปัจจัยเพียงน้อยนิดจากการบริจาค พระอาจารย์จึงตัดสินใจพาเด็กๆสร้างอาคารเรียนแบบบ้านดิน เพราะเป็นแนวทางที่ประหยัดที่สุดและสามารถทำได้ตัวเอง ทุกคนลงมือปั้นดินเป็นด้วยตัวเองนับพันนับหมื่นก้อนเพื่อสร้างอาคารเรียนบ้านดินด้วยตัวเอง ทำให้เด็กๆมีความภูมิใจมาก เพราะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนสร้างมากับมือถือเป็นการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง  รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด บ้านพักครู อาคารพยายาม ถูกสร้างขึ้นมาจากเศษไม้ เศษเหล็กเก่าๆ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน ห้องเรียนบ้านดิน หลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว

อย่างไรก็ตามห้องเรียนบ้านดินขนาด 112 ตารางเมตรที่สร้างไว้ยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการสร้างอาคารเรียน 4 ชั้น มูลค่าการก่อสร้าง 18 ล้านบาท โดยพระอาจารย์ตัดสินใจขายบ้านตัวเองและชวนแม่และน้องชายมาอยู่ที่โรงเรียนด้วยกัน

ปลูกผัก-ทำนา แหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ เรียนที่นี่ต้องสตรอง

ขณะที่การสร้างแหล่งผลิตอาหารแบบเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นภารกิจสำคัญของนักเรียนที่นี่  เพื่อเป็นอาหารกลางวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก เพาะเห็ด การปลูกข้าว โดยเฉพาะในเรื่องการปลูกข้าวที่ทางโรงเรียนใช้วิธีปลูกข้าวต้นเดียว เพื่อเพิ่มผลการผลิต ซึ่งเป็นวิธีการทำนาแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในระดับโลก  โดยน้องๆโรงเรียนศรีแสงธรรม ต้องลงมือ ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ด้วยตัวเอง สร้างความตื่นตะลึงกับให้ผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นเด็กสมัยนี้ทั้งหญิงชายสามารถขับรถไถนาได้

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน นักเรียนโรงเรียนนี้ต้องสตรอง แม้แต่เด็กผู้หญิงก็ต้องไถนาได้

รวมถึงโปรเจ็กล่าสุดคือ การทำหลุมพอเพียง ถือเป็นเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง เพราะมีทั้งการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ระยะกลาง และ ผัก โดยเด็กๆต้องลงมือขุดหลุมขนาดใหญ่ 2x2ลึก 1 เมตร รวมทั้งต้องเรียนรู้การปรุงดินให้พืชด้วยเพราะดินในพื้นที่เป็นดินทรายทั้งหมด

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน โครงการหลุมพอเพียงขุมทรัพย์ของพ่อ ที่มีการปลูกพืชผสมผสานทั้งไม้ต้น ไม่ระยะกลาง และผัก

ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างเบื้องต้นที่โรงเรียนได้ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการศึกษา โดยให้เด็กๆมีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ ได้สร้างผลงานด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้ดังกล่าวกลับไปใช้เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และเลี้ยงตัวเองในอนาคตได้ เพราะทำมาหมดแล้วทุกอย่าง

ต้นกำเนิด "โซล่าเซลล์"เพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน 

สำหรับประเด็นเรื่องพลังงานทดแทนที่โรงเรียนได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน มองออกมาก็เห็นแค่ “แดด" เท่านั้น  และการเดินทางเรื่องพลังงานทดแทนก็เริ่มจากวันนั้น

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นเพิ่งย้ายเข้าอาคารเรียนใหม่ๆเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ในห้องไม่มีอุปกรณ์การสอนเลย  มีแต่ "แดด" จึงคิดว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์จากแดด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีหมด

"ตอนนั้นมีเพียงแผ่นโซล่าเซลล์เก่าๆแตกๆที่พังแล้วมาซ่อม และทดลองใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่ชาร์จมือถือ ทำโคมไฟ จากนั้นก็ขยายความรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยการเข้าร่วมประกวดโครงการงานต่างๆได้รับรางวัลประเทศมากมาย ในที่สุดจึงเดินหน้าติดตั้งโซลาเซลล์ขนาด 6 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ค่าไฟลดลงอย่างมากจากเดือนละ 6,000 บาท เหลือเพียง 40 บาท

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน พระครูวิมลปัญญาคุณ สอนวิชาพลังงานทดแทนด้วยตัวเอง

ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางโรงเรียนยังได้มีประยุกต์ใช้โซลาเซลล์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ตู้น้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์  เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์เข้าแปลงผักต่างๆ รวมถึงการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่จากโซลาเซลล์ ไม่ว่าจะเป็นรถสามล้อพลังแสงอาทิตย์ ไฟฉายขอข้าว วิทยุไม่เอาถ่าน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจ โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายถูกนำมาใช้เป็นค่าอาหารกลางวันและค่ารถรับส่งของโรงเรียน

เมื่อไฟฟ้าในโรงเรียนมีความมั่นคงแล้ว พระอาจารย์ได้เดินหน้าคิดหาทางช่วยเหลือชุมชนโดยนำโซล่าเซลล์มาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เช่น โซลาเซลล์เคลื่อนที่ “รถเข็นผลิตไฟฟ้าชุดนอนนา” สามารถใช้กับเครื่องสูบน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างวิทยุ โทรทัศน์ได้ พัดลมเพื่อให้ชาวนาเข็นไปนอนเฝ้านาอย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียค่าน้ำมันแพงๆอีกต่อไป ใช้แดดร้อนๆในนาเป็นพลังงานได้เลย ทำให้เป็นที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชมเป็นอย่างมาก

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน รถเข็นผลิตไฟฟ้าชุดนอนนาเพื่อเกษตรกร ซึ่งเป็นโปรเจคแรกๆที่พระอาจารย์ได้ริเริ่มเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้น

การเปิดอบรมเรื่องโซลาเซลล์ให้กับบุคคลที่สนใจ  เข้ามาดูงานทีาโรงเรียน รวมทั้งการเข้าไปช่วยติดตั้งโซลาเซลล์ทั้งแบบออฟกริด และออนกริด โดยทีมงานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเด็กม.ปลาย โรงเรียนศรีแสงธรรมนี่เอง เด็กๆที่นี่ต้องเรียนเรื่องพลังงานทดแทนตั้งแต่เข้า ม.1 เพราะฉะนั้นเด็กที่นี่จึงต่อไฟฟ้าแบบต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน ทีมช่างขอข้าว นักเรียนชั้น ม.ปลาย ลุยติดโซลาเซลล์ให้กับระบบประปาหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง

เสาร์- อาทิตย์ของเด็กโรงเรียนนี้ จึงพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะพระอาจารย์ได้พาเด็กๆไปปฏิบัติงานจริงในภาคสนามอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มทักษะ และเป็นรายได้พิเศษให้กับเด็กๆอีกด้วย โดยผลงานล่าสุดคือ การติดตั้งระบบไฟฟ้าออฟกริด 3,000 วัตต์ ให้กับสำนักสงฆ์พุทธอุทยานเขาคอก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา

รวมถึงโปรเจคใหญ่ สู้ภัยแล้งด้วย ระบบสูบน้ำลึกพลังแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน ที่พระอาจารย์และน้องๆ ได้ทำการติดตั้งให้กับ 2 หมู่บ้าน ในอ.อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพภาคที่ 2ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 5,000 บาท รวมถึงที่วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำคัญของ จ.อุบลราชธานี และที่อื่นๆอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานโรงเรียนศรีธรรม

ผลงานดังกล่าวเป็นที่ประทับใจของชุมชนเป็นอย่างมาก แทบไม่เชื่อด้วยสายตาว่าเด็กชั้น ม.ปลายจะมีทักษะในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ได้ อีกทั้งยังใช้เวลาแค่ 1 วันต่อ 1 โปรเจคเท่านั้น ถือว่าเร็วมาก ทั้งยังบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที

ผลักดันสถานที่ราชการ- วัดในเมือง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์

นอกจากจะมุ่งมั่นให้แสงสว่างต่อชุมชนในพื้นที่ต่างๆในพื้นที่ห่างไกลแล้ว พระครูวิมลฯยังมุ่งมั่นผลักดันให้สถานที่ราชการ วัด ในเมืองที่ใช้ไฟช่วงกลางวันจำนวนมาก ใช้โซล่าเซลล์เพื่อลดรายจ่าย โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว พระครูวิมลฯได้เป็นผู้นำในการวางระบบการติดตั้งโซลาเซลล์ขนาด 27 เมกะวัดต์ ที่วัดยานนาวา พระอารามหลวง ซึ่งได้นำร่องเป็นวัดต้นแบบในเมืองพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้เดือนละประมาณ 18,000 บาท

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน แผงโซลาเซลล์ที่วัดยานนาวา เขตสาธร นำร่องวัดในเมืองพลังงานทดแทนต้นแบบ

พระอาจารย์บอกว่า อยากให้ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในตอนกลางวัน พิจารณาเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะสามารถลดรายจ่ายได้ และเป็นการช่วยชาติ สามารถนำเงินที่เหลือไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์และการศึกษาเพิ่มเติมได้

"ถ้าสถาบันการศึกษาต่างๆที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ทดลองผลิตใช้เองก็จะประหยัดค่าไฟได้ประมาณเดือนล่ะหกแสนบาท หรือปีละ 7.2 ล้านบาท หากทำ สักพันแห่งทั่วประเทศจะมีเงินเหลือ 7.2 X 1,000 เท่ากับประมาณ 7,000 ล้านต่อปีเกิดการจ้างงานมากมายหรือนำ เงินมาพัฒนาระบบการศึกษาได้นี่คือประโยชน์ของการทำ โซลาร์เซลล์ อย่าบอกว่ามันแพงอาตมาซื้ออุปกรณ์ทั้งหมดรวมเป็นเงิน 1.8 แสนบาท ประหยัดค่าไฟเดือนละ 6,000 บาท เพราะเราซื้อแผ่นโซลาร์เซลล์16 บาทต่อวัตต์ซึ่งสามารถใช้งานได้  25 ปี จึงถือว่าคุ้มค่ามาก " พระอาจารย์คำนวนตัวเลขอย่างคล่องแคล่ว

Net Metering วาระแห่งชาติ

ในฐานะที่ทำงานด้านพลังงานทดแทนมาเป็นเวลานาน  สิ่งที่พระครูวิมลปัญญาคุณอยากเห็นมากที่สุดคือ การที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน (Net Metering) ซึ่งจะเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

พระครูวิมลปัญญาคุณ  ขยายความว่า  เมื่อทุกบ้านสามารถสร้างรายได้จากหลังคาของตัวเองได้ก็จะช่วยให้พวกเขามีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะเพียงแค่เดือน 1000-2,000 บาท แต่สำหรับคนบ้านนอกถือว่าเยอะมาก

ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นไป มันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรากหญ้าขึ้นมา หรืออาจให้เขาทำ เป็นกลุ่ม คือกองทุนหมู่บ้านละล้าน เอาเงินมาลงทุนทำ โซลาร์เซลล์แล้วรัฐรับ ซื้อจากเขา ลองรัฐบาลรับซื้อ 7 ปี เชื่อว่าจะมีเงินคืนทุน เพราะขนาดอาตมา ทำประมาณ 3 ปีก็คืนทุนแล้ว อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐยังก้าวไม่พ้นพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนในทุกด้าน

“ฉะนั้นหากรัฐมีการส่งเสริมให้แต่ละระดับสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองตามศักยภาพและรับซื้อพลังงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ทำ ให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น และหากภาคประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินปริมาณที่ใช้อยู่ก็จะช่วยให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าในระบบเพิ่มมากขึ้นโดยภาครัฐไม่ต้องลงทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเลย เราดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จด้านพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ เช่น ประเทศเยอรมนี เขารับซื้อไฟทั้งหมดที่ผลิตได้จากประชาชน ก็ทำ ให้วิกฤติการขาดแคลนพลังงานหมดสิ้นไปภายในระยะไม่กี่เดือนและมีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อาตมาอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่จุดนั้นบ้าง” พระครูวิมลปัญญาคุณ กล่าว

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน

โรงเรียนวัด  Go Online 

แม้ว่าทางโรงเรียนจะเน้นการปฏิบัติอย่างมากาย แต่ทางทฤษฎีและการสอบต่างๆ โรงเรียนก็ไม่ได้ละทิ้ง  เพราะน้องๆโรงเรียนศรีแสงธรรมสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ 100% จนลบข้อกังขาในเรื่องการจัดการศึกษาแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายคนกังวลว่าจะมีจุดอ่อนเรื่องทฤษฎีไปอย่างสิ้นเชิง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะแม้จะเป็นโรงเรียนวัดที่อยู่ห่างไกล แต่พระอาจารย์ได้ระดมสรรพความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต  โดยเฉพาะติวเตอร์ออนไลน์ต่างๆ ทั้งฟรีและดี จัดเต็มให้นักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้คะแนนO-Net  ของเด็กที่นี่สูงไม่แพ้โรงเรียนอื่นๆ  เพราะติวพิเศษกันทุกเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครต่างชาติมาสอนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษให้นักเรียนอีกด้วย

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน เด็กนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรมต้องนั่งสมาธิก่อนเข้าเรียนทุกวัน โดยมีพระอาจารย์อบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนเป็นเก่งและคนดีพร้อมทั้งกายใจ เพื่อจะเป็นกำลังสำตัญของชาติในอนาคต

นอกจากนี้องค์ความรู้ต่างๆของโรงเรียนก็ Go Online ให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ร่วมกัน  โดยผ่านช่องทาง Social Media ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  Facebook , Youtube, Blog ที่พระอาจารย์เป็นแอดมินหลัก ทั้ง โพสต์ ถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ ตัดต่อเอง ในทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำ

ที่พิเศษที่สุดคือ วีดิโอธรรมะตอนเช้า ที่นักเรียนต้องนั่งสมาธิก่อนเข้าเรียนวันละ 10 -15 นาที โดยมีพระอาจารย์เทศนาเรื่องต่างๆอบรมขัดเกลาจิตใจนักเรียนด้วยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และวีดิโอนั้นก็ถูกเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กทุกวัน  เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้กับคนทั่วไปด้วย เรียกได้ว่าการจัดการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้เป็นมิติใหม่ของการศึกษาไทยที่มีการผสมกันระหว่างหลักธรรม แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เด็กๆได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก

พระอาจารย์ฯ ย้ำปิดท้ายว่า  อยากให้ทุกพื้นที่มีโอกาสได้รู้จักโซล่าเซลล์ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายมากง่ายกว่าการตากผ้า เพราะตั้งอยู่กลางแดด 5 นาทีก็มีไฟใช้ได้แล้วอีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการดัดแปลงไปใช้ในบริบทต่างๆของชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ต้องมีความขัดแย้งกันอีกต่อไป ทุกคนสามารถผลิตพลังงานกันเองได้เลย หากโรงเรียนกลางป่าอย่างศรีแสงธรรมสามารถทำได้ทุกที่ในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้คือ เรื่องราวของโรงเรียนต้นแบบที่สร้างแสงสว่างทั้งทางปัญญา สร้างแสงสว่างให้กับชุมชน ทั้งยังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศชาติด้วย.

\"โรงเรียนศรีแสงธรรม\"จากห้องเรียนบ้านดินสู่ต้นแบบพลังงานทดแทน