posttoday

เสียงครวญก่อนปิดตำนานร้อยปี'ความเจริญมารุกล้ำพื้นที่ขายดอกไม้'

16 กุมภาพันธ์ 2559

ปากคลองตลาดผ่านมาร่วมศตวรรษพื้นที่ริมถนนทั้งสองฝั่ง ได้ยืนหยัดเป็นศูนย์กลางการค้าดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นตลาดดอกไม้ขนาดใหญ่ติดอันดับโลก

โดย...อธิปัตย์ ยศรุ่งเรือง

ปากคลองตลาดผ่านมาร่วมศตวรรษพื้นที่ริมถนนทั้งสองฝั่ง ได้ยืนหยัดเป็นศูนย์กลางการค้าดอกไม้สดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นตลาดดอกไม้ขนาดใหญ่ติดอันดับโลก

ตลาดแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นย่านการค้าเก่าแก่อันสำคัญ แต่ยังเป็นแหล่งหลอมรวมความผูกพันให้เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขายแผงลอยกับชุมชนในปากคลองตลาดได้พึ่งพิงอาศัยและอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนาน

กลิ่นหอมของดอกไม้ผสมกับกลิ่นอายของตลาดเก่ายามค่ำคืนตลอด สองฟากฝั่งริมถนนยังคงอบอวลและคึกคักไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายหาซื้อดอกไม้เตรียมต้อนรับวันวาเลนไทน์ที่ใกล้จะมาถึง แต่ไม่นานมานี้คลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้เริ่มเกิดขึ้น

หลังจากที่ กทม.มีคำสั่งเร่งจัดระเบียบร้านค้าแผงลอยย่านปากคลองตลาด ตามนโยบายจัดระเบียบคืนทางเท้าให้ประชาชนของรัฐบาล โดยขีดเส้นตายห้ามขายของบริเวณทางเท้าตลอดแนวทางเดินทั้งหมด รวมถึงผิวการจราจรตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.เป็นต้นไป พร้อมทั้งได้จัดหาพื้นที่แห่งใหม่ให้ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจุดเดิม คือ บริเวณตลาดยอดพิมาน ตลาดปากคลองตลาด และตลาดส่งเสริมการเกษตร

ชะตากรรมของแม่ค้าขายดอกไม้ริมถนนดูเหมือนจะไม่มีสิทธิเลือก ได้แต่พยายามส่งเสียงร้องขอความเป็นธรรม และแสดงข้อกังวลต่อผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขาในไม่ช้า

เสียงครวญก่อนปิดตำนานร้อยปี'ความเจริญมารุกล้ำพื้นที่ขายดอกไม้'

 

สมปอง มะนีจินดา เติบโตมากับตลาดแห่งนี้มากกว่า 50 ปี และได้ตั้งแผงร้านขายผลไม้ที่รับมาจากสวนของเกษตรกรมานานกว่าครึ่งชีวิต เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนปากคลองตลาดเป็นตลาดค้าปลาขนาดใหญ่ เนื่องจากเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา สินค้าทั้งหมดจะ ส่งตรงมาจากแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร ผ่านมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาจนมาถึง "ปากคลองตลาด" แต่ต่อมาก็เริ่มมีการเปลี่ยนจากตลาดค้าปลาไปยังตลาดแห่งอื่นที่อยู่รายรอบท่าน้ำ เนื่องจากเหมาะกับทางเดินเรือมากกว่า ตลาดปลาแห่งนี้จึงแปรสภาพเป็นตลาดสดที่เน้นการค้าส่งผัก ผลไม้ และดอกไม้สด มาจนถึงทุกวันนี้

"ปากคลองตลาดเป็นตลาดขายดอกไม้เก่าแก่มานับ 100 ปีแล้ว แต่ก่อนเขาจะนำดอกไม้และพืชผลทางการเกษตรมาวางขายตรงถนนกันเลย เมื่อก่อนรถไม่ได้เยอะอย่างนี้ เราสามารถตั้งร้านขายของตรงถนนข้างล่างได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็ว่าได้ พอช่วงค่ำมืดปากคลองตลาดก็ไม่เคยหลับใหล เพราะตอนกลางคืนจะเป็นช่วงเวลาที่ดอกไม้สดทั่วทุกพื้นที่ในประเทศเดินทางมายังที่นี่ มันเลยกลายเป็นตลาดกลางคืนที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลากหลายชนิดที่ตั้งเรียงรายบนแผงร้านค้าริมทาง"

"แผงร้านค้าขายดอกไม้บนทางเท้ามีมาตั้งแต่ถนนยังไม่เจริญด้วยซ้ำ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอันที่จริงแล้วพวกเราล้ำ เส้นถนน หรือความเจริญของถนนรุกล้ำพื้นที่ขายดอกไม้ของพ่อค้าแม่ค้ากันแน่ พอถนนเจริญขึ้นการจราจรก็หนาแน่นจนติดขัด แผงค้าเหล่านี้ก็ขยับตัวเองจากผิวถนนออกมาชิดขอบทางเท้า ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่ได้โทษความเจริญ แต่ต้องการจะบอกว่าที่ผ่านมาแผงค้าดอกไม้ก็พยายามปรับเปลี่ยนที่วางขายเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาความเจริญของท้องถนนมาตลอด แต่จู่ๆ จะมาสั่งปิดไม่ให้มีการขายเกิดขึ้น ทั้งยังไม่ได้คุยกับพวกเราเลย แบบนี้ป้าว่ามันไม่ยุติธรรม" สมปอง กล่าว

ประกอบ ทองแดง แม่ค้าขายดอกบัว เล่าว่า ขณะนี้แม่ค้าหลายคนมีความเครียดอย่างหนักหลังจากมีคำสั่งออกมา แม้ว่า กทม.จะเตรียมจัดหาพื้นที่ขายดอกไม้ไว้รองรับ แต่ก็ยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะต้องเสียค่าเช่าที่ในราคาแพงกว่าที่เป็นอยู่ แม่ค้าหลายรายก็จ่ายค่าเช่าที่ไม่ไหว ประกอบกับทำเลพื้นที่ใหม่ไม่เอื้อต่อการขายดอกไม้เหมือนที่เดิม

"ถ้าจะให้ย้ายเข้าไปข้างใน เราคงสู้ค่าเช่าที่ไม่ไหว บวกกับในตลาดมีพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งกังวลว่าจะไม่เพียงพอกับปริมาณของดอกไม้ แล้วมนต์เสน่ห์ของตลาดดอกไม้ริมทางตรงนี้ก็จะหายไป ซึ่งมันได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของปากคลองตลาดไปแล้ว นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็รู้จักกันเป็นอย่างดีว่าที่นี่เป็นถนนแห่งดอกไม้ ทั้งลูกค้าและนักท่องเที่ยวหลายคนก็ไม่เห็นด้วย คือ ตอนนี้แม่ค้าหลายคนก็ยังคงไม่ยอมย้าย เพราะเราต่างเสียดายกลิ่นอายในความเป็นตลาดดอกไม้ริมทางของปากคลองตลาด" ประกอบ ระบุ

จนิลพร บูลยภัทระวสิน ตัวแทนกลุ่ม ผู้ค้าแผงดอกไม้ปากคลองตลาด ยอมรับว่า หาก กทม.มีคำสั่งให้ยกเลิกขายที่ปากคลองตลาด ยิ่งเป็นการซ้ำเติมความลำบากให้ พ่อค้าแม่ค้าและกลุ่มเกษตรกร และยังส่งผล กระทบไปยังเกษตรกรอีกนับหมื่นราย

"ทุกวันเกษตรกรจะขับรถมาจาก ต่างจังหวัดเพื่อมาส่งดอกไม้ให้กับร้านค้าต่างๆ ที่นี่เป็นแหล่งรวมดอกไม้สดหลากหลายชนิด ดังนั้นดอกไม้จำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกรทั้งสิ้น หากจะยุบตลาดริมทางตรงนี้อยากให้ไตร่ตรองดูดีๆ ถ้าจะย้ายเข้าไปข้างในก็ไม่คุ้มค่ากับค่าเช่าแผง แม่ค้าบางคนที่นั่งร้อยพวงมาลัยอยู่กับพื้นจะให้เขานำเงินจากไหนมาจ่ายค่าเช่าแผงในราคาเดือนละหมื่น" จนิลพร กล่าว

เสียงครวญก่อนปิดตำนานร้อยปี'ความเจริญมารุกล้ำพื้นที่ขายดอกไม้'

 

กัญญา ชุมศรี แกนนำกลุ่มตัวแทนผู้ค้าดอกไม้สดปากคลองตลาด กล่าวว่า ล่าสุดได้ยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรมที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยขอให้ทบทวนคำสั่งจัดระเบียบดังกล่าว ซึ่งหากอนุญาตให้ตั้งแผงร้านค้าในพื้นที่เดิมได้แต่ต้องมีการจัดระเบียบอย่างจริงจัง ผู้ค้าทุกคนก็ยินดีจะให้ความร่วมมือทุกประการ

"เหตุผลที่ กทม.กล่าวอ้างว่า แผงร้านค้าดอกไม้ที่ตั้งขายริมทางเท้าบริเวณปากคลองตลาด ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน ก็อยากให้มองสาเหตุในหลายมิติ เพราะบริเวณปากคลองตลาดอยู่ใกล้เคียงกับโรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะบริเวณถนนจักรเพชร ยาวจนไปถึงถนนมหาราช ถูกโอบล้อมโรงเรียนราชินีและโรงเรียนสวนกุหลาบ รวมถึงสถานที่ราชการ ดังนั้นในเวลาชั่วโมงเร่งด่วนการจราจรก็ต้องติดขัดอยู่แล้ว"  กัญญา กล่าว

กัญญา กล่าวว่า ร้านค้าริมทางของตลาดปากคลองเป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาจับจ่ายหาซื้อดอกไม้ ความจริงรัฐบาลควรสนับสนุนโดยการจัดระเบียบแผงร้านค้าให้เป็นระบบที่ชัดเจน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Street's Flowers เหมือนอย่างในต่างประเทศไปเลย