posttoday

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

13 กุมภาพันธ์ 2559

ที่นี่เป็นเรือนจำแห่งแรกที่ได้นำการแทงหยวกมาฝึกสอนให้กับผู้ต้องโทษ ซึ่งตรงกับพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ

เรื่อง... เอกชัย จั่นทอง ภาพ... ทวีชัย ธวัชปกรณ์

สังคมมักตีตรา “คุก” เป็นแหล่งบ่มเพาะอาชญากรรม ทั้งการสร้างเครือข่ายยาเสพติด รวมถึงการฝึกทักษะพัฒนาฝีมือพวกงัดแงะโจรกรรมรถก็ได้วิชาเพิ่มเติมออกจากคุกในช่วงที่ถูกคุมขังจนมากลายเป็นหัวหน้าแก๊ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือผิดวัตถุประสงค์ ผิดเป้าหมายของเรือนจำที่ต้องควบคุมบุคคลเหล่านี้ไม่ให้เป็นภัยต่อสังคมได้อีก ดังนั้นการอบรมขัดเกลาให้คนผิดกลับมาเป็นสุจริตชนย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

เช่นเดียวกับเรือนจำพิเศษธนบุรี ถนนเอกชัย-บางบอน เขตบางบอน กทม. ได้จัดทำโครงการฝึกอาชีพช่างสลัก (แทงหยวก) หลักสูตร 300 ชั่วโมง ให้กับผู้ต้องโทษซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ถือว่าเป็นเรือนจำแห่งแรกในประเทศไทยที่นำหลักสูตรการสอนแทงหยวกมาฝึกสอนให้กับผู้ต้องโทษ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กนก กรุณามิตร ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี กับ วุฒิศักดิ์ ศรีเสมาเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)

ผบ.กนก บอกจุดเริ่มต้นถึงแรงบันดาลใจในการจัดทำโครงการฝึกอาชีพช่างสลัก (แทงหยวก) ว่า ช่วงที่นั่งดูโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ได้นำเสนอรายการวิธีแทงหยวก ครั้งแรกที่เห็นในทีวีจึงรู้สึกชอบเพราะมันสวยงามมาก และเป็นงานศิลปะที่กำลังจะสูญหายไป จึงเกิดแนวคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะนำการเรียนแทงหยวกมาถ่ายทอดให้กับผู้ต้องโทษ พอดีไปสอดคล้องกับวิทยาลัยในวัง ที่ต้องการอนุรักษ์สืบสานงานแทงหยวก จึงได้พูดคุยกับผู้อำนวยการวุฒิศักดิ์ จนเกิดเป็นโครงการฝึกวิชาชีพช่างสลักขึ้น

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

เรือนจำพิเศษฯ จึงเปิดรับสมัครนักโทษที่สนใจเรียนช่างแทงหยวก คัดเลือกผู้ต้องขังมา 15 คน วัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เคยรับสั่งให้วิทยาลัยในวังฝึกอบรมวิชาชีพช่างแทงหยวกให้กับเยาวชนหรือผู้ต้องขัง เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไว้ไม่ให้สูญหาย อีกทั้งงานแทงหยวกเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ และเป็นการต่อยอดอาชีพให้กับผู้ต้องขังในอนาคต

ผบ.กนก ระบุต่อว่า ส่วนวิธีการฝึกสอนผู้ต้องขังนั้น ทางเรือนจำได้วิทยากรครูภูมิปัญญาจากวิทยาลัยในวัง อย่าง พ.อ.อ.สุรเดช เดชคง ครูภูมิปัญญาไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นที่รู้จักในวงการแทงหยวก งานแทงหยวกนับเป็นงานศิลปะโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันเหลือช่างฝีมืองานแทงหยวกไม่มากนัก  พ.อ.อ.สุรเดช หรือพ่อครู นับเป็นหนึ่งในช่างแทงหยวกที่ยังเหลืออยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะช่างแทงหยวกสกุลอ่างทอง วันนี้พ่อครูกำลังทำหน้าที่เป็นวิทยากรในฐานะผู้สืบสานงานแทงหยวกให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ ตามโครงการฝึกวิชาชีพช่างสลักงานแทงหยวก

พ่อครู เล่าขั้นตอนการสอนวิธีแทงหยวกให้ผู้ต้องโทษว่าระยะเวลาการสอนจำนวน 300 ชั่วโมง จะทำให้เด็กเหล่านี้เกิดความเชี่ยวชาญ โดยปกติทั่วไปจะสอนเพียง 30 ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับรูปแบบการสอนเริ่มต้นตั้งแต่การทำมีดแทงหยวก การจักตอก กระบวนการลอกกาบกล้วยไม่ให้แตก การคัดเลือกต้นกล้วยที่จะนำมาแทงเป็นลวดลาย รวมถึงการรักษาต้นกล้วย

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

ถัดมาเป็นเรื่องการวาดลวดลายจนเกิดความคล่องแคล่ว ตามลายขั้นพื้นฐานการแทงหยวกทั่วไป เช่น ลายฟันปลา ลายฟันสามฟันห้า ลายเสา ลายน่องสิงห์ แม่กระดาน ฯลฯแต่ช่างสกุลอ่างทองมีความพิเศษ ได้สอนลวดลายเพิ่ม อาทิ เกสรบัว กลีบบัว กระจังตาอ้อย กระจังตารวน ทั้งหมดเป็นลายพื้นฐานที่ผู้ต้องโทษต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติจริง

“ยอมรับว่าผู้ต้องโทษที่ทางเรือนจำส่งมาเรียนในโครงการนี้ เรียนรู้ไวและเข้าใจในงานศิลปะแทงหยวกทั้งที่ไม่มีพื้นฐานงานช่างสลักกันมาก่อนหน้าเลย เพียง 1 อาทิตย์ เด็กเหล่านี้สามารถแทงหยวกลายต่างๆ กันได้บ้างแล้ว นับว่าเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว” พ่อครู เล่า

พ.อ.อ.สุรเดช สำทับต่อไปว่า การฝึกเรียนแทงหยวกไม่ใช่เพียงได้ทักษะหลักการทำเท่านั้น แต่ยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ผู้ต้องโทษอดทนและใจเย็นต่อปัญหาอุปสรรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ถือเป็นยาวิเศษแขนงหนึ่ง  ทั้งนี้เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษยังสามารถนำความรู้ในวันนี้ไปต่อยอดประกอบอาชีพได้อย่างสุจริต ซึ่งต้องยอมรับเลยว่าอาชีพแทงหยวกทุกวันนี้แทบจะสูญหายไปจากประเทศไทย เนื่องจากไม่มีใครสืบทอด เด็กรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่มีใครมานั่งเสียเวลาทำงานแบบนี้

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

“ที่ผ่านมามีคนพูดกับผมว่าจะไปทำให้เสียเวลาทำไม นั่นทำให้ผมคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนั้นเข้าใจงานแทงหยวกว่าคืออาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ ยังเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมอันสวยงามของประเทศไว้ให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานได้ศึกษากัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนผมก็จะขอทำการแทงหยวกเหมือนเดิม เพราะทั้งชีวิตกว่า 30 ปี ผมอยู่กับการแทงหยวกมาตลอดปัจจุบันอายุ 59 แล้ว”พ.อ.อ.สุรเดช กล่าว

พ่อครู แสดงความเห็นเกี่ยวการแทงหยวกในอนาคตว่าอาจารย์เชื่อว่าไม่นานการแทงหยวกต้องสูญหายอย่างแน่นอน เพราะทุกวันนี้คนแทงหยวกมีอยู่น้อยมาก ศิลปะแทงหยวกบ่งบอกถึงงานศิลปะโบราณ นับเป็นงานโบราณชิ้นหนึ่ง อีกทั้งยังบ่งบอกถึงความละเอียดอ่อนในสมัยอดีตด้วย ดังนั้นการที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด บางครั้งอยากจะฝากถึงผู้เกี่ยวข้องให้ช่วยกันอนุรักษ์งานแทงหยวกไว้ ควรมีการทำหลักสูตรเรียนและสอนให้กับเด็กๆ เพื่อปูพื้นฐานงานแทงหยวก

ปัจจุบันงานแทงหยวกเป็นหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ ในสาขาช่างสลัก โดยมักใช้ประดับตกแต่งในงานต่างๆ เช่น งานพระราชพิธี งานบวช งานแต่ง งานไหว้ครู สามารถตกแต่งร่วมกับงานเครื่องแขวน และงานบายศรีสู่ขวัญได้อย่างสวยงาม บางครั้งคนไปมองว่าใช้แต่ในงานศพเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น คนเข้าใจผิดกันไปเอง

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

พ่อครู ยังบอกอีกว่า การแทงหยวกในอดีตจะมีประเพณีที่เกี่ยวกับการแทงหยวกอยู่แค่ 2 อย่างเท่านั้น คือ การโกนจุกและการเผาศพ งานโกนจุกหรือประเพณีการโกนจุกจะมีการจำลองเขาพระสุเมรุตามความเชื่อ พร้อมกับแต่งภูเขาด้วยรูปสัตว์ ส่วนภูเขาพระสุเมรุจะตั้งอยู่ตรงกลางร้านม้า ซึ่งจะใช้ไม้ทำเป็นโครงสร้างก่อนจะหุ้มด้วยหยวกกล้วยแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ

พ่อครู เล่าต่อว่า สำหรับงานประเพณีการเผาศพนั้นก็ทำในลักษณะคล้ายกัน โดยการทำโครงสร้างให้แข็งแรงทำจากไม้ก่อนจะประดับหยวกกล้วยที่แกะสลักแล้ว ซึ่งผู้แทงหยวกต้องมีความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่ง เนื่องจากการแทงหยวกส่วนใหญ่จะไม่วาดลวดลายลงไป แต่จะใช้มีดที่คมแทงลงไปตามลายที่ต้องการเลย  จึงเรียกว่า “การแทงหยวก”ประกอบกับมีดที่ใช้มีปลายเเหลม เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เหมาะสมที่จะเรียกว่าแทงหยวก

ทว่า ผลงานที่ประจักษ์มากมายของ พ.อ.อ.สุรเดช อย่างเช่นงานแทงหยวกในงานวัฒนธรรมอาเซียนเมื่อปี 2557 ล่าสุดแทงหยวกงานหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม วัดอัมพวัน ที่เพิ่งมรณภาพไป

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

เช่นเดียวกับผู้ต้องโทษที่มีโอกาสได้ฝึกวิชาชีพแทงหยวก นช.ธนาวุธ ทิมจำลอง ผู้ต้องโทษคดีพรากผู้เยาว์ ต้องโทษ 6 ปี ที่ได้เข้าโครงการฝึกอาชีพช่างสลัก (งานแทงหยวก) บอกว่า อยากมีอาชีพติดตัวไปเมื่อพ้นโทษ จึงได้เข้าสมัครโครงการนี้ ยอมรับว่าไม่มีพื้นฐานงานช่างสลัก ได้เรียนครั้งแรกถือว่ายากพอสมควร แต่ก็ดีเพราะมันมีคุณค่ากับเราในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ปล่อยให้เวลาเดินผ่านไปเฉยๆ เอาเวลาว่างมาศึกษาหาความรู้

“ภูมิใจที่ได้เรียนการแทงหยวก เพราะรู้ว่าเป็นงานที่ไม่มีคนอยากทำมันยุ่งยาก ต้องมานั่งอดทน แต่สำหรับผมก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ” นช.ธนาวุธ เผยความรู้สึก

นช.เกียรติศักดิ์ สักดู ผู้ต้องโทษคดีลักทรัพย์ ต้องโทษ 1 ปี 6 เดือน บอกเหตุถึงการฝึกอาชีพว่า ต้องการเก็บประสบการณ์การทำงาน เรียนรู้เพื่อนำไปทำเป็นอาชีพเมื่อพ้นโทษ อีกทั้งดีใจเมื่อรู้ว่าการแทงหยวกนั้นสำคัญอย่างไร เพราะอาจารย์ที่สอนเล่าให้ฟังว่า ศิลปะการแทงหยวกนับวันเริ่มไม่มีใครสืบสานต่อ นั่นทำให้ผมรู้สึกดีใจว่าเราจะได้เป็นคนที่อนุรักษ์งานแทงหยวกไว้ แม้จะยากแค่ไหนก็ต้องเรียนให้จบ เพราะตอนที่อยู่ข้างนอกก็ไม่มีงานทำ จึงหวังนำแนวความรู้ที่ได้เรียนจากเรือนจำไปหารายได้

ไม่ต่างจาก นช.ทวีรัชต์ แจ้งสว่าง ผู้ต้องโทษคดีพกพาอาวุธปืน ต้องโทษ 3 ปี กล่าวว่า เห็นทางเรือนจำเปิดประกาศรับสมัครผู้ต้องโทษฝึกอาชีพ เลยตัดสินใจลองดู ก็ได้ผ่านการคัดเลือกมา ไม่ได้มีพื้นฐานอะไร เป็นการเรียนครั้งแรก ตอนนั้นคิดในใจว่ามันอาจจะยาก แต่ก็ไม่ใช่เหมือนอย่างที่คิดไว้ ตอนนี้พอทำได้แล้วบางลาย

“แทงหยวกมันช่วยฝึกสมาธิผมมากนะ ถือว่าดีมากๆ เลย เพราะการทำงานพวกนี้แต่ละครั้งต้องนิ่งสงบ มีสมาธิ ไม่อย่างนั้นจะเสียงาน และลืมลวดลายที่เราจะแทงลงบนหยวกกล้วย ผมใจเย็นขึ้นเยอะมาก อาจารย์ที่สอนก็ใจดี ที่สำคัญต้องขอบคุณทางเรือนจำที่นำสิ่งดีๆ มาให้กับผู้ต้องขังอย่างพวกผม พ้นโทษไปครั้งนี้จะไม่ขอกลับมาอีกแล้ว” นช.ทวีรัชต์ ระบุ

ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ระบุด้วยว่า ที่นี่เป็นเรือนจำแห่งแรกที่ได้นำการแทงหยวกมาฝึกสอนให้กับผู้ต้องโทษภายในเรือนจำ ซึ่งตรงกับพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรือนจำแห่งนี้มีงานช่างสิบหมู่ครบหมด ล้วนแล้วมาจากฝีมือของผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการสร้างรายได้จากงานฝีมือต่างๆ นำขายออกสู่ตลาดภายนอกซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ด้วย เช่น ภาพวาด รูปปั้น เป็นต้น

เมื่อผู้ต้องโทษเรียนครบ 300 ชั่วโมง ทางเรือนจำจะยังให้ผู้ต้องโทษเรียนต่อไป โดยให้ผู้ต้องโทษทั้ง 15 คนชุดแรก เป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการแทงหยวกให้กับรุ่นต่อไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การเรียนโครงการฝึกอาชีพยังมีผลต่อการลดหย่อนโทษให้กับผู้ต้องขังอีกด้วย

ผบ.กนก กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อผู้ต้องโทษเรียนการแทงหยวกจนเป็น หากพ้นโทษออกไปแล้ว ทางเรือนจำจะประสานไปทางวิทยาลัยในวังว่า “มีผู้ต้องโทษคนนี้พ้นผิดแล้วนะ” ทางวิทยาลัยก็จะเรียกให้คนเหล่านั้นไปเป็นตัวคูณ หรือวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้การแทงหยวกขณะฝึกอยู่ในเรือนจำให้กับคนอื่นๆ อีก รวมถึงยังได้มีอาชีพหลังพ้นโทษ

งานช่างแทงหยวกเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมอีกแขนงหนึ่งที่กำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทยเพราะความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และสภาพของสังคมไทยที่รับเอาวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามาใช้ ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมนี้กำลังสูญหายไปในที่สุด

ก่อนจะสูญแผ่นดิน... สร้างอาชีพนักโทษ ฝึกแทงหยวก ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ

เรือนจำพิเศษธนบุรี

สำหรับเรือนจำพิเศษธนบุรี ถือเป็นเรือนจำขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้ต้องขังกว่า 6,000 คน กระจายไปยังแดนคุมขังตามประเภทของนักโทษทั้งสิ้น 6 แดน    ประกอบไปด้วยแดน1 เป็นแดนควบคุมผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษและเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย แดน 2 เป็นแดนความมั่นคงสูง (คดีอุกฉกรรจ์) แดน 3 เป็นแดนควบคุมผู้ต้องขังคดียาเสพติด แดน 4 เป็นแดนควบคุมผู้ต้องขังคดีตัดสินเด็ดขาดแล้ว แดน 5 เป็นแดนควบคุมผู้ต้องขังเข้าใหม่และเป็นศูนย์พัฒนาพฤตินิสัย และแดน 6 เป็นแดนควบคุมผู้ ต้องขังคดีทั่วไป

ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2537 ด้วยเงินงบประมาณของทางราชการจำนวน 691,927,000 บาท บนที่ดินจำนวน 99 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ซื้อจากสำนักงานที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อรองรับผู้กระทำผิดอาญาในพื้นที่เขตฝั่งธนบุรีทุกคดีความ โดยรับตัวผู้ต้องขังโดยตรงจากศาลอาญาธนบุรี ศาลแขวงธนบุรี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน

โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลและคำสั่งลงโทษของผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้ต้องขังสำนึกผิดและมีความพร้อมที่จะประพฤติตนเป็นพลเมืองดีประกอบอาชีพสุจริตและอยู่ร่วมกับสังคมภายนอกได้เมื่อพ้นโทษไปแล้ว