posttoday

ผุดนิคมฯ ทับผืนป่า "บุญเรือง" ทำลาย เชียงของ-แม่น้ำโขง?

24 ธันวาคม 2558

มีความเป็นได้สูงที่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะพราก "ป่าชุมชนบุญเรือง" จ.เชียงราย เนื้อที่ 3,012 ไร่ ไปจากอ้อมกอดของชาวบ้าน

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

มีความเป็นได้สูงที่นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษจะพราก “ป่าชุมชนบุญเรือง” ต.บุญเรือง อ.เชียง ของ จ.เชียงราย เนื้อที่ 3,012 ไร่ ไปจากอ้อมกอดของชาวบ้าน

มีความน่าจะเป็นไม่แพ้กันที่ อ.เชียงของ จะล่มสลายระบบนิเวศแม่น้ำโขงจะถูกทำลาย หากป่าชุมชนบุญเรืองถูกแปรสภาพไปเป็น “นิคมอุตสาหกรรม” ตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ผืนป่าสมบูรณ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ปัจจุบันถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่ดินและบริหารจัดการ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เพื่อคัดเลือกให้เป็นพื้นที่รองรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ทันทีที่คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประธาน กนพ.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ประกาศเพิกถอนสถานะเดิมของผืนป่า จากที่สาธารณประโยชน์เลี้ยงสัตว์เป็น “ที่ราชพัสดุ” ได้ทันที

แน่นอนว่านิคมอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นตามมา และหากเป็นไปตามข้อมูลที่ผู้แทนจังหวัดเชียงรายให้ไว้กับชาวบ้านบุญเรือง นิคมฯ แห่งนี้จะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1,757 ไร่

เท่ากับว่า เนื้อที่ครึ่งหนึ่งของผืนป่าจะถูกแทนที่ด้วยโรงงาน

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ชักชวนคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจสภาพป่าบุญเรือง ข้อเท็จจริงที่พบคือมีต้นไม้ใหญ่หนาแน่นจำนวนมาก มีกอไผ่ธรรมชาติขนาด 35 คนโอบ พบต้นไม้ฉำฉาเส้นผ่าศูนย์กลาง 140 เซนติเมตร

ขณะที่ข้อมูลการสำรวจของชาวบ้าน พบว่าป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีต้นไม้ถึง 60 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ทนน้ำ เช่น ข่อย ชุมแสง ทองกวาว มีสัตว์ 211 ชนิด โดยเฉพาะเสือปลา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์

ชัดเจนว่าป่าบุญเรืองไม่ได้เป็น “ป่าเสื่อมโทรม” ตามที่ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

นอกเหนือจากความสมบูรณ์เพราะมีระบบนิเวศย่อยถึง 8 ประเภท มีต้นไม้เฉลี่ย 124 ต้น/ไร่ มีหนองน้ำสำคัญ 12 หนอง พรรณไม้กว่า 72 ชนิด สมุนไพรกว่า 27 ชนิด เห็ด 13 ชนิด และสัตว์ป่าอีกไม่ต่ำกว่า 33 ชนิด ป่าบุญเรืองยังมีส่วนสำคัญในการเชื่อมร้อยวิถีชีวิตชาวบ้านริมโขง

ด้วยลักษณะเฉพาะของผืนป่าแห่งนี้มี “แม่น้ำอิง” ขนาบล้อม ก่อกำเนิดเป็นความหลากหลาย ทั้งพืช สัตว์ และปลา ไม่ต่ำกว่า 271 ชนิด ยังประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน

แม่น้ำอิงที่ขอดเลาะชายป่าบุญเรืองนั้น สัมพันธ์กับระบบนิเวศแม่น้ำโขงแนบแน่นเป็นเนื้อเดียว นั่นเพราะแม่น้ำอิงเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และปลาประมาณ 80% ที่อยู่ในแม่น้ำโขง จะว่ายตาม กระแสน้ำอุ่นเข้ามาวางไข่ในแม่น้ำอิงสม่ำเสมอ

ข้อกังวลของชาวบ้านคือ หากนิคมฯ ผุดขึ้นที่ป่าชุมชนบุญเรืองจริง คงไม่อาจหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนแหล่งน้ำได้

เมื่อแม่น้ำอิงถูกทำลาย พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงก็สูญสิ้น เมื่อพันธุ์ปลาสูญสิ้น วิถีชีวิตคนริมน้ำก็แหลกละเอียด

จีระศักดิ์ อินทะยศ ชาวบ้าน อ.เชียงของ บอกว่า พื้นที่ป่าบุญเรืองยังเป็นพื้นที่รับน้ำหรือแก้มลิงตามธรรมชาติ มีการคำนวณกันว่าหากน้ำท่วมเต็มพื้นที่ป่าบุญเรืองในระดับสูง 1 เมตร ป่าชุมชนผืนนี้จะช่วยรับน้ำให้คน อ.เชียงของ ถึง 6 ล้านลูกบาศก์เมตร

“หากมีการสร้างนิคมฯ ขึ้น ก็จะกลายเป็นเขื่อนขวางทางน้ำกั้นไม่ให้น้ำไหลออกลงสู่แม่น้ำ ในอนาคตจึงมีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่” จีระศักดิ์ แสดงความกังวล

จีระศักดิ์ บอกอีกว่า ธรรมชาติของป่าบุญเรืองคือพื้นที่ชุ่มน้ำ หากต้องการปลูกสร้างนิคมฯ จริงก็คงต้องใช้ปริมาณดินมาถมเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็หนีไม่พ้นการระเบิดภูเขา ที่สุดแล้วระบบนิเวศก็ถูกทำลายเพิ่มขึ้นอีก

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งลงพื้นที่สำรวจป่าบุญเรือง พูดชัดว่าป่าบุญเรือง ซึ่งถูกรัฐระบุว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมกลับมีความสมบูรณ์มากกว่าเกณฑ์ของป่าเสื่อมโทรมถึง 8 เท่า และยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 8 หมื่นตันคาร์บอนไดออกไซด์

“ในแง่ความหนาแน่นของต้นไม้ ผลการสำรวจพบว่าป่าชุ่มน้ำแห่งนี้มีต้นไม้เฉลี่ย 124 ต้น/ไร่ ดังนั้นรัฐบาลจะมาอ้างเป็นป่าเสือมโทรมไม่ได้ เพราะป่าเสื่อมโทรมคือ ป่าที่มีต้นไม้น้อยกว่า 16 ต้น/ไร่” นักวิชาการรายนี้ให้ข้อมูล

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ แสดงความคิดเห็นว่า แม้พื้นที่ป่าบุญเรืองจะไม่ได้อยู่ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับประเทศ แต่ก็เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโดยธรรมชาติ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2552 ได้นิยามพื้นที่ชุ่มน้ำครอบคลุม หนองน้ำ บึง ทางน้ำไหลผ่าน พื้นที่น้ำท่วมขัง ทะเล ชายฝั่งชายหาด

“หากดำเนินการใดๆ ในพื้นที่แห่งนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการขัดต่อมติ ครม.ที่ห้ามหน่วยงานใดๆ ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำโดยเด็ดขาด เพราะต้องสงวนไว้เพื่อเป็นแหล่งน้ำสาธารณะ” หาญณรงค์ ระบุ

ช่วงเย็นคณะสื่อมวลชนออกจากป่าบุญเรืองมุ่งหน้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งเป็นยุทธภูมิสำคัญของนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ตั้งแต่รัฐบาลประกาศเดินหน้านโยบาย นักลงทุนประเมินกันว่าบริเวณดังกล่าวจะคึกคักมีการจัดตั้ง “เชียงของเมืองใหม่” ขึ้น เพื่อเป็นย่านการค้าชายแดนสำคัญที่ดินถูกปั่นราคาถึงไร่ละ 6 ล้านบาท

ทว่า สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม สิ่งที่พบคือพื้นที่ดังกล่าวถูกทิ้งร้าง ไม่มีการค้าขายการลงทุนใดๆ

แม้สถานการณ์จะค่อนข้างเลวร้าย แต่ราคาที่ดินก็ยังคงสูงลิ่วติดลมบนเช่นเดิม จึงเป็นเรื่องยากที่เอกชนจะยอมควักกระเป๋าตัวเองซื้อที่ดินตั้งโรงงาน

นั่นทำให้ “ป่าบุญเรือง” เนื้อหอม และยิ่งตกอยู่ในความเสี่ยง