posttoday

ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวอังคารในปี 2559

13 ธันวาคม 2558

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุด ด้วยมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่จำกัด

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

ดาวพุธ

ดาวพุธเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดและเคลื่อนที่เร็วที่สุด ด้วยมุมห่างจากดวงอาทิตย์ที่จำกัด คนบนโลกจึงมีโอกาสสังเกตดาวพุธได้เฉพาะในเวลาพลบค่ำหรือรุ่งสาง ปี 2559 มีช่วงที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาเช้ามืดอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ถึงปลายเดือน ก.พ. โดยมีดาวศุกร์มาอยู่ใกล้ดาวพุธ ช่วงที่ 2 คือปลายเดือน พ.ค.ถึงปลายเดือน มิ.ย. ช่วงที่ 3 คือปลายเดือน ก.ย.ถึงต้นเดือน ต.ค.

ช่วงเวลาที่สังเกตดาวพุธได้ดีในเวลาหัวค่ำมี 4 ช่วง ช่วงแรกต่อเนื่องมาจากเดือน ธ.ค. 2558 ถึงต้นเดือน ม.ค. ช่วงที่ 2 คือครึ่งหลังของเดือน เม.ย. ช่วงที่ 3 คือปลายเดือน ก.ค.ถึงปลายเดือน ส.ค. โดยมีดาวศุกร์และดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างไปทางขวามือของดาวพุธ ช่วงสุดท้ายคือเกือบตลอดเดือน ธ.ค.ยกเว้น 1-2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือน

ปีนี้มีปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 9 พ.ค. กล้องโทรทรรศน์ส่องเห็นดาวพุธเป็นดวงกลมดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ ประเทศไทยอยู่ในเขตที่เห็นได้ขณะเริ่มปรากฏการณ์เมื่อดวงอาทิตย์กำลังจะตก ในทางปฏิบัติจึงอาจไม่สามารถสังเกตได้หรือสังเกตได้ยากมาก

ดาวศุกร์

ดาวศุกร์ปรากฏเป็นดาวประกายพรึกบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดต่อเนื่องมาจากปี 2558 โดยกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น เริ่มปรากฏบริเวณกลุ่มดาวแมงป่อง จากนั้นเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกงู ดาวศุกร์จะผ่านใกล้ดาวเสาร์ 2 ครั้ง ครั้งแรกใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 9 ม.ค. 2559 ที่ระยะ 0.3 องศา ปลายเดือนดาวศุกร์เคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวคนยิงธนู

ตลอดช่วงวันที่ 12-15 ก.พ. ดาวศุกร์ปรากฏสูงเหนือดาวพุธโดยเยื้องไปทางขวามือที่ระยะ 4 องศา หลังจากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาวแพะทะเลและคนแบกหม้อน้ำ หากบริเวณใกล้ขอบฟ้าไม่มีเมฆบัง มีโอกาสเห็นดาวศุกร์อยู่เรี่ยขอบฟ้าขณะฟ้าสางได้ทุกวันต่อเนื่องไปถึงราวเดือน มี.ค. หรืออาจถึงเดือน เม.ย.ก่อนที่ดาวศุกร์จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนไม่สามารถสังเกตได้

ดาวศุกร์ผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก คือผ่านด้านหลังดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลกในวันที่ 7 มิ.ย.หลังจากนั้นค่อยๆ ทำมุมห่างดวงอาทิตย์มากขึ้น ราวปลายเดือน ก.ค.หรือต้นเดือน ส.ค. ดาวศุกร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ มีดาวพุธมาอยู่ใกล้โดยปรากฏในทิศทางของกลุ่มดาวสิงโต ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวหัวใจสิงห์ในวันที่ 5 ส.ค.ห่างกันที่ระยะ 1 องศา

ปลายเดือน ส.ค.เป็นช่วงที่ดาวพุธ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ชุมนุมกันเหนือขอบฟ้าทิศตะวันตก วันที่ 27 ส.ค. ดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในระยะใกล้ที่สุด 0.4 องศา เป็นช่วงที่ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวหญิงสาว

เมื่อสิ้นเดือน ก.ย.ดาวศุกร์เข้าสู่กลุ่มดาวคันชั่ง จากนั้นเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวแมงป่องในกลางเดือน ต.ค.ปลายเดือนเดียวกันจะเห็นดาวศุกร์ผ่านใกล้ดาวเสาร์เป็นครั้งที่ 2 ของปีด้วยระยะห่าง 3 องศา โดยวันที่ 28 ต.ค. ดาวเสาร์ ดาวศุกร์ และดาวแอนทาเรส (หรือดาวปาริชาต) ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวแมงป่องเรียงตัวกันบนท้องฟ้าอยู่ในแนวเกือบเป็นเส้นตรง หลังจากนั้นเราจะยังคงเห็นดาวศุกร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำไปจนถึงเดือน มี.ค. 2560

ดาวอังคาร

ปี 2559 เป็นปีที่ดีสำหรับการสังเกตดาวอังคาร เนื่องจากดาวอังคารจะผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 2 ปี แม้ว่าปีนี้จะยังไม่ใช่ช่วงที่ใกล้โลกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็ตาม ต้นปีดาวอังคารอยู่บนท้องฟ้าให้สังเกตได้ดีในเวลาเช้ามืด ช่วงแรกอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว จากนั้นเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคันชั่ง แมงป่อง และคนแบกงู ต้นเดือน เม.ย.จะเห็นดาวอังคาร ดาวเสาร์ และดาวแอนทาเรส อยู่ใกล้กัน ขณะที่ดาวอังคารและดาวแอนทาเรสต่างก็มีสีส้มเหมือนกัน

กลางเดือน เม.ย.ดาวอังคารเริ่มมีการเคลื่อนที่ปรากฏแบบถอยหลัง (เคลื่อนจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตกเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ฉากหลัง) เนื่องจากโลกซึ่งมีวงโคจรอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าได้เคลื่อนแซงไปข้างหน้า ต้นเดือน พ.ค.ดาวอังคารถอยกลับไปอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่องและคันชั่ง ดาวอังคารผ่านจุดตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ในวันที่ 22 พ.ค. ขณะอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง สว่างที่โชติมาตร -2.1 นับว่าสว่างพอๆ กับดาวพฤหัสบดีในขณะนั้น

ดาวอังคารใกล้โลกที่สุดในเช้ามืดวันที่ 31 พ.ค. ที่ระยะห่าง 0.503 หน่วยดาราศาสตร์ (79 ล้านกิโลเมตร) ขณะอยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง วันนั้นดาวอังคารมีขนาดปรากฏใหญ่สุดที่ 18.6 พิลิปดา คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3/4 ของขนาดใหญ่สุดที่เป็นไปได้ (25.1 พิลิปดา) ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อปลายเดือน ส.ค. 2546

หลังจากเดือน พ.ค. ดาวอังคารมีความสว่างลดลงและมีขนาดปรากฏในกล้องโทรทรรศน์เล็กลงเนื่องจากเคลื่อนห่างโลกมากขึ้น ดาวอังคารเริ่มกลับมาเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกครั้งในปลายเดือน มิ.ย.เข้าสู่กลุ่มดาวแมงป่องในต้นเดือน ส.ค. ปลายเดือนเดียวกันมองเห็นดาวอังคารเคลื่อนผ่านระหว่างดาวเสาร์กับดาวแอนทาเรส ขณะนั้นดาวอังคารสว่างกว่าดาวทั้งสอง

ต้นเดือน ก.ย.ถึงสิ้นปี ดาวอังคารเคลื่อนผ่านกลุ่มดาวคนแบกงู คนยิงธนู แพะทะเล และกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ คืนวันที่ 1 ม.ค. 2560 กล้องโทรทรรศน์สามารถส่องเห็นดาวอังคารอยู่ใกล้ดาวเนปจูนด้วยระยะห่างเพียง 0.2 องศา