posttoday

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด

06 ธันวาคม 2558

ปลูกสำนึก“เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา” ณ เกาะบากันใหญ่ จ.สตูล

เรื่องและภาพโดย...ศศิธร จำปาเทศ

คุณเป็นคนจังหวัดอะไร?

คำถามพื้นๆ แต่กินความหมายลึกซึ้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้มีคนหนุ่มสาวมากมายนับไม่ถ้วนเดินทางจากบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนหนังสือ หางานทำ และปักหลักสร้างครอบครัวที่มั่นคง จนอาจหลงลืมรากเหง้า ลืมบ้านเกิดตัวเองไปเสียสิ้น

โครงการค่ายเยาวชนร่วมสมัยประสานสายใยชายแดนใต้ “เยาวชนรักบ้านเกิด ปักษ์ใต้บ้านเรา” จัดโดยสำนักงานศิปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในโครงการที่จัดขึ้นเพื่อย้ำเตือนให้เยาวชนได้ตระหนักว่าเราเติบโตมาจากไหน

โครงการนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 พ.ย.ที่อ.เมือง จ.สตูล มีเยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรมจาก 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล เพื่อเรียนรู้เทคนิค แลกเปลี่ยนแนวคิด เผยแพร่ประสบการณ์ด้านศิลปวัฒนธรรม  วิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยว ถ่ายทอดเรื่องราว มุมมองความคิดของบ้านเกิดตัวเองผ่านคลิปวิดีโอ รวมทั้งสื่อมัลติมีเดียต่างๆ  พร้อมทั้งนำผลงานที่ได้จากการสร้างสรรค์เป็นสื่อกลางให้คนไทยได้ตระหนักเกิดความรัก ความสามัคคี ภายใต้แนวคิดสำนึกรักบ้านเกิด

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด ต่วนยัชดาน แซแร เยาวชนจากจ.ยะลา กำลังสนุกสนานกับการผลิตสื่อ

ต่วนยัชดาน แซแร หรือ ต่วน นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา เล่าว่า เข้าค่ายเยาวชนร่วมสมัยเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โครงการนี้ช่วยเปิดมุมมองในการมองจังหวัดภาคใต้ด้วยกันว่าบ้านเขาและบ้านเรามีของดีอะไร และมีความเหมือนความต่างอย่างไรบ้าง

“ปกติเรามักมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเอง เช่น คนยะลาเองมักมองว่าบ้านเกิดของตัวเองไม่มีอะไรโดดเด่น เพราะเห็นจนชินตาและมองข้ามไป แต่คนภายนอกกลับมองเห็นและสนใจความอุดมสมบูรณ์ บ่งบอกว่าของดีเรามีอยู่ แต่เรากลับไปสนใจบ้านเกิดของคนอื่นและให้ความสำคัญกับกรุงเทพ --- เมืองที่เจริญกว่า หากเราลองดูว่าเราโตมากับอะไร บางคนโตกับท้องนา บางคนโตกับทะเล นั่นทำให้เรารู้สึกผูกพัน เราต้องพัฒนาและรักษาชุมชนตัวเองเอาไว้ เราไม่พัฒนาแล้วใครจะทำสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากทรัพยากรที่บ้านเกิดเรามี ทำไมเราไม่กลับไปทำงานที่บ้านตัวเองให้มันเป็นศูนย์กลางมั่นคงสำหรับเราและคนในท้องถิ่น ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ได้ กรุงเทพคงไม่เป็นเมืองที่หนาแน่นไปด้วยคนพลัดถิ่น”

บ่าวนุ้ยคนนี้มุ่งมั่นจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง เขาเฝ้ามองคนรอบข้างที่ทยอยออกจากบ้านของตัวเองครอบครัวแล้วครอบครัวเล่า

"ต่างคนต่างมีเหตุผลที่จะย้ายออกไป บางคนออกไปเรียนหนังสือ บางคนย้ายไปเพราะเศรษฐกิจไม่ดี บางคนกลัวเหตุรุนแรงรายวัน คนภายนอกมักมองยะลาเป็นพื้นที่อันตราย นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ไม่อยากมาเที่ยวยะลา ทั้งๆที่ระเบิดเกิดเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้เกิดทั้งจังหวัด มองกลับกันก็ไม่ได้ต่างจากกรุงเทพเท่าไหร่ เวลาเกิดประท้วงรุนแรงจนต้องประกาศกฎอัยการศึก คนต่างจังหวัดก็ดูว่ารุนแรงและไม่อยากเข้ากรุงเทพฯ ยะลาก็เหมือนกัน ไม่ใช่ไปไหนก็เจอแต่ระเบิด"

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด สันหลังมังกร สถานที่ท่องเที่ยวอันเลืองลือ จ.สตูล

“บากันใหญ่” ชุมชนรักษ์บ้านเกิด

เรือออกจากแผ่นดินใหญ่มุ่งหน้าสู่แผ่นดินเล็กกลางทะเล ใช้เวลาราว 40 นาทีก็ถึงท่าเทียบเรือหมูบ้านเกาะบากันใหญ่ เกาะเล็กๆที่ยังคงรักษาวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชนตัวเอง และยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสชมความสวยงามของธรรมชาติ

"บากันใหญ่" เป็นชุมชนชาวเกาะในหมู่เกาะสาหร่าย มีทั้งหมด 7 หมู่บ้าน สมัยก่อนเรียกว่าเกาะนี้ว่า “บากัน-บาซาก” หมายถึง ที่เผาถ่านขนาดใหญ่ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เกาะอีโปะ ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ใหญ่ศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านประกอบอาชีพทำประมง ทำสวนผลไม้ นอกจากนี้ยังมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์อันเกิดจากความร่วมมือของชาวบ้าน 

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด วิถีประมงแบบดั้งเดิมยังไม่เลือนหาย

 

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด โฮมสเตย์แบบบ้านๆ รายได้เสริมของชุมชน

อดุล ชนะบัณฑิต ประธานศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านบากันใหญ่ เผยว่า ในอดีตชาวบ้านยึดอาชีพประมงเป็นหลัก เนื่องจากท้องทะเลยังอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันกุ้ง หอย ปู ปลาที่เคยจับได้เป็นล่ำเป็นสันกลับลดจำนวนน้อยลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ที่สำคัญที่สุดคือ การขาดจิตสำนึกในการทำประมง โดยใช้เครื่องมือหาปลาผิดประเภท ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลต่อผู้คนบนเกาะ เมื่อไม่มีปลาให้จับ คนรุ่นใหม่จึงหนีจากเกาะขึ้นไปหางานทำในเมือง

“ทุกวันนี้จะมีคนอยู่ 2 รุ่นเท่านั้นเองที่อยู่อาศัยบนเกาะ คือ เด็กและคนชรา ส่วนวัยรุ่นขึ้นไปเรียนบนฝั่ง หลายคนขาดความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อไปเห็นความเจริญข้างนอก ทำให้มองชุมชนตัวเองว่าล้าหลัง ในที่สุดก็ดิ้นรนหาทางที่จะออกไปอยู่ในเมือง เราพยายามที่จะสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด สร้างเรื่องราวในชุมชนให้เขาเห็นคุณค่า เกิดความรักและหวงแหน เมื่อเห็นของดีเขาก็กลับมาดูแล

ปัจจุบันชุมชนบากันใหญ่พยายามอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและนำการท่องเที่ยวมาช่วยส่งเสริมชุมชน โดยกระตุ้นพลังจากทุกส่วนในชุมชนมาช่วย นอกจากนี้ยังสร้างความเข้มแข็งด้วยการสร้างจิตสำนึกว่าที่ดินของเราต้องสร้างด้วยตัวเราและลูกหลานเรา จะให้คนข้างนอกมาสร้างไม่ได้ ชาวบ้านบากันใหญ่จึงไม่มีใครคิดขายบ้านของตัวเอง

คนกล้าคืนถิ่น

ชายร่างสูงใหญ่ สำเนียง ท่าทางบ่งยี่ห้อชาวเกาะโดยกำเนิด  วิรัตน์ ศรีโสภา หรือ บังรัตน์ วัย 45 ปี อดีตกรรมกรใช้แรงงานที่ไปขุดทองที่มาเลเซียนานถึง 15 ปี แต่ด้วยความเบื่อหน่ายและคิดถึงบ้าน เขาตัดสินใจกลับมาดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ทำการเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำรัส บนพื้นที่ 8 ไร่ มรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ

บังรัตน์เล่าว่า เริ่มจากปลูกพริกขี้หนูต้นแรก กิโลละ 40 บาท เก็บพริกวันหนึ่งได้ 2 กิโล ต่อมาก็เริ่มเลี้ยงปลาดุก ปลาหมอ ปลาจาระเม็ด ปลาสวาย ปลูกปาล์ม เลี้ยงวัว ปลูกข้าวปลูกผักไว้กินเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา

แม้คนบนเกาะมุ่งมั่นทำอาชีพประมง แต่บังรัตน์กลับมองเห็นประโยชน์ที่ได้จากการทำเกษตร เขามองว่าอาชีพประมงมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือลงทุนแล้วเห็นผลเลย แต่ไม่แน่นอน ผิดจากการทำเกษตรซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล แต่ยั่งยืนกว่า

"ถึงแม้ไม่ได้มีมากเหมือนคนอื่น แต่มันเพียงพอสำหรับเรา บางสิ่งบางอย่างเงินซื้อไม่ได้ ถ้าเรายึดอาชีพนี้อย่างน้อยก็ไม่ต้องซื้อเขา พืชผักที่เราปลูกใช้กินในหมู่บ้าน ไม่ต้องกลัวเรื่องสารพิษ ถ้าเราปลูกเองมันก็มั่นใจมากกว่า อาจจะได้เงินเล็กน้อยแต่เราได้ช่วยเหลือสังคมอีกรูปแบบหนึ่ง"

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด บังรัตน์ ผู้ชายที่มีควาามสุขหลังกลับบ้านเกิด

บังรัตน์ยังปลูกฝังความพอเพียงให้กับลูกทั้งสามให้รู้จักคุณค่าในสิ่งที่ตนเองมี ด้วยการลงมือทำให้เห็น ทำให้ตัวเองเป็นแบบอย่าง

“ลูกหลานบ้านอื่นออกไปทำงานข้างนอกเยอะ มีบางคนบอกอิจฉาเรา ไม่ใช่อิจฉาที่รวย แต่อิจฉาที่เรามีที่มีทาง มีภูมิปัญญาไว้ให้ลูกๆ ไม่ต้องออกไปทำงานต่างแดน บังว่ามันถึงเวลาแล้วสำหรับเยาวชนที่จะเห็นคุณค่าบ้านเกิดของตนเอง คนกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่ใช่คนกรุงเทพ แต่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้าไป ประสบความสำเร็จเยอะ ไม่ประสบความสำเร็จก็เยอะ เรามีที่ดินและทรัพยากรหลายๆ สิ่งที่เป็นของเรา ถ้าเราหันมาแลคิดสักนิดว่าบ้านเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง บังว่าถึงแม้อนาคตเราไม่รวยด้วยเงิน แต่เราก็ไม่จนความสุข” บังรัตน์เล่าด้วยสำเนียงชาวเกาะ

นี่คือเรื่องราวไม่ธรรมดาของชาวบ้านตัวเล็กๆ ผู้หันหลังให้เมืองใหญ่กลับคืนสู่บ้านเกิด เพื่อจะมาพบความสุขอันแท้จริงของชีวิต

“บากันใหญ่”...เกาะชาวเล รักบ้านเกิด วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของชาวบากันใหญ่