posttoday

เด็กไทยโชว์วิสัยทัศน์เวทีเยาวชนโลก One Young World 2015

19 พฤศจิกายน 2558

ส่องแนวความคิดเห็นสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ  

การประชุมเยาวชนโลก หรือ One Young World 2015 ระหว่างวันที่ 18-21 พ.ย.ที่กรุงเทพฯ คือการรวมตัวของบุคคลสำคัญ และเยาวชนจาก 196 ประเทศทั่วทุกมุมของโลก กว่า 1,300 คนมาร่วมทำกิจกรรมแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก่อนนำแนวทางไปแก้ปัญหาในชุมชนของตัวเอง  

การจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลมีชื่อเสียงสำคัญเข้าร่วมคับคั่ง อาทิ โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ,อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี , มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ,รอน กาแรน อดีตนักบินอวกาศ องค์การนาซา ฯลฯ

โคฟี อานัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ตอบคำถามของเยาวชนเมื่อถูกถามว่า  เราจะทำอย่างไรในการป้องกันและทำให้โลกเกิดสันติภาพภายหลังเราเอาชนะกลุ่มไอเอส ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสทำให้มีผู้เสียชีวิตมากมาย แต่เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยกำลังเพียงอย่างเดียวเพราะการใช้กำลังทหารไม่ใช่การแก้ปัญหา ดังนั้นทุกประเทศต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาความขัดแย้งในซีเรีย และทำให้ทุกคนตระหนักถึงความโหดร้ายของการก่อการร้าย เพื่อใช้การเมืองในการแก้ปัญหา รวมถึงนำเรื่องราวของการทำสงครามในอดีตมาเป็นบทเรียนที่สำคัญ

ขณะที่ปัญหาภาวะโลกร้อน นายโคฟี แสดงความเห็นว่า ทุกประเทศไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ จะต้องตระหนักถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเหมือนอยู่บนเรือลำเดียวกันจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบ

เด็กไทยโชว์วิสัยทัศน์เวทีเยาวชนโลก One Young World 2015 โคฟี อานัน

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อ 3 เดือนก่อนกรุงเทพฯประสบเหตุการณ์ระเบิดเช่นกัน ดังนั้นจึงมีความเข้าใจและเห็นใจต่อผู้สูญเสียและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง และเชื่อมั่นว่าการประชุม One Young World Summit 2015 จะช่วยลดความตึงเครียดต่างๆลงได้  โดยผู้นำรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสพูดคุย ร่วมกันคิดและทำเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล กล่าวว่า พลังของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงโลก และกระตุ้นให้ผู้นำรุ่นใหม่ใช้พลังที่สร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้น โดยยกตัวอย่างแนวคิดในการทำธนาคารเพื่อคนจน ที่ไม่มุ่งหวังสร้างผลกำไร แต่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนจนในสังคม และเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่กล้าคิดและทำสิ่งใหม่ๆ โดยไม่ต้องเดินตามแนวทางที่คนในรุ่นปัจจุบันกำหนดไว้

ต่อมาในช่วงบ่าย ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส จัดกิจกรรมโครงการธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม (Social Business) เพื่อคัดเลือกทีมชนะเลิศรับเงินรางวัล 1 ล้านบาท ซึ่งจะประกาศผลในวันพิธีปิดการประชุม ซึ่งตัวแทนจากประเทศไทยผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 4 ทีมประกอบด้วย 1.ทีม GOODY TRUCK  2.ทีมTRAWELL 3.TIDY (ไทยดี) และ 4.ทีมอร่อยเหาะ

เริ่มที่ทีม GOODY TRUCK นำเสนอตัวกลางเชื่อมโยงสินค้าจากภาคธุรกิจมาสู่มือของคนในชุมชนแออัด ด้วยการรับซื้อสินค้าที่เกินปริมาณการผลิตนำมาจำหน่ายราคาถูกกว่าท้องตลาดให้แก่คนในชุมชนแออัด โดยจัดหาสินค้าที่ตรงตามความต้องการของชุมชน ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ในขณะที่ผู้ผลิตได้รับผลตอบแทนเป็นรายได้ที่เหมาะสม ลดการทำลาย ตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งในภาคธุรกิจและการช่วยเหลือสังคม

ถัดมาคือทีม TRAWELL เสนอแนวคิด ธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจรและยั่งยืน เป็นตัวกลางเชื่อมโยงชุมชน นักท่องเที่ยว นักลงทุน ออกแบบกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวอย่างอิสระ กระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรง และเมื่อชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ความสามารถลงทุนร่วมหุ้นกับธุรกิจ Community Hostel จากการปรับปรุงบ้านเก่าของชาวบ้าน ตึกเก่าของราชการ จะช่วยวางแผนการจัดการธุรกิจตามความเหมาะสมกับชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนอยู่อาศัยอย่างมีความสุข ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผล นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนร่วมทุนกับธุรกิจเพื่อสังคม

ทีม TIDY (ไทยดี) เสนอการแก้ปัญหาขยะล้นเมือง ทำให้ขยะจากครัวเรือนได้แยกประเภทตามหลักการจัดการขยะที่ถูกต้อง ด้วยการสร้างองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ ยกระดับอาชีพ “ซาเล้ง” ให้มีระบบจัดเก็บขยะอย่างมีมาตรฐาน ช่วยให้เจ้าของบ้านที่แยกขยะตามประเภทเรียบร้อยแล้ว สามารถใช้แอพพลิเคชั่นเรียกซาเล้งที่ลงทะเบียนเป็นสมาชิกเครือข่ายมารับขยะได้ถึงบ้านตามเวลาที่ต้องการ โดย TIDY รับซื้อในราคาเป็นธรรมเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะหรือนำไปขายต่อโรงงานรับขยะตามประเภท แต่ละครัวเรือนสามารถสะสมแต้มจากการขายขยะรีไซเคิลแล้วสามารถแลกเป็นเงินได้

ขณะที่ทีมอร่อยเหาะ เสนอความคิด การเพิ่มช่องทางรายได้และตัวเลือกอาชีพให้กับคนจนในชุมชนเมือง โดยใช้รถเข็นขายอาหารเป็นเครื่องมือ ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของรถเข็นขายอาหาร ผ่านการผ่อนจ่ายรถเข็น จัดหาสถานที่ขาย อบรมความรู้ด้านการจัดการธุรกิจและการเงิน สร้างมาตรฐานด้านความสะอาด รวมทั้งขายตลาดสู่ออนไลน์ด้วยการเชื่อมโยงกับเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นด้านอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออาหารอย่างสะดวก ปลอดภัย สร้างโอกาสทางอาชีพให้คนในชุมชนเมือง

ผลสรุปของการประชุมเยาวชนทั่วโลกในครั้งนี้ คือการหาแนวความคิดเห็นสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ นำไปปรับใช้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของโลกให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น