posttoday

เปิดหลักฐาน“ลอยกระทงสุโขทัย”มีมาแต่โบราณ

18 พฤศจิกายน 2558

สุโขทัย-นักประวัติศาสตร์ขุดหลักฐานยันสุโขทัยมีลอยกระทงมาแต่สมัยโบราณ

สุโขทัย-นักประวัติศาสตร์ขุดหลักฐานยันสุโขทัยมีลอยกระทงมาแต่สมัยโบราณ

เมื่อวันที่18พ.ย.58 กรณีนางบังเอิญ  ทุยจันทร์ อายุ 67 ปี ประธานวัฒนธรรม ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เปิดตู้เซฟธนาคารนำชามสังคโลก “ลายกระทง” อายุกว่า 500 ปี ให้สื่อมวลชนดูเป็นหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าประเพณีลอยกระทงสุโขทัยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงวิชาการ

นางนงคราญ  สุขสม รักษาการผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กล่าวว่า สุโขทัยรับอิทธิพลอารยะธรรมขอม มาตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์พระร่วงจนถึงสมัยต้นสุโขทัย หลักฐานจากโบราณสถานอิทธิพลศิลปะขอม เช่น ปราสาทสามหลังที่วัดพระพายหลวง ศาลตาผาแดง พบโบราณวัตถุรูปเคารพเป็นรูปบุคคลแต่งกายแบบอิทธิพลขอม เป็นต้น และในศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ได้เล่าเรื่องพ่อขุนผาเมืองอภิเษกกับพระราชธิดากษัตริย์ขอม ทรงพระนามว่าพระนางสุขรเทวี และสมัญญานามศรีอินทรบดินทราทิตย์ ก็เป็นกษัตริย์ขอมพระราชทานให้พ่อขุนผาเมือง อีกทั้งศิลาจารึกพบที่สุโขทัยหลายหลัก ก็จารึกด้วยอักษรขอม จึงเห็นความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ระหว่างขอมกับสุโขทัยอย่างชัดเจน รวมทั้งการพบภาพจำหลักที่ปราสาทบายน ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนปี พ.ศ.1762 นั้น ก็มีรูปบุคคลกำลังลอยวัสดุลงในน้ำ เชื่อว่าน่าจะเป็นต้นเค้าความเชื่อเรื่องลอยประทีปในสุโขทัยด้วย แต่ในสมัยสุโขทัยมิได้เรียกว่าลอยกระทง แต่ใช้คำว่า “เผาเทียนเล่นไฟ” ซึ่งน่าจะเป็นงานประเพณีหรือเทศกาลสำคัญ จึงเขียนไว้ในจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 21-22 ความว่า

“เมืองสุโขทัยนี้ มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกันเข้ามาดู ท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก” คำว่าเผาเทียนเล่นไฟ ข้อความนี้เขียนหลังจากออกพรรษา และขบวนแห่กรานกฐิน ซึ่งเป็นงานประเพณีในเดือน 11 จึงเข้าใจว่าเทศกาลเผาเทียนเล่นไฟเป็นงานประเพณีในเดือน 12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก ตามพระราชพิธีประเพณีสิบสองเดือน หรือทวาทศมาศ คือเทศกาลลอยประทีป เพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ในศาสนาฮินดู และขอขมาพระแม่คงคา

คำว่า “เผาเทียน” จึงหมายถึงการจุดประทีป เพื่อลอยประทีปลงไปในน้ำ เพื่อขอขมาพระแม่คงคา เป็นงานประเพณีที่ผู้คนมีส่วนร่วม เบียดเสียดกันมาดู ท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ ไม่น่าใช่การจุดตะคันส่องสว่างวัดตามปกติ เพราะในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า การจุดตะเกียง จุดตะคันส่องสว่าง จึงเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่งานประเพณี

ทั้งนี้ การเผาเทียนลอยประทีป ใช้กับภาชนะหรือวัสดุใดก็ได้ที่ลอยน้ำได้ เช่น กะลามะพร้าวแบบกระทงสายของ จ.ตาก หรือของพม่า หรือเป็นหยวกกล้วย กาบกล้วยก็ได้ จึงไม่มีคำว่ากระทง

ต่อมามีตำนานนางนพมาศเล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งคิดประดิษฐ์โคมกุมุท เป็นงานหัตถศิลป์ทำจากใบตอง มีความสวยงาม จึงเข้าใจว่าเป็นต้นเค้าของการเรียกสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า “กระทง” ซึ่งมักใช้เรียกกับภาชนะที่ทำจากใบตองอื่นๆ เช่น กระทงห่อหมก กระทงใส่ขนม คำกริยาไทยเรียกว่าเย็บกระทง

ตำนานนางนพมาศแม้เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ก็เขียนเล่าเรื่องย้อนกลับไปในอดีต ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น เพื่อแสดงว่าสยามประเทศมีอารยะธรรมที่ดีงามมาแต่ครั้งโบราณ สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น รับอิทธิพลทั้งศาสนาพุทธและฮินดูมาผสมผสานกัน

พระราชพิธีสิบสองเดือนก็มีคติความเชื่อของทั้งสองศาสนาปนกันอยู่ เช่น พิธีไล่เรือ หรือไล่น้ำ พิธีโล้ชิงช้า พิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย ตรุษสงกรานต์ แรกนาขวัญ เข้าพรรษา ออกพรรษา ลอยประทีป เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทย ลาว พม่า เขมร ก็ยังสืบสานประเพณีวัฒนธรรมสืบต่อมา

การจะบอกว่าไม่มีประเพณีลอยกระทงในสมัยสุโขทัย เพราะไม่มีหลักฐานใดเขียนคำว่า “ลอยกระทง” ไว้ ก็เป็นการด่วนสรุปเกินไป เพราะภาษามีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา จึงขอให้พิจารณาคำว่า “เผาเทียนเล่นไฟ” ให้ดี ว่าหมายถึงอะไร เป็นประเพณีอะไรที่ฉลองกันหลังเดือน 11 และการที่จะพิจารณาว่า เผาเทียน คือ จุดตะคันส่องสว่างโบราณสถานนั้น ตนว่าไม่น่าใช่ การจุดตะคันส่องสว่างเป็นการตามประทีป ไม่ใช่เผาเทียน การเผาเทียนเล่นไฟ จุดพลุเสียงดังจักแตก เป็นงานประเพณีที่จัดในเดือน 12 เป็นต้นกำเนิดของงานลอยกระทง ซึ่งต่อมาได้ประดิษฐ์ประทีปจากงานใบตอง จึงเชื่อว่าคนสุโขทัยเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว เขาจัดงานลอยประทีป ไม่ต่างอะไรกับที่เห็นภาพจำหลักที่ปราสาทบายน เพราะเป็นพิธีขอขมาน้ำเช่นเดียวกัน

อาจารย์เคียง  ชำนิ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้ได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร ประจำปี 2555 กล่าวว่า สุโขทัยนั้นเป็นนครรัฐที่มีรากฐานมาก่อนที่พ่อขุนศรีนาวนำถุม จะขึ้นครองราชย์ยาวนานมาก เพราะพบหลักฐานทางโบราณคดี จากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์จำนวนมาก อาทิ ขวานหินกะเทาะ เจดีย์เรียงหิน ในวัฒนธรรมการมีเสาหลักรูปแบบหินตั้ง และกองหิน ที่บ้านวังหาด อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย รวมทั้งใบมีดหิน หรือเคียวหิน ที่พบในชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ บ้านบึงหญ้า อ.คีรีมาศ บ้านปรักทอง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และที่บ้านคุยกว้าว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก

นอกจากนี้ ยังพบแหล่งถลุงโลหะหลายชนิด แบบครบวงจรขนาดใหญ่ ที่บ้านวังหาด อ.บ้านด่านลานหอย และที่สำคัญยังพบศิลปวัตถุ เช่น เครื่องประดับทองคำรูปใบหน้าลิง หรือใบหน้าสิงห์วังหาด ซึ่งคล้ายกับศิลปกรรมจากแหล่งโบราณคดีถลุงโลหะที่ริมแม่น้ำสินธุ ประเทศปากีสถาน (เดิมคือส่วนหนึ่งของอินเดีย) ซึ่งมีเทศกาลทีปวาลี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 และถัดมาอีก 10 วัน มีวันการติกีปูรณิมา ซึ่งสุโขทัยอาจรับเอารูปแบบศิลปกรรม รวมทั้งประเพณีบางอย่าง จากลุ่มแม่น้ำสินธุเข้ามาก็เป็นได้

ทั้งนี้ บริเวณนครรัฐสุโขทัย ยังพบแหล่งโบราณคดียุคทวารวดีหลายแห่ง แหล่งสำคัญ คือ บริเวณหลุมขุดค้นวัดชมชื่น อ.ศรีสัชนาลัย ซึ่งทางศิลปากรพิสูจน์แล้วว่าโครงกระดูกที่ขุดพบมีอายุไม่น้อยกว่า 1,500 ปี เมื่อมีแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยทวารวดีที่มีชาวมอญเป็นประชากรส่วนใหญ่ นั่นหมายความว่านครรัฐสุโขทัย ก็น่าจะมีพิธีกรรมแบบชาวมอญที่เรียกว่า พิธีกรรมลอยโขมด หรือลอยสะเปา แบบที่มอญแห่งนครรัฐทวารวดี หรือนครรัฐศรีสุธรรมวดี ได้กระทำกันมาก่อนแล้ว

เมื่อสุโขทัยรับอารยะธรรมเขมรเข้ามา ก็จะพบเห็นศิลปกรรมเขมรแบบบาปวน หรือแบบปราสาทแม่บุญตะวันตก ที่ปรางค์เขาปู่จ่า อ.คีรีมาศ และรูปแบบการสร้างเมืองสุโขทัย บริเวณวัดพระพายหลวง ที่เลียนแบบมาจากคูน้ำ และคันดินของนครวัด รวมทั้งรูปแบบปรางค์สามยอดของวัดพระพายหลวง ที่เลียนแบบปราสาทบายน

อาจารย์เคียง กล่าวอีกว่า พิธีกรรมต่างๆของเขมรมีอิทธิพลต่อชาวอุษาคเนย์สมัยนั้นอย่างมาก ย่อมต้องแพร่ถึงสุโขทัยด้วย และพระราชพิธีจองเปรียง คำว่า “เปรียง” ภาษาเขมรหมายถึงน้ำมันเนย ใช้เป็นเชื้อเพลิงดวงประทีป และพิธีกรรมที่เรียกว่าการลอยประทีป หรือ “บ็อนแฏดปรอตีป” ก็ต้องมีเข้ามาด้วยอย่างแน่นอน

จากหลายรากอารยะธรรมที่กล่าวมา ทั้งพิธีกรรมลอยโขมด หรือลอยสะเปา แบบมอญแห่งนครรัฐทวารวดี การลอยประทีป หรือ “บ็อนแฏดปรอตีป” ของนครรัฐเขมร ทำให้นครรัฐสุโขทัยที่อยู่ตรงกลางมีความเชื่อที่ผสม ทั้งพุทธ พราห์ม ผี แบบมอญ-เขมร จึงไม่แปลกหากนครรัฐสุโขทัยจะมีพิธีกรรมการลอยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่มีรูปร่างเหมือนแพหยวกกล้วย (กระทง) ลงน้ำเพื่อบูชาตามความเชื่อ เหมือนดังนครรัฐเก่าแก่ที่อยู่รายรอบ

นายสมชาย  เดือนเพ็ญ นักประวัติศาสตร์สุโขทัย ผู้ได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร ประจำปี 2556 กล่าวว่า บรรพชนสุโขทัยได้เลือกเอาชัยภูมิที่ปลายเทือกเขาผีปันน้ำ ใกล้เขาหลวง (เขาพระสุเมรุ) ซึ่งเคยประดิษฐานรูปเคารพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ตามความเชื่อที่ผสมผสานเป็นสถานที่ตั้งเมือง โดยวางผังประกอบระบบชลประทาน ประกอบด้วย สรีดภงส์ ภาษาสันสกฤต แปลว่า ทำนบ หรือเขื่อนกั้นน้ำ เป็นภาษาร่วมสมัยกับศิลาจารึกวิภูติ (สท.38)

เขื่อนสรีดภงส์มีระบบคูคลอง และท่อน้ำส่งไปเก็บกักยังตระพังโบราณภายในตัวเมือง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และเหตุที่มาตั้งเมืองใกล้เขาหลวงก็เพราะว่า ด้านตะวันออกของเมืองสุโขทัยนั้นเป็นที่ราบลุ่ม น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก ดังปรากฏข้อความคำว่า “ทะเลหลวง” ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 34 นั่นหมายถึงน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในฤดูน้ำหลาก ลงไปตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

จากเอกสารโบราณทั้งจดหมายเหตุ และใบบอก พบว่าคนท้องถิ่นสุโขทัย สวรรคโลก มีสินค้าสำคัญอย่างหนึ่ง คือ กล้วยตาก ล่องเรือส่งไปแลกข้าวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา แสดงถึงท้องถิ่นเบื้องล่างน้ำท่วมประจำ เมื่อน้ำเหนือหลากท่วมทุ่งทุกปี ถึงกับปลูกกล้วยไม่ได้กินเครือ จึงต้องกินกล้วยตากจากเมืองสุโขทัย อีกทั้งใบตองตานียังปลูกกันเป็นล่ำเป็นสัน ส่งขายถึงปากคลองตลาดตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงทุกวันนี้

หลักฐานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 14 วัดเขมา ซึ่งปรากฏคำว่า “บายศรี” ถึง 3 แห่ง ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 19 24 และ 27 เมื่อปรากฏว่าคนสุโขทัยสามารถทำบายศรีที่เป็นงานฝีมือปราณีต ทั้งยากและสลับซับซ้อนได้ จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ที่บรรพชนคนสุโขทัยจะทำกระทง หรือทำงานฝีมือใบตองที่ง่ายกว่ามากๆ แล้วลอยในตระพัง เพื่อบูชาตามความเชื่อ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต อีกทั้งคูคลอง สระตระพังโบราณต่างๆนั้นขุดด้วยแรงคน จึงไม่ต้องกลัวว่าตลิ่งจะสูงถึงกับตกน้ำตาย ดังที่นักวิชาการบางคนกล่าวอ้าง

นายสมชาย กล่าวต่ออีกว่า เมื่อศึกษาจากศิลปะวิทยาการหล่อพระพุทธรูปแล้ว นับว่ามีความงดงามมาก ฝีมือไม่เป็นสองรองใคร จึงไม่ใช่เรื่องยากหากบรรพชนจะสร้างท่าน้ำเพื่อลอยกระทง โดยหลักฐานสำคัญ ได้แก่ การขุดลอกสระน้ำตระพังโบราณต่างๆ มีการพบตะคันโบราณด้วย นั่นคือหลักฐานที่ชี้ว่าในสมัยสุโขทัย มีพิธีกรรมเผาเทียนอย่างแน่นอน เพราะตะคันไม่สามารถลอยน้ำได้ จำเป็นจะต้องใส่ในพาหนะ และนั่นคือแพหยวกกล้วย ที่มีกลีบใบตองห่อหุ้มเพื่อประครองดวงไฟ ซึ่งต่อมาสิ่งนี้ก็คือ “กระทง” นั่นเอง

งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย แม้ว่าภาครัฐเพิ่งริเริ่มส่งเสริมกันเมื่อ พ.ศ. 2534 แต่ทว่าท้องถิ่นสุโขทัยมีการลอยกระทงกันมาช้านานแล้ว โดยประดิษฐ์กระทงเป็นทรงเรือจากกาบกล้วย ประดับลวดลายฉลุ และติดกลีบใบตอง รูปแบบจะไม่เป็นทรงกลมเหมือนพื้นบ้านภาคกลาง

หากจะไม่นับหลักฐานชั้นต้นในพระราชพิธี 12 เดือน ตามหลักฐานพระราชพงศาวดาร ทว่าในหลักศิลาจารึกที่ 93 ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 3 วัดอโสการาม ปรากฏพระนาม “สมเด็จพระราชเทพีศรีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพยธรณี ดิลกรัตน์” และศิลาจารึกหลักที่ 286 วัดบูรพาราม บรรทัดที่ 13-15 ก็ปรากฏคำว่า “สมเด็จพระราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์อัครมหิศิเทพยธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า ผู้เป็นบาทบริจาการัตนชายาแด่สมเด็จพระมหาธรรมราช กอปรด้วยปัญจพิธ กัลยาณีมีศีลพิริยะปรีชา ดำกลใจมั่น”

ดังนั้นชาวสุโขทัยมีสิทธิ์ที่จะยกย่องเชิดชูพระเกียรติ แด่สมเด็จพระราชินีแห่งกรุงสุโขทัย หากนักวิชาการทางกรุงเทพฯไม่ยินดีที่จะใช้ศิลาจารึกสุโขทัย 2 หลัก คือ ศิลาจารึกวัดอโสการาม และศิลาจารึกวัดบูรพาราม ในการนำอ้าง ก็เห็นควรที่นักวิชาการกรุงเทพฯจักส่งศิลาจารึก 2 หลักดังกล่าวกลับคืนสู่มาตุภูมิด้วย และหากจะโต้แย้งหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็ควรโต้แย้งไปที่องค์การยูเนสโก้ เพราะได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์รับรองเป็น “มรดกความทรงจำโลก”