posttoday

พระโพธิจักร หลวงพ่อลี วัดอโศการาม

25 ตุลาคม 2558

มวลสารในการสร้างพระโพธิจักร นอกจากจะมีพระเครื่องสมัยเก่าที่เกิดความชำรุดเสียหายแตกหักพัง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

มวลสารในการสร้างพระโพธิจักร นอกจากจะมีพระเครื่องสมัยเก่าที่เกิดความชำรุดเสียหายแตกหักพัง แต่ยังมีแร่ ว่าน ดินจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ใช้ผสมผสานสร้างพระเครื่องได้อีก พระโพธิจักร จึงเป็นพระเครื่องที่ดีพร้อมทั้งการปลุกเสก และมวลวัตถุที่สร้างเป็นองค์พระ รวมถึงเจตนาของผู้สร้างที่บริสุทธิ์

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ หรือหลวงพ่อลี ธมฺมธโร แห่งวัดอโศการาม ท่านได้สร้างพระโพธิจักรขึ้นมา เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกแก่สาธุชนผู้ที่ไปร่วมงานเฉลิมฉลองวัดกับหลวงพ่อลี นั่นถือว่าเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต พระโพธิจักรของหลวงพ่อลีทุกองค์ แจกให้กับผู้ศรัทธาและอยากได้ฟรีๆ โดยไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนแม้แต่อย่างเดียว

สำหรับพระโพธิจักรมีอยู่ด้วยกัน 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใบโพธิ์ มีกรอบแบบรูปใบโพธิ์ มีรูปพระพุทธปางขัดสมาธิเพชรสถิตอยู่บนอาสนะดอกบัวบาน พระเกตุเกล้าเป็นมวยแบบชาวภารต เห็นเส้นพระเกศา พระเนตร พระนาสิก และพระโอษฐ์ชัดเจน มีอักขระขอมปรากฏอยู่บนพื้นที่กรอบพิมพ์ข้างรูปพระพุทธด้านละสองตัว อักขระขอมดังกล่าวนี้ไม่ค่อยชัดเจนทั้งหมด มักจะมีตัวใดตัวหนึ่งลบเลือนเห็นไม่ชัด จะหาที่ปรากฏชัดเจนของตัวหนังสือนั้นยิ่งหายากเป็นอย่างมาก และพิมพ์สามเหลี่ยม มีกรอบพิมพ์เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมลบมุมที่ฐานทั้งสองข้าง มีรูปพระพุทธซึ่งมีพระพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพิมพ์ใบโพธิ์ปรากฏอยู่บนกรอบพิมพ์ แต่ไม่ปรากฏตัวอักขระใดๆ เลย

ในส่วนของด้านหลังของพระโพธิจักรทั้งสองพิมพ์นั้น ส่วนใหญ่จะนูนเล็กน้อยและเรียบ จะปรากฏก็แต่เพียงรอยลายนิ้วมือของผู้กดพิมพ์เป็นจุดๆ เท่านั้น แต่ก็มีบางองค์ที่จัดว่ามีลักษณะพิเศษของพระเครื่องตระกูลนี้ คือ มีดวงตากลมๆ ที่วงการพระเครื่องนิยมเรียกว่า ยันต์ดวง ประทับอยู่ ที่หลังพระโพธิจักรบางองค์ จะดูตัวอย่างได้จากด้านหลังของเหรียญพระโพธิจักรพิมพ์เล็ก

ทว่าเจ้ายันต์ดวงนี้ มีผู้รู้เคยอธิบายไว้ว่า เป็นพระดวงชะตาของพระพุทธเจ้า และถ้าพระโพธิจักรองค์ใดมียันต์ดวงประทับหลังและองค์เขื่องกว่าพระโพธิจักรทั่วไปเล็กน้อย พร้อมลงรักดำทั่วองค์พระ นั่นหมายถึง ย่อมได้รับความนิยมสูงกว่าพระโพธิจักรที่ไม่มีดวงยันต์ประทับหลัง

หลวงพ่อลี ท่านเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกๆ ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แห่งกองทัพธรรม สรีรสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย เก็บรักษาในโลงทองบนวิหารแห่งวัดอโศการาม จ.สมุทร ปราการ มีผู้กล่าวกันว่า อดีตชาติของท่านเคยเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช พระพิมพ์ใบโพธิ์รุ่นนี้ สร้างจากผงมวลสารล้วนๆ ที่สำคัญมากมาย เช่น ผงเกสรดอกไม้ 108 ผงธูปอธิษฐาน ผงพระธาตุ ผงว่าน ผงพุทธคุณอีกมากมาย สร้างในปี พ.ศ. 2500 พิธีใหญ่ฉลอง 25 ศตวรรษของทางสายวัดป่าจัดขึ้นที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เป็นพิธีใหญ่ที่รวบรวมสายกรรมฐานของท่านอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่นมาชุมนุมกันมากมาย

ถ้าใครเคยไปวัดอโศการามจะเห็นเป็นภาพวาดบนฝาผนังโบสถ์ในงานนี้ ประกอบด้วย 1.พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม วัดป่าสาละวัน โคราช 2.หลวงพ่อลี วัดอโศการาม 3.หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร 4.หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม วัดอรัญญวิเวก บ้านข่า จ.นครพนม 5.หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสพุง จ.เลย 6.หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ 7.หลวงตามหาบัว วัดป่าบ้านตาด 8.หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำ ผาบิ้ง 9.หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง

10.หลวงปู่หลอด ปโมทิโต วัดใหม่เสนา 11.ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก วัดธรรมสถิต 12.หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดภูริทัตฯ 13.หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล 14.หลวงปู่เทศก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง 16.เจ้าคุณแดง วัดป่าประชานิยม 17.หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม 18.หลวงปู่อ่อน ญานสิริ 19.หลวงปู่แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย 20.พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ แห่งภูทอก ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ทั้งสิ้น เรียกว่าเป็นพระคณาจารย์ฝ่ายกรรมฐานล้วนๆ และยังเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อจรัญด้วยครับ หลวงพ่อลี ธมฺมธโร หรือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ นับเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานศิษย์สายหลวงปู่มั่น ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนแม่ทัพใหญ่ภาคตะวันออก ผู้เผยแผ่พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น

โดยหลวงพ่อลีท่านได้เป็นผู้สร้างวัดป่าคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี ได้ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่กรรมฐานและมีลูกศิษย์เลื่อมใสจำนวนมาก ต่อมาได้มีลูกศิษย์ถวายที่ดินให้ท่านสร้างวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ซึ่งหลวงพ่อลีได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ตั้งแต่ปี 2498 จนปัจจุบันนี้เป็นวัดที่มีพื้นที่ใหญ่โตและเป็นเสาหลักของพระสายกรรมฐาน หลวงพ่อลีเป็นพระที่มีพลังจิตกล้าแข็งมาก ในหมู่ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ล้วนให้การยกย่อง

หลวงพ่อลีท่านเป็นพระสงฆ์เพียงรูปเดียวที่สามารถเดินทางไปประเทศอินเดีย ได้ปักกลดจำพรรษาที่บริเวณธัมเมกขสถูปในราว พ.ศ. 2493 ซึ่งคนที่เคยเดินทางไปอินเดีย แม้ในปัจจุบันจะหาพระที่ไปปักกลดภายในธัมเมกขสถูป เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ไม่เช่นนั้นไม่อาจมีชีวิตกลับประเทศไทยได้ โดยเฉพาะอันตรายที่มาจากคนต่างศาสนา จากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายจากสิ่งลี้ลับที่ดูแลสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ หลวงพ่อลีเป็นพระที่มีบารมีสูง

แน่นอนว่ามีหลายคนตั้งคำถามและมีข้อสงสัยว่า ทำไม “หลวงพ่อลี แห่งวัดอโศการาม” จึงมีความเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมพูทวีปในครั้งพุทธกาล ความเหมือนของท่านพ่อลีกับพระเจ้าอโศกนี้คือ พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์โลก และเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชย์สมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ใน พ.ศ. 218-260 ส่วนท่านพ่อลีได้รับคำชมเชยจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานว่า “หลวงพ่อลี มีพลังแห่งใจดีมาก เด็ดเดี่ยวอาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรมตลอด”

ในหนังสือประวัติหลวงพ่อลีความตอนหนึ่งบันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ. 2496 เดือน ธ.ค. หลวงพ่อลีอธิษฐานจิตบำเพ็ญเพียรนั่งสมาธิตลอดรุ่งที่วัดเขาพระงาม จ.ลพบุรี กับสานุศิษย์อีก 6 รูป ขณะนั่งสมาธิภาวนาอยู่นั้นท่านได้ยินเสียงแปลกประหลาดดังขึ้นบนศีรษะ เสียงดังเป็นระยะๆ คล้ายฝนตก สักครู่หนึ่งท่านได้เห็นพระรูปพระเจ้าอโศกมหาราชตกลงมาใกล้ๆ ลักษณะเป็นแก้วเจียระไนสี่เหลี่ยมสีดำอมชมพู โตประมาณนิ้วหัวแม่มือ ต่อมาแก้วดังกล่าวนี้ได้รับการบรรจุไว้อย่างมิดชิดที่วิหารหลวงพ่อเศียร ภายในวัดอโศการามมาจนทุกวันนี้หลวงพ่อลีได้พูดถึงเรื่องนี้เป็นปริศนาว่า “ขอให้ผู้รู้ ผู้เห็น จงสำเหนียกเอาด้วยตนเอง จิตวิญญาณของพระเจ้าอโศกอาจจะช่วยเหลือพวกเราอยู่ และอาจจะอยู่ใกล้พวกเราผู้ปฏิบัติธรรมก็ได้”

หลวงพ่อลีมีความผูกพันซาบซึ้งในผลงานการกระทำของพระเจ้าอโศกเป็นอย่างมาก ดุจเหมือนดั่งว่าเคยเกิดและเคยมีชีวิตอยู่ในสมัยนั้นจริงๆ คราวที่หลวงพ่อลีไปประเทศอินเดีย ได้เห็นพระเจดีย์และสถูปที่พระเจ้าอโศกสร้างไว้มีสภาพทรุดโทรมหักพัง ท่านจึงเกิดความคิดที่จะสร้างทดแทนขึ้นไว้สักแห่งในเมืองไทย และนับเป็นเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่หลวงพ่อลีอธิษฐานจิตขอให้พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุอรหันต์ต่างๆ เสด็จมาอยู่กับท่าน ปรากฏว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวก็มาอยู่กับท่านอย่างน่าอัศจรรย์

ที่สุดแล้ว หลวงพ่อลีท่านได้อาพาธและมรณภาพลง เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2504 สิริอายุรวม 54 ปี ทุกปีทางวัดจะมีการจัดงานรำลึกถึงท่าน