posttoday

ดาว 51 ม้าบิน

18 ตุลาคม 2558

เดือนนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวม้าบิน

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

เดือนนี้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีการค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบดวงหนึ่งที่โคจรรอบดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวม้าบิน นับเป็นดาวเคราะห์ต่างระบบดวงแรกที่ค้นพบรอบดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ต่างระบบหมายถึงดาวเคราะห์ที่อยู่ในระบบดาวอื่น โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นที่อยู่ไกลออกไปจากดวงอาทิตย์

ดาวเคราะห์ที่เราเห็นได้ง่ายบนท้องฟ้า ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง ดาวเคราะห์เหล่านี้ส่องสว่างจนเห็นได้ด้วยตาเปล่าเนื่องจากสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์และอยู่ใกล้โลก ดาวเคราะห์ต่างระบบก็สะท้อนแสงจากดาวฤกษ์ดวงแม่ของระบบ แต่อยู่ไกลจากเรามากนัก จึงยากมากที่จะสังเกตได้โดยตรงจากโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้สว่างจนกลบแสงของดาวเคราะห์

วันที่ 6 ต.ค. 2538 คณะนักดาราศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ประกาศการค้นพบดาวเคราะห์รอบดาวฤกษ์ดวงหนึ่งที่มีชื่อว่า 51 ม้าบิน (51 Pegasi) อยู่ห่างออกไป 51 ปีแสง ดาวฤกษ์ดวงนี้ตั้งชื่อด้วยตัวเลข ตามด้วยชื่อกลุ่มดาว ตามระบบการตั้งชื่อดาวของแฟลมสตีด จึงปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวม้าบิน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวในซีกฟ้าเหนือและสว่างพอจะเห็นได้จางๆ ด้วยตาเปล่า

แน่นอนว่าการค้นพบนี้ไม่ได้มาจากการสังเกตการณ์โดยตรง แต่ตรวจวัดการมีอยู่ของดาวเคราะห์ได้จากความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไปของดาวฤกษ์ อันเกิดจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์ที่พบรอบดาว 51 ม้าบิน ตั้งชื่อว่า 51 ม้าบินบี (51 Pegasi b) ตามรูปแบบการตั้งชื่อดาวเคราะห์ต่างระบบที่ใช้กันในแวดวงดาราศาสตร์ หากมีการค้นพบดาวเคราะห์ในระบบเดียวกันอีก ก็ตามด้วยตัวอักษร c, d, ...

ขณะค้นพบ นักดาราศาสตร์คาดว่าดาว 51 ม้าบินบี มีมวลมากพอๆ กับดาวพฤหัสบดี โคจรรอบดาวฤกษ์ด้วยคาบเพียง 4.2 วัน เมื่อคำนวณระยะห่างพบว่าอยู่ห่างจากดาวแม่เพียง 8 ล้านกิโลเมตร (ใกล้มากเมื่อเทียบกับโลกที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เฉลี่ย 150 ล้านกิโลเมตร และดาวพุธที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เฉลี่ย 58 ล้านกิโลเมตร) ดาวเคราะห์ดวงนี้จึงเป็นดาวเคราะห์แก๊สแบบดาวพฤหัสบดี และ
น่าจะมีอุณหภูมิในบรรยากาศที่ร้อนจัด

หลังจากนั้น การค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบที่คล้ายดาว 51 ม้าบิน ก็มีเพิ่มขึ้น นักดาราศาสตร์จัดดาวเคราะห์เหล่านี้อยู่ในกลุ่มของดาวพฤหัสบดีร้อน (hot Jupiter) คือเป็นดาวเคราะห์แบบดาวพฤหัสบดี แต่อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มาก คาดว่าก่อตัวขณะอยู่ไกลจากดาวฤกษ์ แต่วงโคจรแคบลงเรื่อยๆ ในเวลาหลายล้านปี

เดือน เม.ย. 2558 คณะนักดาราศาสตร์รายงานการตรวจวัดสเปกตรัมของแสงจากดาว 51 ม้าบินบี ได้เป็นครั้งแรก โดยอาศัยเครื่องมือฮาร์ปส์ (HARPS ย่อมาจาก High Accuracy Radialvelocity Planet Searcher) ที่หอดูดาวในชิลี พบว่าดาวเคราะห์ต่างระบบดวงนี้มีมวลราวครึ่งหนึ่งของดาวพฤหัสบดี แต่มีขนาดใหญ่กว่า แสดงว่าความร้อนจากดาวแม่อาจทำให้แก๊สในบรรยากาศขยายตัวออก นับเป็นดาวเคราะห์กลุ่มที่น่าสนใจศึกษา เนื่องจากไม่มีดาวเคราะห์แบบนี้ในระบบสุริยะของเรา

20 ปี หลังการค้นพบดาว 51 ม้าบินบี ปัจจุบันนี้เรารู้จักดาวเคราะห์ต่างระบบที่ได้รับการยืนยันแล้วเกือบ 2,000 ดวง แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพพอในการศึกษาวิจัยและค้นพบดาวเคราะห์ต่างระบบ แต่เราก็มีส่วนร่วมได้ ขณะนี้สหพันธ์ดาราศาสตร์สากลได้เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกร่วมลงคะแนนตั้งชื่อดาวเคราะห์ต่างระบบ สมาคมดาราศาสตร์ไทยเป็นตัวแทนของประเทศไทยในการเสนอชื่อให้กับดาวฤกษ์และดาวเคราะห์บริวารของระบบดาว 47 หมีใหญ่ ซึ่งเป็นดาวดวงหนึ่งในกลุ่มดาวหมีใหญ่ หรือที่คนไทยเรียกดาวสว่าง 7 ดวง ในกลุ่มดาวนี้ว่าดาวจระเข้

สมาคมดาราศาสตร์ไทยเข้าร่วมโครงการ โดยเปิดให้ผู้สนใจร่วมเสนอชื่อผ่านทางเว็บไซต์ และได้เลือกชื่อ “ตะเภาแก้ว” จากชื่อที่เสนอมา 240 ชื่อ หลังจากนั้น คณะทำงานของสมาคมมีข้อสรุปว่าจะเสนอชื่อดาว 47 หมีใหญ่ว่า “ชาละวัน” ตามชื่อจระเข้ และตั้งชื่อดาวบริวารสองดวงว่า “ตะเภาทอง” และ “ตะเภาแก้ว” ตามชื่อสองพี่น้องในตำนานเรื่องไกรทอง การลงคะแนนโหวตจะหมดเขตในสิ้นเดือน ต.ค.นี้แล้ว ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมลงคะแนนได้ที่ thaiastro.nectec.or.th/nameexoworlds/

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (18–25 ต.ค.)

ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์สว่างดวงเดียวที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ขณะนี้อยู่บริเวณส่วนหัวของกลุ่มดาวแมงป่อง เห็นได้เมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด โดยอยู่สูงเหนือขอบฟ้าประมาณ 20 องศา จากนั้นเคลื่อนต่ำลง ตกลับขอบฟ้าประมาณ 2 ทุ่ม ดาวเสาร์ตกเร็วขึ้นทุกวัน จึงมีเวลาสังเกตได้น้อยลงเรื่อยๆ ต้นเดือน พ.ย. ดาวเสาร์จะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จนเริ่มสังเกตได้ยาก

ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี เป็นดาวเคราะห์สว่าง 4 ดวง บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวพุธอยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว มีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้ามากที่สุด ทำให้สังเกตได้ยากที่สุด อีกสามดวงชุมนุมกันอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต วันอาทิตย์ที่ 18ต.ค. ดาวอังคารเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 0.4 องศา จากนั้นช่วงวันที่ 23-29 ต.ค.ดาวเคราะห์ทั้งสามอยู่ใกล้กันภายในระยะ 5องศา ทำให้สามารถสังเกตเห็นได้พร้อมกันในขอบเขตภาพของกล้องสองตาขนาด 7x50 โดยดาวสว่างที่สุดสองดวง คือ ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จะเข้าใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 26 ต.ค.ห่างกัน1 องศา

สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำของทุกวัน ช่วงแรกสว่างเป็นเสี้ยว พื้นที่ด้านสว่างที่หันมาทางโลกเพิ่มขึ้นทุกวันตามมุมห่างจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 21 ต.ค. จากนั้นเข้าสู่ครึ่งหลังของข้างขึ้น

คืนวันที่ 21 ต.ค.ฝนดาวตกนายพรานมีอัตราสูงสุดราว 25 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกกลุ่มนี้เกิดจากดาวหางแฮลลีย์ สะเก็ดดาวจำนวนมากที่หลุดออกมาจากดาวหางยังคงเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดดาวตกให้เห็นได้บนท้องฟ้าเมื่อโลกเคลื่อนผ่าน

ดาวตกจากฝนดาวตกนายพรานเกิดขึ้นได้ทั่วฟ้า แต่หากลากเส้นสมมติตามแนวการเคลื่อนที่ของดาวตกย้อนไปจะบรรจบกันบริเวณกลุ่มดาวนายพราน อันเป็นที่มาของชื่อฝนดาวตก การสังเกตฝนดาวตกนายพรานทำได้ดีที่สุดเมื่อเห็นกลุ่มดาวนายพรานอยู่สูงบนฟ้า ตรงกับช่วงใกล้เช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ 22 ต.ค. นอกจากดาวเคราะห์ชุมนุมที่เห็นได้ในเวลานี้ เราก็มีโอกาสจะเห็นดาวตกจากฝนดาวตกนายพราน