posttoday

ความกังวลของคนเสื้อแดง

18 ตุลาคม 2558

คนเสื้อแดงกังวลว่าทหารจะไม่รักพวกเขา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปเป็นวิทยากรให้กับโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

คนเสื้อแดงกังวลว่าทหารจะไม่รักพวกเขา

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ไปเป็นวิทยากรให้กับโทรทัศน์ของคนเสื้อแดงช่องหนึ่งแถวลาดพร้าว ร่วมกับอดีต สส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยอีกท่านหนึ่ง หัวข้อของการเสวนาก็มีหลายเรื่อง ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ ไปจนถึงทหารกับการเมืองไทยในอนาคต ซึ่งมีสาระบางเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคนเสื้อแดง

ผู้เขียนเคยไปเป็นวิทยากรให้โทรทัศน์ช่องนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ในช่วงที่คนเสื้อแดงยังเฟื่องฟูก่อนที่ คสช.จะทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง และหลังรัฐประหารก่อนที่สถานีนี้จะถูกระงับไม่ให้ออกอากาศอีกช่วงหนึ่ง (หลังจากที่ผู้บริหารซึ่งเป็นแกนนำของมวลชนคนเสื้อแดง หรือ นปช.จะถูกเชิญไปปรับทัศนคติ แล้วจึงให้มีการออกอากาศได้เมื่อไม่นานมานี้) สังเกตเห็นว่ามีบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะในสองครั้งก่อนนั้นยังมีความคึกคักของผู้คนที่แวะมาเยี่ยมเยียนและมาพบปะกับวิทยากรกับแกนนำของคนเสื้อแดงที่มาร่วมรายการต่างๆ ของสถานี แต่ในเวลานี้กลับเงียบเหงาไม่คึกคักอย่างที่เคย (หรืออาจจะเป็นภาวะเศรษฐกิจที่คนมาเที่ยวที่ห้างนี้น้อยลงไปด้วย)

พิธีกรได้ชวนพูดคุยเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อฟังจากวิทยากรของฝ่ายเสื้อแดงดูเหมือนจะมีความกังวลอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกก็แน่นอนว่ากลัวทหารจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จำกัดควบคุมหรือแม้กระทั่ง “จัดการ” กับคนเสื้อแดง เรื่องต่อมาก็คือกลัวว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปอะไรได้ และเรื่องสุดท้ายที่เป็นวาทกรรมของคนกลุ่มนี้มาโดยตลอดก็คือ กลัวว่าจะไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่นี้

ผู้เขียนได้เปรียบเทียบว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเพื่อให้ทหารมีอำนาจเหนือทุกองค์กรหรือควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศนี้ได้ รัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็อาจเทียบได้กับรัฐธรรมนูญของเมียนมา ที่ยังคงให้ทหารมีอำนาจควบคุมทั้งรัฐสภาและรัฐบาล (ส่วนจะควบคุมศาลด้วยหรือไม่ ไม่ค่อยแน่ใจ) แต่ที่สำคัญคือ ควบคุม “ความเป็นไป” ต่างๆ ของบ้านเมืองไว้อย่างเข้มงวด อย่างเช่น กรณีของนาง อองซานซูจี เป็นต้น จึงต้องคอยติดตามดูว่าคณะยกร่างฯ ที่มีท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ จะยอมให้เป็นไปในแบบดังกล่าวหรือไม่

ในประเด็นการสนทนาที่เกี่ยวกับทหาร ผู้เขียนพอจะจับความ (อาจจะจับได้ไม่หมดหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด) ได้ว่า คนเสื้อแดงเห็นทหารจะทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่ก้าวหน้า การสร้างความปรองดองก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทหารยังเห็นว่าคนเสื้อแดงเป็นพวกไม่ประสงค์ดีต่อบ้านเมือง ซึ่งการมองคนเสื้อแดงในแง่ร้ายเช่นนี้จะยิ่งมีแต่ทำให้ประชาชน (โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดง) ไม่ให้ความร่วมมือ และส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปประเทศที่จะไม่สำเร็จเช่นกัน

ผู้เขียนให้ความเห็นในประเด็นนี้ โดยได้ย้อนอดีตไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มาจนถึงปัจจุบัน (อย่างย่อๆ) ว่า ทหารมักจะอ้าง “วิกฤต” ต่างๆ ของชาติมาเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจและ “ครองอำนาจ” นี้มาโดยตลอด โดยที่การครองอำนาจนี้ไม่ใช่เพียงแค่การสืบทอดอำนาจ แต่ยังหมายถึงการ “บริหารจัดการอำนาจ” ให้สมดุล ที่หมายถึงการจัดการ

ความขัดแย้งในส่วนที่ทหารเอามาใช้ในการบริหารประเทศนั้นทั้งหมด เพื่อให้อำนาจที่มีอยู่ไม่ถูกกัดกร่อนคลอนแคลน รวมถึงเมื่อจวนตัวจะต้องละวางจากอำนาจนั้นก็จะต้องหาวิธีลงจากหลังเสือให้สง่างาม ที่สำคัญคือ ต้อง “ปลอดภัย” หรือไม่ให้มีใครตามมา “เช็กบิล” อีกด้วย

ขณะนี้วิกฤตของชาติที่ทหารอ้างเพื่อเข้ามาทำรัฐประหารก็ดูเหมือนจะยังไม่ลดทอนลงไปเท่าใดนัก ทั้งนี้ในวิกฤตที่เกี่ยวกับประชาชนก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของฝ่ายทหารที่ยังมองคนเสื้อแดงเป็น “ผู้ก่อ ผู้ร่วม และผู้พัฒนา” วิกฤตเหล่านั้น เหมือนขณะนี้ประเทศไทยประกอบด้วยประชาชน 2 ส่วน คือ ประชาชนที่เชียร์ทหารพวกหนึ่ง กับประชาชนที่ไม่เชียร์ทหารอีกพวกหนึ่ง ยิ่งผู้นำทหารออกมาปรามประชาชนในฝ่ายที่ไม่เชียร์ทหารนี้ “หนักมือ” ขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ประชาชนกลุ่มนี้ (ซึ่งคนเสื้อแดงคิดว่าทหารมองว่าคือกลุ่มพวกเขา) ถูกกีดกันออกไปเสียจากเวทีการเมือง แต่ที่น่ากลัวไปยิ่งกว่านั้นก็คือ อาจจะถูก “กำจัด” ไม่ให้มีบทบาทในทางการเมืองใดๆ อีกเลย

ผู้เขียนกลับมานั่งคิดในวันรุ่งขึ้นว่า เรื่องนี้ท่าจะ “ไปกันใหญ่” เพราะเท่าที่ได้เห็นบทบาทของทหาร ทหารก็พยายามจะเชิญชวนให้คนเสื้อแดงเข้ามาร่วมมีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญและร่วมปฏิรูปประเทศอยู่ตลอดเวลา แต่กลับได้รับการปฏิเสธจากแกนนำของคนเสื้อแดง ถึงขั้นประกาศว่า ถ้าใครไปร่วมสังฆกรรมกับ คสช.ก็จะไม่ให้ลงเลือกตั้ง หรือ “ตัดญาติ” ไม่นับว่าเป็นเชื้อสายของคนเสื้อแดงอีกต่อไป แต่ก็นั่นแหละจากท่าทีของทหารเองที่ดูเหมือนจะไม่พยายามในการเข้าหาคนเสื้อแดง ในขณะเดียวกันทหารก็พยายามสร้างภาพ “ความหวาดกลัว” ให้คงอยู่ตลอดเวลา ก็ยิ่งทำให้คนเสื้อแดงยิ่งมองทหารในแง่ร้ายมากขึ้นเรื่อยๆ

คนเสื้อแดงในที่นี้คือคนไทยทั้งหลาย ไม่ใช่พวกแกนนำ

ผู้เขียนสอนวิชารัฐศาสตร์มาเกือบ 30 ปี ทฤษฎีหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายยอมรับจนเป็นการทั่วไปแล้วก็คือ การเมืองไทยนั้นมีปัญหาที่ชนชั้นนำ อันได้แก่ ผู้ปกครองของประเทศ แกนนำของกลุ่มต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ผู้มีอิทธิพลในระดับต่างๆ ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผู้นำในภาคราชการ จนถึงผู้นำในภาคประชาชน

ผู้นำในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นทหารหรือนักการเมือง ก็มักจะชอบอ้างประชาชนมาสนับสนุนความชอบธรรมให้แก่พวกตนเสมอ อย่างเช่น นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะอ้างว่าประชาชนมอบเสียงข้างมากให้แก่พวกเขา พวกเขาจะใช้อำนาจที่ประชาชนมอบให้นี้ “ทำอะไรก็ได้” (จนถึงขั้นการโกงกินและทำชั่วต่างๆ) หรือในฝ่ายทหาร ทุกครั้งที่ทำรัฐประหารสำเร็จก็เหมือนจะมั่นใจว่า นั่นคือ “ฉันทานุมัติ” หรือความเห็นชอบด้วยที่มาจากกลุ่มประชาชน จนทำให้หลายครั้งทหารก็ใช้อำนาจนั้นอย่างฟุ่มเฟือย หรือในหลายๆ ครั้งก็เกิดการ “คอรัป” ในอำนาจนั้นเช่นกัน

ผู้เขียนอยากจะแนะนำทหารว่า ผู้นำทหารโดยเฉพาะหัวหน้า คสช.เอง ควรจะเข้าหาประชาชนทุกหมู่เหล่าให้ใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะคนเสื้อแดงที่ไม่ใช่พวกแกนนำ (เพราะพวกแกนนำก็ใช้คนไทยในกลุ่มนี้แสวงหาประโยชน์เรื่อยมา) แล้วพยายาม “ขอร้อง” ให้คนเหล่านี้มาช่วยกันดูแลบ้านเมือง สิ่งที่ทหารจะต้องพยายามสื่อสารกับคนไทยทั้งหลายให้มากขึ้นก็คือ วิกฤตของบ้านเมืองในขณะนี้ว่าไม่ใช่ความขัดแย้งในหมู่ประชาชน แต่เป็นวิกฤตอื่นที่ทหารพยายามปกป้อง

แต่ว่าจะต้องให้คนไทยทุกคนมาช่วยกันปกป้องจึงจะสำเร็จ