posttoday

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์"

11 กันยายน 2558

เมื่อคำสั่งให้ทุบทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร นำไปสู่ความแตกหักระหว่างวัดกับชุมชน

เรื่อง…อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ…เสกสรร โรจนเมธากุล , กฤษณ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร ,ชนัสถ์ กตัญญู 

ภาพเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม พร้อมกำลังตำรวจ ทหาร และชายฉกรรจ์กว่าครึ่งร้อย เดินทางเข้าปิดล้อมและยึดทรัพย์สินของบ้านหลังหนึ่งภายในชุมชนวัดกัลยาณ์ ถนนอรุณอมรินทร์ เขตธนบุรี กทม. อันเป็น 1 ใน 54 หลัง จากทั้งหมด 230 หลังคาเรือนที่ถูกทางวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารฟ้องร้องขับไล่มาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายปี

เป็นความปวดร้าวแสนสาหัสที่ไม่มีชาวบ้านรายใดคาดคิดว่าจะเจอ

ชุมชนเก่าแก่กว่าสองร้อยปีที่อยู่อย่างสงบสุขมาตั้งแต่บรรพบุรุษ วันนี้กลับต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หลังชาวบ้านลุกขึ้นคัดค้านไม่ให้เจ้าอาวาสทุบทำลายโบราณสถานเพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ ผลคือถูกขับไล่ออกจากที่ดินวัด โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า

อุณหภูมิความขัดแย้งร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง หลังยืดเยื้อคาราคาซังมานานนับสิบปี

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" ภาพมุมสูงของวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ด้านขวามือของภาพจะเห็นหลังคาบ้านเรือนชุมชนกัลยาณ์

วัดกัลยาณมิตร...สมบัติวัดหรือมรดกชาติ?

“วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” หรือที่ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า “วัดกัลยา” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี

ประวัติความเป็นมาเริ่มจากกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ว่าที่สมุหนายก ต้นสกุลกัลยาณมิตร พระสหายคนสนิทจึงอุทิศบ้านและที่ดินถวายเป็นพระอารามหลวงในปีพ.ศ.2463 ต่อมาพระราชทานชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดกัลยาณมิตร” หมายถึงพระสหายที่ดีของพระองค์คือ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ นั่นเอง

ที่ดินบางส่วนถูกแบ่งให้ชาวบ้านเช่าเป็นที่อยู่อาศัย เพื่อนำดอกผลเหล่านั้นมาบำรุงวัด

"สมัยนั้นยังใช้การคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก ผู้คนใช้ชีวิตบนเรือ พอสร้างวัดขึ้น พระก็บิณฑบาตลำบาก ท้ายที่สุดจึงให้ชาวบ้านเช่าที่ดินปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัย เพราะเห็นว่าควรให้ชาวบ้านเข้ามาช่วยทำนุบำรุงวัด และคนที่ช่วยดูแลวัดตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็คือ ชุมชนวัดกัลยาณ์"คำบอกเล่าของ ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร ทายาทตระกูลกัลยาณมิตร

จุดมุ่งหมายของบรรพบุรุษในการบริจาคที่ดินผืนนี้คือ สร้างวัดให้เป็นของคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

เฉลิมศักดิ์ จุลสุวรรณ ชาวบ้านชุมชนวัดกัลยาณ์ บอกว่า ชุมชนมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับวัดมาก

"ชุมชนอยู่ร่วมกับวัดอย่างสงบสุขมานานนับร้อยปี ที่ผ่านมาเจ้าอาวาสทั้ง 9 รูปก็ใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้าน เวลามีงานก็เกณฑ์คนไปช่วย ยายผมเป็นคนช่วยสร้างศาลาการเปรียญ ซึ่งเป็นที่พบปะทำกิจกรรมของชาวบ้าน ผมเองก็เคยเป็นเด็กวัด วิ่งเล่นในวัด กินข้าวก้นบาตร วัดกับชุมชนแน่นแฟ้นกันมาก จนกระทั่งเจ้าอาวาสวัดรูปนี้มา ทุกอย่างก็ไม่เหมือนเดิม"

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" ชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ ขณะนำชาวบ้านคัดค้านการทุบทำลายโบราณสถาน

12ปีบนความขัดแย้ง

วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2492

คุณค่าทางประวัติศาตร์อันโดดเด่นของวัดนี้คือ มีการสร้างปูชนียสถานและถาวรวัตถุล้ำค่ามากมาย อาทิ พระวิหารหลวง พระพุทธไตรรัตนนายกหรือหลวงพ่อโต (ซำปอกง) หอพระธรรมมณเฑียรเถลิงพระเกียรติ หอระฆัง  หอกลอง สระน้ำโบราณ พระเจดีย์บรรจุพระอังคารเจ้าจอมมารดาแช่ม พระชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กุฏิคณะสงฆ์ เจดีย์บรรจุอัฐิขุนนางคนสำคัญหลายตระกูล ฯลฯ

ปี 2546 หลังจากพระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ใหม่ ได้เดินหน้าบูรณะสังขรณ์โบราณสถานภายในวัด อ้างเหตุผลว่าเก่าแก่ทรุดโทรม โดยไม่สนใจคำทัดทาน ของชาวบ้าน ความบาดหมางจึงเริ่มก่อตัวขึ้น

"การทุบทำลายโบราณสถานภายในวัดเป็นการกระทำโดยพลการ ทางวัดไม่เคยปรึกษากับชุมชนเลย เราขอเข้าพบเพื่อหารือก็ไม่อนุญาต" ชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ บอก 

ในที่สุดชาวบ้านตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีกับทางวัดข้อหาทำลายโบราณสถาน ตามพ.ร.บ.โบราณสถานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504  

ต่อมาศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กรมศิลปากรทำหนังสือแจ้งวัดว่า ขอให้ระงับการดำเนินการใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากวัดกัลยาณมิตรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ซึ่งตามพ.ร.บ.วัตถุโบราณฯห้ามทุบหรือทำลายวัตถุโบราณ ก่อสร้างหรือต่อเติม หากจะทำอะไรก็ตามต้องได้รับการอนุญาตจากกรมศิลปากรก่อน ทำให้ พระพรหมกวี (พงศ์สันต์ ธมฺมเสฏฺโฐ) หรือเดิมคือพระธรรมเจดีย์ (ประกอบ ธมฺมเสฏฺโฐ) เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 (ผบก.น. 8) โดยอ้างว่ากรมศิลปากรทำเกินกว่าเหตุ ส่วนกรณีที่กรมศิลปากรระบุว่าได้ขึ้นทะเบียนโบราณวัดกัลยาณมิตรตั้งแต่ปี 2492 นั้น บทบัญญัติเรื่องขอบเขตโบราณสถานยังไม่มีความชัดเจน

ระหว่างนั้นทางวัดยังคงดำเนินการทุบทำลายโบราณสถานอยู่เรื่อยๆ ท่ามกลางการประท้วงอย่างเปิดเผยของชาวบ้าน

ปี 2551 - 2558 กรมศิลปากรได้แจ้งความดำเนินคดีกับวัดข้อหารื้อทำลายวัตถุโบราณ ทั้งหมด 22 รายการ ประกอบด้วย 1.รื้อหอระฆัง 2.รื้ออาคารเสวิกุล 3.รื้อศาลาทรงปั้นหยา 4.รื้อหอกลอง 5.รื้อหอสวดมนต์กัลยาณาลัย 6.รื้อศาลาปากสระ 7.รื้อกุฏิเก่าคณะ 7 จำนวน 3 หลัง 8.ก่อสร้างอาคาร คสล.3 ชั้นทางทิศใต้ของวัด 9.บูรณะพระอุโบสถวัดกัลยาณมิตร 10.บูรณะหอพระธรรมมณเฑียร

11.บูรณะวิหารหลวงพ่อพระพุทธไตรรัตนนายก (วิหารหลวง) 12.บูรณะพระวิหารน้อย 13.รื้อราวระเบียงหิน พื้นหิน ตุ๊กตาหินอับเฉา และจัดสร้างหลังคาโครงเหล็กด้าน หน้าพระวิหาร 14.รื้อกุฏิสงฆ์คณะ 4 15.ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 2 16.ถมสระน้ำภายในกุฏิสงฆ์คณะ 417.รื้อกุฏิพระโบราณ 18.รื้ออาคารเก็บอัฐิ 19.รื้อกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20.รื้อกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก 21.รื้อศาลาตรีมุข  22.รื้อกุฏิพระโบราณคณะ 1 รวมทั้งการบูรณะโดยไม่ได้ขออนุญาตอีก 5 รายการ

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" โบราณสถานที่ถูกทำลายภายในวัด โดยทางวัดอ้างเหตุผลในการบูรณะว่าเก่าแก่ทรุดโทรม ภาพถ่ายเมื่อปี 2556

บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ยืนยันว่า  12 ปีที่ผ่านมา กรมศิลปากรได้ทำความเข้าใจ ประนีประนอม และให้เวลาในการดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองกับทางวัดกัลยาณมิตรเรื่อยมา แต่ก็ยังพบการทำลายโบราณสถานภายในวัดกัลยาณมิตรซ้ำแล้วซ้ำเล่า

"โบราณสถานเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆแผ่นเดียวก็มีค่า ดังนั้นการดำเนินการใดๆต้องเห็นใจในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดูแลโบราณสถานของชาติด้วย หากไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้ทุบทำลายโบราณสถานตลอดเวลา อนาคตคงไม่มีโบราณสถานเหลืออยู่ในประเทศไทย"

ปัจจุบันวัดกัลยาณมิตรและกรมศิลปากรมีคดีฟ้องร้องที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา 16 คดีใน 45 รายการของโบราณสถานและโบราณวัตถุ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ละเมิดจะมีโทษฐานทำลายโบราณสถาน จำคุก 1 ปี และ ปรับ 10 ล้านบาท

ทว่าสิ่งที่ไม่มีคาดคิดก็คือ ทางวัดได้ประกาศยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินบางส่วนของชุมชนวัดกัลยาณ์ ให้ชาวบ้าน 56 หลังจากทั้งหมด 230 หลังคาเรือนออกจากพื้นที่!

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี นำกำลังตำรวจ ทหาร และชายฉกรรจ์กว่า 50 คน เดินทางมาปิดล้อมบ้านที่ถูกฟ้องไล่รื้อ

"จะให้พวกเราไปอยู่ที่ไหน?"เสียงครวญของชาวบ้านวัดกัลยาณ์

"ผมไม่ได้เก็บข้าวของแม้แต่ชิ้นเดียว เพราะไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ไม่มีหมายแจ้งเตือนบอกกล่าวอะไรทั้งนั้น มาถึงก็ทุบเลย มันเจ็บปวดมากๆ"

ประโยคแฝงด้วยความอัดอั้นตันใจของ ชัยสิทธิ์ กิตติวณิชพันธุ์ ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ เจ้าของบ้านหลังแรกที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี นำกำลังตำรวจ ทหาร พร้อมชายฉกรรจ์ เดินทางเข้าใช้คีมขนาดใหญ่ตัดแม่กุญแจหน้าบ้าน ก่อนเข้าไปยึดทรัพย์สินซึ่งมีเพียงข้าวของเครื่องใช้สำหรับประกอบอาชีพ อาทิ ถังแก๊ส ตู้แช่ของสด แผงไข่ ลังถึงนึ่งขนมจีบ ซุ้มตั้งร้าน เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยไร้เหตุการณ์กระทบกระทั่งรุนแรง

ประธานชุมชนวัดกัลยาณ์ เผยว่า ประกาศยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินของชาวบ้านเกิดขึ้นในปี 2549 ทางวัดได้เสนอค่าชดเชยให้ 3,000 บาทต่อหลัง ถือว่าไม่คุ้มค่า ชาวบ้านจึงไม่ยอมย้ายออก

"วัดเชิญชาวบ้านมาอยู่ตั้งแต่ก่อตั้งวัดเพื่อให้ชาวบ้านช่วยดูแลวัด เอาค่าเช่ามาทำนุบำรุงวัด เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยันรุ่นหลานเหลน จู่ๆก็จะไล่เราออก เพียงเพราะแค่เราไม่เห็นด้วยกับการทุบทำลายโบราณสถาน ผมไม่เคยก้าวร้าว ก่อความรุนแรงใดๆ ทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่เจ้าอาวาสก็ไม่เคยลงมาคุยเลย ไม่ยอมให้เข้าพบ ไม่แม้แต่จะออกมาบิณฑบาตรในชุมชน"

ชัยสิทธิ์บอกว่า เหตุผลที่วัดอ้างว่าจะไล่รื้อชุมชนเพื่อนำที่ดินไปสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ทำกลับการทุบทำลายประวัติศาสตร์ ทำลายทั้งโบราณสถานภายในวัด ทำลายทั้งวิถีชุมชนรอบวัด

"ยิ่งเห็นภาพบ้านถูกไล่รื้อยิ่งโมโห ผมโกรธจนน้ำตาแทบไหล คุณทำแบบนี้ได้ไงทั้งที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ ไม่มีการแจ้งเตือน แล้วคนยากคนจนอย่างเราจะไปอยู่ที่ไหน"กิตติคุณ ปิยะนารานันท์ ชาวบ้านอีกรายหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงเดือดดาล

วันนี้บรรยากาศความหวาดกลัววิตกกังวลแผ่ซ่านภายในชุมชนวัดกัลยาณ์ ชาวบ้านนั่งจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันหน้าบ้าน บางคนถึงขั้นต้องลางานกลับมาด้วยความเป็นห่วง ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ถึงคิวตัวเอง ใครจะถูกไล่รื้อเป็นรายถัดไป บางคนถึงกับร้องไห้ออกมาอย่างไม่อาย เพราะยังไม่มีแผนการองรับใดๆทั้งสิ้น ป้ายประท้วงต่อต้านการกระทำของวัดถูกติดไว้ทั่วชุมชน สะท้อนความรู้สึกอันเจ็บปวดของชาวบ้านออกมาได้อย่างแจ่มชัด

"ผมอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 2510 ตอนนี้อยู่กับภรรยา ลูกๆหลานๆอีก 7 คน ถ้าต้องย้ายออกพรุ่งนี้ มะรืนนี้ ลูกที่ทำงาน หรือหลานที่กำลังเรียนกลางเทอมจะทำอย่างไร คนมีสตางค์เขามีเงินซื้อบ้านใหม่ บางคนมีญาติพี่น้องก็ยังพอไปขออาศัยชั่วคราวได้ แต่สำหรับคนไม่มีเงิน เขาคิดไม่ออกหรอก มันจนตรอกไปหมด"เกื้อกูล จุนาศัพท์ ชาวบ้านวัย 73 บอกเสียงสั่นเครือ

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" ชายฉกรรจ์สวมหมวกคลุมหน้ากำลังใช้ชะแลงงัดกุญแจ

นพเก้า ศีตะสุทธิพันธุ์ ชาวบ้านอีกราย มองว่า เหตุการณ์ไล่รื้อบ้านหลังแรกเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งเป็นบ้านของแกนนำต่อต้านการทุบทำลายโบราณสถานของวัดกัลยาณมิตร มีนัยสำคัญทำนองว่าอาจเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู"

"เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกได้ว่า ภัยมาถึงตัวแล้ว ถึงจะประกาศว่าจะไล่ที่แค่ 56 หลังจากทั้งหมด 230 หลังคาเรือน แต่ทุกคนกลัวว่า สุดท้ายไม่ว่ายังไงก็คงทยอยไล่จนหมด"

จากการสอบถามไปที่ทางวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัชรา พรหมเจริญ ประธานที่ปรึกษาวัดกัลยาณมิตร และอดีตผู้อำนวยการเขตธนบุรี เปิดเผยว่า การไล่รื้อเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยกรมบังคับคดีได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งตัดสินให้ทางวัดชนะคดีในชั้นศาลฎีกาเมื่อปลายปีที่แล้ว ขอยืนยันว่าไม่ได้มีแผนที่จะก่อสร้างใหม่ บ้านที่ถูกไล่รื้อเป็นเพราะบดบังทัศนียภาพของวัด

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวชุมชนวัดกัลยาณ์ ชัยสิทธิ์บอกว่า แผนการต่อไปคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าพยายามประสานกับทางวัด เจรจาขอให้หยุดไล่รื้อก่อน และยืดเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวตั้งหลักชีวิตต่อไป

"จนถึงตอนนี้ผมก็ยังยืนยันว่าวัดทำไม่ถูกต้อง ไร้เมตตาธรรมซึ่งพระสงฆ์ควรจะมี"

อนาคตของชาวบ้านชุมชนกัลยาณ์ช่างมืดมนและน่าเป็นห่วงยิ่ง

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" ชาวบ้านออกมามุงดูเหตุการณ์ด้วยสีหน้าวิตก หลายคนตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ แต่ไร้เหตุการณ์รุนแรง

 

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์" ป้ายประท้วงเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรถูกติดไว้ทั่วชุมชน

 

ลมหายใจสุดท้ายของ "ชุมชนวัดกัลยาณ์"