posttoday

ยธ.ลุยสางปัญหาชายแดนใต้หวังลดความรุนแรง

05 กันยายน 2558

ปัตตานี-"ยุติธรรม"ลุยแก้ความเหลื่อมล้ำ-ยาเสพติด-ที่ดิน-กระบวนการยุติธรรม -ความรุนแรงพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้

ปัตตานี-"ยุติธรรม"ลุยแก้ความเหลื่อมล้ำ-ยาเสพติด-ที่ดิน-กระบวนการยุติธรรม -ความรุนแรงพื้นที่ 3 จ.ชายแดนใต้

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. เวลา 10.00 น.ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานจัดงานสัมมา "เหลียวหลัง..แลหน้ายุติธรรมชุมชน เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร" โดยมีนายสัณฐาน รัตนะ ยุติธรรมจังหวัดปัตตานี, นายบัญชา หนูประเสริฐ ยุติธรรมจังหวัดยะลา, นายนพดล นมรักษ์ ยุติธรรมจังหวัดนราธิวาส, นายไพศาล รัตนไตร และนายดนยา สะแลแม ยุติธรรมชุมชนสายบุรี ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายเรื่องยุติธรรมจังหวัดและชุมชน โดยมีประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 500 คนร่วมฟังงานดังกล่าว

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า ตนเริ่มทำกิจกรรมภาคประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง ตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าว มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จึงได้ลงมาช่วยเหลือ และให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมได้อย่างทั่วถึง กระทั่ง ต่อมา ยธ. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา รวมถึงได้ขยายไปตามชุมชนต่างๆในแต่ละจังหวัดจนปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เข้าใจและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริงและยั่งยืนต่อไป

นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้จะมีการตั้งประเด็นการทำงานใหม่ โดยการทำงานในรูปแบบจิตอาสาและลดขนาดของภารกิจลงและทำความเข้าใจใหม่ เพื่อให้ยุติธรรมชุมชนพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างทันทวงที เพราะงานในพื้นที่เป็นความเชื่อใจและเชื่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้พบอุปสรรคที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือความล่าช้าของกระบวนการยุติธรรม เมื่อประชาชนมาร้องเรียนแล้วมักไม่ทราบผลว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นรัฐจะต้องทำความเข้าและต่องๆม่ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความสลับซับซ้อน ทั้งนี้ขอให้เชื่อมั่นว่าหากประชาชนมาร้องเรียนที่ศูนย์ยุติธรรมจะทราบผลได้ภายในระยะเวลารวดเร็ว

ด้าน นายดนยา กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีความคับข้องใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้ง ที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกหลายเรื่อง ทั้งนี้ เมื่อมีศูนย์ยุติธรรมจังหวัด และศูนย์ยุติธรรมชุมชนเข้ามาในพื้นที่ ทำให้มีประชาชนเดินทางเข้ามาร้องเรียนและขอความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆเพิ่มขึ้น เช่น ประชาชนบางรายถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงและไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเราในฐานะเป็นประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชน จึงได้ลงไปช่วยเหลือดูแล ทั้งในด้านคดีความ หรือข้อกฎหมาย เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนเริ่มรู้จักและเข้าใจว่าศูนย์ยุติธรรมชุมชนดีอย่างไร และสามารถช่วยเหลือประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้จริง

นายดนยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์ยุติธรรมฯ ยังได้มีการติดตั้งวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อใช้ในการประชุมทางไกลผ่านระบบดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ในการเชื่อมต่อสัญญาณกับเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และเรือนจำจังหวัดปัตตานี เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังมาใช้ติดต่อกับลูกหลานที่คุมขังอยู่ภายในเรือนจำ เพราะญาติส่วนใหญ่ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมบุตรหลานยังเรือนจำได้ เนื่องจากบางครอบครัวมีความยากจน และต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง จึงทำให้เกิดความลำบาก ทางศูนย์ยุติธรรมฯ จึงให้บริการวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารตามวันเวลาราชการ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะพวกเขาเห็นประโยชน์จากความจริงใจในการช่วยแก้ปัญหา

ด้าน นายนพดล กล่าวว่า ตนมองว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบรายละเอียดและไม่มีความรู้ว่าพวกเขาจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร และที่ไหน ซึ่งตนอยากให้หน่วยงานของรัฐที่มีความเดี่ยวข้องในเรื่องนี้ เข้ามาจัดอบรมให้กับผู้นำชุมชน เพื่อที่ผู้นำชุมชนหรือท้องถิ่นจะได้เข้าไปเผยแพร่ให้ประชาชนในชุมชนได้ทราบ ซึ่งเรื่องนี้คือปัญหา เพราะฉะนั้น หน่วยงานรัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้พวกเขาได้ถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้น ถ้าผู้นำชุมชนไม่ทราบ ไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมได้ ก็จะเป็นเรื่องยากที่กระบวนการนี่จะเข้าถึงประชาชน